“ยั่งยืน คือ ต้องมีมากพอ”
“ทะเลคือแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของโลก พิทักษ์ทะเลคือการรักษาแหล่งอาหาร”
ความหมายของ “ทะเล” หรือ “โลกสีคราม” ในความรู้สึกของใครหลายคนอาจแตกต่างกันไปตามมุมมองและประสบการณ์ หากสำหรับ บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้เป็นแกนนำในการคัดค้านการทำประมงเชิงพาณิชย์ที่มีส่วนทำร้ายทะเลไทย เพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรทางทะเลให้คืนกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มุมมองที่มีต่อทะเลยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน นั่นคือการเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ต้องมีมากพอและเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นนับจากวันแรกที่เข้ามาทำงานจนถึงวันนี้ลูกชาวสวนผู้ผูกพันกับทะเลจึงยังไม่อาจหยุดสานต่องานพัฒนาประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนมุ่งรักษาสภาพแวดล้อม ยืดอายุสัตว์น้ำให้ทุกคนมีสิทธิได้กินอาหารทะเล เพื่อท้ายที่สุดจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ 17 SDGs หมายเลข 14 “LIFE BELOW WATER” ซึ่งก็คือการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
นิยาม...ทะเลยั่งยืน
คำจำกัดความคำว่ายั่งยืนคือต้องมีมากพอ เข้าถึงง่าย ถ้าเป็นเรื่องทะเล ก็ต้องมีพันธุ์สัตว์น้ำมากพอ เข้าถึงง่ายคือไม่ต้องควักสตางค์ไปซื้อ คนจนไม่มีสตางค์ รวมถึงคนอยู่เชียงใหม่ก็ควรจะมีโอกาสได้กินปลาในราคาที่ไม่แพงนัก เพราะถ้าอุดมสมบูรณ์มากพอเราก็ส่งไปถึงได้ และคนอยู่ชายฝั่งเองก็ไม่อดไม่ใช่ต้องกินปลากระป๋อง ทั้งๆ ที่เสาบ้านแช่อยู่ในน้ำทะเลหรืออยู่ริมคลอง นี่คือความยั่งยืนในเรื่องทะเลและสัตว์น้ำ
ผมคลุกคลีอยู่กับงานพัฒนาทะเลไทยมาตั้งแต่จบ ม.สงขลานครินทร์ พ.ศ. 2524 ตอนนั้นเราเห็นว่าอาหารทะเลยังมีเยอะมาก หอยหวานที่ปัจจุบันเราเห็นเขามาขายในกรุงเทพฯ จานละ100-200 บาท เมื่อก่อนมันติดอวนลากเล็กมาเยอะจนเขาเอามาตำแล้วโยนให้เป็ดกิน แต่ในระหว่างทำงานตลอดมากว่า 30 ปีนี้เราเห็นมันแย่ลง อาหารทะเลมีน้อยลง ก็กระทบกับอาชีพคนที่ทำมาหากินกับประมงชายฝั่งซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมทำงานด้วย คือพวกชุมชนดั้งเดิมที่มีอาชีพทำประมงในพื้นที่ชายฝั่งมีประมาณ 22 จังหวัดตั้งแต่ตราดไปจนถึงนราธิวาส ระนอง ไปถึงสตูล
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ บรรจง นะแส ยังคงทำงานสายอนุรักษ์และพัฒนาทะเลไทยมาโดยตลอดอย่างไม่ยอมทอดทิ้งกันไปไหน ส่วนอีกปัจจัยหลักนั้นเห็นจะเป็นอุดมการณ์แรงกล้าและสายเลือดนักพัฒนาที่ปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นอี
