“เอ็นนู” ซัด ธกส.เป็นเครื่องมือประชานิยมการเมือง ปล่อยกู้สร้างหนี้ชาวบ้าน
“เอ็นนู” วิพากษ์ประชานิยมรัฐบาลสร้างหนี้ชาวบ้าน-ทุจริตง่าย หวั่นกู้ไร้เหตุผลเศรษฐกิจประเทศล่มเหมือนกรีซ ชุมชนโชว์ต้นแบบการเงินรากหญ้าที่ศรีฐาน-ป่าคอก คลองเปียะ แก้หนี้นอกระบบ
วันที่ 1 มี.ค. 55 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย มีการเสวนา “สถาบันการเงินชุมชนคือเครื่องมือจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่าการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นจุดเริ่มต้นฝึกฝนให้ประชาชนรู้จักออม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ ถือเป็นองค์กรทางการเงินที่เกิดจากการบริหารจัดการของชุมชนแบบกระจายอำนาจ ไม่ผูกขาดที่ศูนย์กลาง ไม่ต้องพึ่งนโยบายประชานิยมรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ประชาชนกู้เงิน โดยเฉพาะนโยบายพักชำระหนี้แก่เกษตรกรซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินภาคประชาชนมาก นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์ของประชาชนยังตรวจสอบกันเองได้ ไม่เหมือน สถาบันการเงินระดับชาติภายใต้การบริหารของรัฐมนตรียากแก่การตรวจสอบการทุจริต ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้ชาวบ้านออมผ่านแหล่งฝากเงินชุมชน โดย 1.สร้างแผนดำเนินการเงินชุมชน 2.สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชาวบ้าน 3.อยู่ในกรอบของวิถีชีวิตท้องถิ่น
“เราต้องให้ชุมชนเรียนรู้การจัดการการเงินโดยใช้กลุ่มออมทรัพย์ฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน เป็นแหล่งออม ซึ่งยังช่วยป้องกันหนี้นอกระบบซึ่งไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถจัดการได้จริงจัง”
นายเอ็นนู กล่าวต่อว่า ยังวิพากษ์ว่าหากรัฐบาลไทยยังตัดสินใจกู้เงินโดยไม่มีเหตุผลที่เพียงพอเช่นปัจจุบัน เศรษฐกิจประเทศอาจล่มได้เช่นเดียวกับกรีซและประเทศแถบยุโรป นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันระบบทุนและการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงาน เน้นการปล่อยกู้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยขาดหลักการบริหารเงินที่สอดคล้องกับท้องถิ่น หากรัฐบาลที่เข้านั่งในบอร์ดบริหารธนาคารสั่งการโดยไร้เหตุผล ไม่นาน ธ.ก.ส.คงวิกฤตเช่นเดียวกับธนาคารหลายแห่ง
ด้านรศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซุซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าชาวบ้านต้องนำหลักสัจจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสถาบันการเงินชุมชนให้ประสบความสำเร็จ และจำเป็นต้องมีกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการออมบนฐานเงินจริง ซึ่งนอกจากสร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ตนเอง ยังป้องกันหนี้นอกระบบโดยไม่จำเป็นต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะอนาคตหากรัฐบาลยังกู้เงินมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการเงินของประเทศ
นายอัมพร ด้วงปาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีตัวอย่างกลุ่มออมทรัพย์ฯ ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่าจัดตั้งขิ้นแก้ปัญหาการเงินแก่ประชาชนในชุมชน มีโครงการมากมายที่สร้างความมั่นคงแก่ชาวบ้าน เช่น กองทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงการบัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง) หรือโครงการเงินบำนาญแก่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ จึงสนับสนุนให้ทุกชุมชนบริหารจัดการเงินด้วยตนเอง ชาวบ้านจะไม่จนแน่นอน
นายจิรศักดิ์ ท่อทิพย์ ประธานกลุ่มมัสยิดสัมพันธ์ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่ว่า เริ่มจากการศึกษาปัญหาที่ชาวบ้านเป็นหนี้นอกระบบ จนถูกนายทุนยึดที่ดินทำกิน จึงนำหลักศาสนาเข้ามาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตตั้งสถาบันการเงินขึ้นมา ปัจจุบันมีเงินสะสม 40 ล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กองทุนแก่ผู้เสียชีวิต ดอกผลที่ได้ยังส่งเยาวชนไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับมาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของบ้านเกิด
นายนคร ไชยงาม ประธานสถาบันการเงินตำบลศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร กล่าวว่า สถาบันการเงินของชุมชนต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้าน ระยะแรกชาวบ้านยังไม่เชื่อมั่นว่าชุมชนตนเองจะทำได้ แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.ในการจัดตั้งธนาคารชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา ปัจจุบันยังมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ กองทุนรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือกองทุนฌาปนกิจ .