ศธ.เตรียมเปิด ป.ตรีสายอาชีพ 19 สถาบันอาชีวะ รองรับตลาดแรงงาน
“สุชาติ” โปรยนโยบายการศึกษา 5 ด้าน โรงเรียนตำบลต้นแบบ ปริญญาตรีสายอาชีพ 150 ชม.ฝึกอาชีพชุมชน 3.4 แสนคน ฟิตภาษาอังกฤษเด็กไทยไม่ให้รั้งท้ายอาเซียน
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร ศธ.ว่าที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา ศธ.(พ.ศ. 2555-2558) ที่เพิ่มเติมการจัดการศึกษาครอบคลุมผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สำหรับยุทธศาสตร์การศึกษาปีงบประมาณ 2556 จะปรับปรุงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ.2555-2558 ภายใต้งบประมาณที่ได้รับปีนี้ 420,490,032,600 บาท โดยแยกเป็นงบบุคลากร 55.11 เปอร์เซ็นต์ งบอุดหนุน 30.83 เปอร์เซ็นต์ งบดำเนินงาน 6.78 เปอร์เซ็นต์ งบลงทุน 5.9 งบรายจ่ายอื่น 1.38 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ตนยังได้เน้นแนวทางสำคัญ ดังนี้ 1.พัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยให้มีโรงเรียนคุณภาพต้นแบบระดับสากล อำเภอ ตำบล 1,000 โรง และการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก 5,816 โรง โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้การจัดการเรียนการสอนวิทย์-คณิตฯอย่างมีคุณภาพ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ทำการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่จะนำร่องปี 57 และประกาศใช้ปี 58 สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ องค์การมหาชน (สทศ.) ให้ทำการทดสอบระดับชาติที่โปร่งใส ทั้ง 8 รูปแบบ คือ โอเน็ต (ขั้นพื้นฐาน) I-NET (อิสลามศึกษา) N-NET (กศน.) V-NET (อาชีวศึกษา) U-NET (อุดมศึกษา) GAT (ความถนัดทั่วไป) PAT(ความถนัดทางวิชาการวิชาชีพ) U-DAT (7วิชาสามัญ รองรับระบบรับตรง)
2.จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้มีการสร้างนักศึกษาให้เป็นมืออาชีพร่วมกับสถานประกอบการทั้งระบบทวิภาคี 231 แห่ง โรงเรียนโรงงาน 5 แห่ง โดยส่งนักศึกษาไปฝึกงาน ให้มีการสนับสนุนการจัดการศึกษาปริญญาตรีสายอาชีพใน 19 สถาบันการอาชีวศึกษา ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่จัดทำหลักสูตร 100-150 ชั่วโมง ดำเนินการในปี 55-58 รวม 3.4 แสนคน ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตั้งกองทุนตั้งตัวได้ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำปฏิทินชีวิตที่ ศธ.มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษา 5 ช่วงวัย คือปฐมวัย 0-6 ปี วัยเรียนรู้พื้นฐาน 6-14 ปี วัยรุ่น 15-24 ปี วัยทำงาน 5-60 ปี วัยหลังเกษียณ 60 ปีขึ้นไป
3.ปฏิรูปครูสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยทำการประเมินวิทยฐานะครู และการสอบผู้บริหารสถานศึกษา เน้นโปร่งใส ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พัฒนาคุณภาพชีวิตครู เน้นให้ครูที่เป็นหนี้เข้าวัดปฏิบัติธรรม เพื่อให้คิดเป็นทำเป็นปรับโครงสร้างจิตใจ ลดรายจ่าย ให้คุรุสภาออกใบประกอบวิชาชีพครู โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ชาวต่างประเทศเข้ามาสอนภาษาอังกฤษได้มากขึ้น
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ยังได้มอบให้ กศน.จัดการศึกษาสำหรับผู้ไม่จบ ม.6 ให้จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ใน 2 แนวทางคือ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา และปรับปรุงการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน สต.สป. หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ซึ่งมีถึง 50 อำเภอที่ไม่มีผู้สมัครเพราะขาดคุณสมบัติคือเกรด 3.0 ขึ้นไปและครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี จึงให้ขยายการคัดเลือกให้ครบภายใน 9 มี.ค. โดยให้พิจารณาถึงผู้ที่เรียนเก่งแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกทุนให้ได้รับโอกาส
5.เพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยให้สพฐ.สอนภาษาอังกฤษให้มีคุณภาพ เน้นเพื่อการสื่อสาร เพิ่มจำนวนครูหรืออาสาสมัครต่างประเทศที่เป็น Native Speaker และปรับปรุงเกณฑ์ใบประกอบวิชาชีพชั่วคราวให้ครูต่างชาติที่จบปริญญาตรี 2 ปี ส่วนอาสาสมัครหรือแบ๊คแพ็คจะสนับสนุนให้เป็นผู้สอนชั่วคราว โดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้สะดวกขึ้น ส่วน สพฐ.ต้องสนับสนุนงบประมาณโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะเปลี่ยนอนาคตเด็กยุคนี้ได้มหาศาล ไม่ใช่เป็นประเทศรั้งท้ายอาเซียนในการใช้ภาษาอังกฤษ .