“ความตั้งใจที่อยากจะทำสิ่งดีๆ ที่จริงก็เป็นมาตั้งแต่ในครอบครัวนะ ก๋งผมมาจากจีน แซ่นะ เตี่ยผมเป็นลูกชายคนเดียวก็รับวิธีคิดมา ตั้งแต่เราโตมาก็เห็นเรื่องการพัฒนาในหมู่บ้านมาตลอด เตี่ยจะมีทีมทำงาน เดี๋ยวตัดถนน เดี๋ยวทำศาลา มีที่ดินว่างหน้าบ้านแม่ก็ยกให้ทำห้องสมุดใหญ่กว่าบ้านผมอีกนะ บางทีเตี่ยก็หายไปสามเดือนไปตะลอนสร้างโรงเรียนให้ชุมชน แม่มีหน้าที่เอาข้าวไปส่ง ผมมาวิเคราะห์ตอนหลังนะว่าทำไมเตี่ยเราไม่ดิ้นรนอะไรเลย ก็ไม่รู้จะดิ้นรนไปไหน สำหรับผมเองรู้สึกว่าการทำงานให้ส่วนรวมมันมีมิติของความร่าเริง สนุกสนาน มีความสุข มีเพื่อนฝูงดี ไปอยู่ต่างจังหวัดก็อยู่ได้เป็นเดือน เพราะมี พรรคพวก ไม่ต้องหวังร่ำรวยมาก เมื่อก่อนเราคิดว่าเราต้องมีเงินในแบงค์เยอะๆ ถึงมั่นคง แต่ความมั่นคงอีกแบบที่คนไม่ค่อยได้สัมผัสคือความมั่นคงของการมีกัลยาณมิตรมันสนุกกว่า”
จากลูกชายสวนยางสู่นักสู้แห่งท้องทะเล
ผมเป็นลูกชาวสวนยาง แต่ก็ผูกพันกับทะเล เพราะอยู่ในหมู่บ้านที่เป็นทางผ่านของชุมชนประมง ที่ปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เรามีตลาดนัดวันอาทิตย์ที่ตลาด บ้านทุ่งหวัง และคุณตาเป็นคนที่ในชุมชนยอมรับ ก็จะมีเพื่อนชาวประมงจากชุมชนมุสลิมหาบปลามาแวะบ้านเรา ทำให้เราได้เห็นวิถีชาวประมง และธรรมเนียมของมุสลิม เวลาป๊ะมาก็จะมีของฝาก บางทีมีปู มีพวกหอยสวยๆ ใหม่ๆ พอถึงวันอาทิตย์เราก็รอเดี๋ยวป๊ะจะมีอะไรฝากเรา จะได้กินของทะเลสดๆ
พอเข้ามหาวิทยาลัย เราชอบทำกิจกรรมตอนไปรับน้องที่ปากบางนาทับ วันนั้นฝนตกลมแรง ตอนที่เราพารุ่นน้องข้ามไปฝั่งโน้นเป็นร้อยคน ชาวบ้านก็ออกมาช่วย เอาเรือมาเป็นร้อยลำเลยเพื่อพาน้องๆ กลับมานอนที่โรงเรียนได้ภาพนั้นมันฝังหัวอยู่ว่าชาวบ้านเขามีนำใจมาช่วยกันเยอะจัง จึงมีความคิดเรื่องงานอยากทำงานเพื่อสังคม และช่วงนั้นยังได้เจอกลุ่มเอ็นจีโอ (NGO) คุณบำรุง บุญปัญญา ลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ตอนนั้นเริ่มก่อตั้งเอ็นจีโอในเมืองไทย (มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ชัยนาท) ผมมีโอกาสได้ไปฝึกงาน ก็เลยยิ่งสนใจงานพัฒนาชนบท จนเรียนจบในสามปีครึ่งก็เริ่มเข้าหางานเอ็นจีโอทำเพราะโดยส่วนตัวไม่อยากรับราชการ แต่ถูกคาดหวังจากพ่อแม่ คุณตา เราก็ต้องหาทางเลี่ยง ตอนนั้นมหาวิทยาลัยอยากตั้งคณะประมง เรียกว่าภาควิชาวาริชศาสตร์ (ปัจจุบันอยู่ในคณะทรัพยากรธรรมชาติ) จึงเปิดรับสมัครนักศึกษา 7-8 คน ลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ ผมก็สมัครเลย ออกจากบ้านไปทำงานวิจัยอยู่ที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง
เรียกได้ว่าจากจุดเริ่มต้นสมัยยังเป็นนักศึกษา จนจบการศึกษาด้านรัฐประศาสนาศาสตร์บัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) จากคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พ.ศ. 2524 รวมไปถึงปริญญาโทคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน พ.ศ. 2541 ก็เดินหน้าทำงานสายพัฒนาตามอุดมการณ์และไฟฝันมาโดยตลอดต่อเนื่องถึงวันนี้เริ่มจากเป็นเจ้าหน้าที่สนามโครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา (พ.ศ. 2528 - พ.ศ.2539) ขยับไปเป็นผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุมชนประมงขนาดเล็ก จ.สงขลา (มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาชุมชน) ในช่วง พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2547
กลุ่มที่ผมทำงานด้วยเป็นเรื่องประมงชายฝั่ง เนื่องจากเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลยิ่งแย่ลง ทรัพยากรชายฝั่งเริ่มหมด หน้าบ้านตัวเองเริ่มไม่มีปลาแล้วต้องออกไปทำงานนอกชุมชน ต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำงานก่อสร้าง ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ด้วยความที่เราอยากแก้ปัญหา ก็เลยเขียนโปรเจ็กต์ขอแหล่งเงินทุนที่มีตามที่เอ็นจีโอแนะนำ และขยายพื้นที่ไป แทนที่จะทำเพียงจุดเดียว ถือเป็นเอ็นจีโอแห่งแรกที่ทำงานให้ภาคใต้เพราะเมื่อก่อนงานพัฒนาส่วนมากจะไปอยู่ที่ภาคอีสาน
ผมมองว่าปัญหามี 3-4 ระดับ เริ่มทำการบ้าน ศึกษาเรื่องกฎหมายประมง กี่เรื่องที่เป็นปัญหากฎหมายไม่เอื้ออย่างไร ทำไมตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ไม่เคยแก้ไขเลยมีทั้งปัญหาระดับนโยบาย ปัญหาเรื่องเครื่องมือทำลายล้าง อวนรุน อวนลากเรือปั่นไฟ ที่เข้ามาทำการประมงในพื้นที่ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งหมดไป เริ่มเห็นปัญหาที่โยงกับภาคเอกชนที่ทำธุรกิจอาหารสัตว์รับซื้อปลาป่น รวมทั้งความอ่อนแอของระดับชุมชนที่จะต้องบริหารจัดการ เพราะในชุมชนมีพ่อค้าผูกขาดแพปลา โรงน้ำแข็ง ต้องเป็นหนี้เถ้าแก่ในหมู่บ้าน เริ่มเห็นวงจรของวิถีชาวประมงว่าไม่มีทางหลุดจากนี้ได้ถ้าไม่ช่วยเขาใน 2-3 เรื่องที่ว่า นำไปสู่การวางเป้าหมายว่าควรจัดการอย่างไรในแต่ละเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าต้องให้ชาวบ้านมีปากเสียง มีที่ยืนก็เลยคิดเรื่องการวางเครือข่าย จัดตั้งชมรมชาวประมงจากกลุ่มชาวบ้านหลายจังหวัดเป็นสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการให้การศึกษา พาเขาไปดูงาน จัดเวทีสัมมนา เชิญนักกฎหมายมาพูด เขาก็เติบโต จนวันนี้เป็นสปีกเกอร์เอง พูดแทน ส.ส.ได้ เถียงกับรัฐมนตรีได้เอง โดยตอนนี้เรามี 22 สมาคม และเริ่มขยายมาทางภาคตะวันออกแล้ว
นอกจากปัจจุบันจะมีตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการการจัดการทรัพยากรชายฝั่งภาคใต้ (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยแล้ว บทบาทสำคัญของ บรรจง นะแส คือเป็นแกนนำยึดเหนี่ยวกลุ่มชาวประมงชายฝั่งให้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง
“ยิ่งทำยิ่งเห็นปัญหาชัด ก็ยิ่งขยายงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้ทันมันเรื่อยๆ ว่าเพราะอะไร อย่างเรื่องปากท้องในชุมชนเราเริ่มเห็นชัดว่าดีขึ้น ด้วยความที่เราแข็งพอ ก็จัดการเรื่องดูแลเขตหน้าบ้าน ทำจนทะเลเริ่มฟื้น แล้วยังเติมเรื่องบ้านปลา ธนาคารปู ปลูกป่าชายเลน พอมันเริ่มดีขึ้น พวกคนที่ไปทำก่อสร้างก็เริ่มกลับมาทำประมง ก็ขยายไอเดียนี้ไปยังเครือข่ายที่เรามีอยู่นี่คือเรื่องงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลเพื่อปากท้อง แต่ในส่วนของอุปสรรคที่เกี่ยวกับเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างซึ่งมีอยู่สามตัว เรืออวนรุน เรืออวนลาก เรือปั่นไฟ เราก็รณรงค์เรื่องนี้หยุดอวนรุนไปตัวหนึ่งแล้ว โดยทำให้เป็นเครื่องมือผิดกฎหมายเหลืออีกสองตัวที่ยังต้องสู้ต่อไปคือ เรืออวนลากกับเรือปั่นไฟที่มีไฟเอาไว้จับปลากะตักตอนกลางคืน พออวนถูกลากขึ้นมาก็จะติดลูกปลาอีกจำนวนมาก ที่เห็นได้ชัดหนึ่งในนั้นคือลูกปลาทูตัวเล็กๆ ถูกกวาดจับขึ้นมาต้มตากขายกันกิโลละ 100 บาท (ทั้งที่ถ้าปล่อยให้โตจะมีมูลค่ากว่า 8,000 บาท) ตรงนี้ถือเป็นการทำลายล้างมากเลย ก็ต้องสู้ต่อไป"
ส่วนภาคธุรกิจอาหารสัตว์ที่รับซื้อปลาป่นไปเป็นอาหารกุ้ง เราก็ต้องให้การศึกษากับสาธารณชน เอางานวิจัยมายืนยัน เพราะตัวชี้ขาดไม่ใช่ชาวประมงแต่ต้องให้คนกินปลาในสังคมเข้าใจว่า ทะเลเป็นแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติที่สำคัญ ถึงใครจะทำธุรกิจ จะรวยเท่าไรก็ได้ แต่คุณไม่มีสิทธิมาทำลายแหล่งอาหารโปรตีนของคนส่วนใหญ่
ยุทธวิธีของคนรักษ์ทะเล
ก่อนหน้านี้หากใครติดตามข่าวสิ่งแวดล้อมจะเห็นการเรียกร้องเป็นระยะๆ จากนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ขอให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์เลิกซื้อปลาป่นจากเรืออวนลากเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (Feed) เพราะผู้ได้รับผลกระทบคือเกษตรกรอิสระอย่างชาวประมงและคนกินปลา
การต่อสู้ครั้งนี้มีความสำคัญมากต่อผู้ชายลูกทะเลคนนี้ ที่ชื่อ บรรจง นะแส เขาวางยุทธวิธีเพื่อที่จะให้เป้าหมายการอนุรักษ์ทะเลบรรลุผล ซึ่งมองว่าเรื่องนี้จะสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นที่มาของการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง...อย่างเข้มข้น โดยพุ่งเป้าหมายไปที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของการคุยกับภาคเอกชนที่เป็นตัวหลักเกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ ผมก็ต้องเตรียมยุทธวิธีในการรณรงค์ เคยยื่นข้อเสนอไปกี่ครั้ง ก็เงียบหาย เลยคิดว่าคงต้องสื่อสารกันให้เข้าใจ จึงบุกไปเจรจาที่หน้าตึกซีพีทาวเวอร์ สีลม ทำการบ้านมาเรียบร้อยว่าถ้าเอาปลาไปเทที่หน้าตึกจะมีความผิดกี่กระทง (ยิ้ม)
ต่อมาได้เจรจากับ คุณศุภชัยเจียรวนนท์ ตอนเจอกันครั้งแรก แทบจะปาแก้วใส่กัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลไม่ตรงกัน จนเจอกันครั้งที่สองถึงโอเคยอมรับในข้อมูล เอาความจริงมาพูดกัน พอคุยเสร็จคุณศุภชัยรับปากผม โดยขอ 2 เรื่อง หนึ่งคือทางซีพีจะตั้งหน่วยฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน และให้พื้นที่สมาคมอนุรักษ์ทะเลไทยเป็นที่ศึกษาดูงานฝึกสำหรับเจ้าหน้าที่ซีพี
“เรื่องที่สองคุณศุภชัยก็ประกาศเรื่องจะฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ทำตามมา ออกประกาศฉบับหนึ่งแจ้งการเลิกซื้อปลาป่น By Catch จากอวนลาก อวนรุน แต่จะรับซื้อแบบ By Products ซึ่งเป็นการรับต่อเนื่องมาจากโรงงานปลากระป๋อง โรงงานลูกชิ้น หรือไม่ก็ต้องนำเข้าจากประเทศ ซึ่งผมถือว่าเป็นความกล้าหาญมาก เพราะรู้ว่าปลาป่นในประเทศราคาถูกกว่านำเข้า ผลที่เกิดขึ้นคือทางซีพีอาจจะต้องขาดทุนพอสมควร
ในเมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์มีเป้าหมายจะฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน ก็ต้องให้เครดิต และผมก็ช่วยทำการบ้านให้ด้วยการทำโรดแม็พ คุณต้องทำอย่างน้อย 4 เรื่อง หนึ่งเรื่องนโยบาย เพราะต้องไปมีบทบาทในประชารัฐ สองคืองานชุมชน เรื่องที่สามคือผลักดันงานวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ เพราะว่าคนสมัยนี้ต้องเล่นกันด้วยข้อมูล และข้อเท็จจริง ถ้ารัฐไม่เชื่อว่าอวนลากทำลายทรัพยากรอย่างไรก็ทำวิจัยเลย แล้วหงายให้สาธารณะรู้ว่านี่คือวิธีที่เราจะฟื้นทะเลไทย และเรื่องสุดท้ายคือ สื่อสาธารณะขอให้ใช้สื่อในมือที่ซีพีมีอยู่ให้เป็นประโยชน์
แน่นอนว่าโรดแม็พนี้เป็นแผนงานชุดเดียวกับที่สมาคมใช้งานอยู่ ด้วยความเชื่อมั่นว่าภารกิจหลักทั้ง 4 ประการนี้จะผลักดันให้การฟื้นฟูทะเลไทยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงๆ “หน้าที่ของเราก็คือรณรงค์ให้รัฐบาลเข้าใจว่านี่คือปัญหานะ นอกจากทำให้ทะเลไทยไม่ยั่งยืนแล้ว ธุรกิจเราที่อยู่ก็จะกระทบกันไปด้วย อันที่สองก็คือว่าทำให้คนกินปลาตื่นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะกดดัน เพราะอย่าลืมว่าบ้านเรา ธุรกิจประมงก็มีอำนาจเหนือรัฐอยู่ตั้งนานแล้ว ต้องสื่อสารให้คนรับรู้ว่าทะเลคือแหล่งโปรตีนธรรมชาติที่สำคัญที่เข้าถึงง่าย คนจนก็มีสิทธิกินปลา แต่ทุกวันนี้ซีฟู้ดกลายเป็นอาหารไฮโซไปแล้ว จึงต้องวางแผนรณรงค์ให้คนเห็นว่าสังคมมองปัญหาทะเลว่าไม่มีความหวัง แต่เราพิสูจน์ให้คุณเห็นว่าทำไมมันฟื้นขึ้นมาได้ต้องสื่อสารให้คนเห็นความสำคัญของการได้กินปลา ให้เขารู้สึกว่าทะเลยังมีความหวัง"
จนถึงวันนี้เราบรรลุความตั้งใจแล้ว เราสร้างเพจ ‘รวมพลคนกินปลา’ มีคนเกือบแสนแล้วที่เป็นสมาชิกที่รับรู้เรื่องนี้คนบริโภคกลัวฟอร์มาลิน เราก็ให้ความรู้ เปิดร้านคนจับปลามีทางเลือกเป็นตลาดพรีเมี่ยม การันตีว่าจะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจซื้อแล้วผมก็ขายปูไปถึงขอนแก่น ไปถึงเชียงใหม่ได้และจัดอีเวนต์คนกินปลาปีละ 1-2 ครั้ง แล้วก็เริ่มขยับขยายออกไป
ถ้าจะทำดี ต้องไม่มีคำว่ากลัว
การทำงานที่นำไปสู่การขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กับหลายฝ่ายนั้นย่อมมีความสุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย หากแต่กำลังใจสำคัญที่ทำให้ไม่เคยท้อถอยไม่ว่าจะเจออุปสรรคหนักหนาเพียงใด แม้แต่เคยถูกขู่เอาชีวิต ถูกจับกุมก็โดนมาแล้ว
“คุณตาผมบอกว่าความกลัวทำให้เสื่อม จะทำให้เราไม่กล้าทำในสิ่งที่เราอยากทำตั้งหลายเรื่อง ทุกคนมีความกลัวอยู่แล้วแต่ว่าผมสังเกตดูคนที่กลัวนี่คือคนที่ไม่ได้อยู่ในปัญหา ทำไมตอนชุมนุมมีระเบิดผมอยู่ได้ทุกคืน แต่คนที่นอนที่บ้านสะดุ้งนอนไม่หลับ เพราะถ้าเราอยู่ท่ามกลางปัญหาเราจะไม่กลัว และการที่เราอยู่ใกล้ชิดปัญหา มันจะถูกเปรียบเทียบว่าคนที่เดือดร้อนกว่าเรายังมีอยู่ จะมีความอบอุ่น มีเพื่อนร่วมทุกข์ ประเด็นที่สอง จุดหมายชีวิตมันก็ถูกตั้งคำถามตอนเราสนใจเรื่องศาสนา สนใจมิติว่าชีวิตมันไม่มีอะไรมากและถูกฝังหัวตอนเรียนมหาวิทยาลัยด้วยว่าเราน่าจะตอบแทนอะไรสังคม ปัญหาสังคมบ้านเรามันต้องแก้ไขนะ แต่ว่าเราทำไม่ได้ทุกเรื่อง ก็เอาเรื่องทะเลนี่แหละให้ชัด ถ้าเราตายไป คุณก็มาพิสูจน์สิว่าเรื่องที่มันเป็นปัญหามันจริงหรือไม่จริงแล้วถ้าสังคมรู้มากขึ้น ราชการก็ต้องแก้ไขปัญหานี้ พี่น้องที่ทำธุรกิจประมงอวนลาก อวนรุน เขาก็มีสิทธิโกรธผมอยู่แล้ว ก็ต้องแฟร์ๆ อันนี้มองแบบพระว่าเราก็ต้องมีเมตตาต่อกัน ต้องเข้าใจ ถ้าเขาจะยิง เราก็ต้องเข้าใจ อภัยเขาได้ก็ต้องเข้าใจเหตุปัจจัยที่เขาโกรธ”
เป้าหมายระยะยาว...ทะเลยั่งยืน คนอิ่มท้อง
"ผมมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเห็นลูกหลานที่อยู่เชียงรายหรือแม่ฮ่องสอนได้กินกุ้งกินปูสักสัปดาห์ละครั้ง อยากเห็นสังคมไทยมีอาหารทะเลที่บริโภคพอในประเทศ แล้วทุกคนเข้าถึงได้แม้จะอยู่ไกล โดยไม่ควรมีราคาสูงเกินไป เพราะบ้านเรามีทะเลถึงสองฝั่งทั้งอันดามันและอ่าวไทยยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร มีพี่น้องที่สามารถจับปลาให้คุณกินได้ มีทักษะมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มีเกือบสองล้านครอบครัวที่เป็นประมงชายฝั่ง ซึ่งเราก็เคยพิสูจน์แล้วว่าอาหารทะเลของเราถึงขั้นส่งออกได้ แล้วอยู่ๆ มันหายไป เพราะรัฐบาลละเลยต่อนโยบายการฟื้นฟูทะเลไทยมายาวนาน ปล่อยให้กลุ่มธุรกิจประมงอวนลากธุรกิจอาหารสัตว์ มีบทบาทในการถลุงทะเลเอาทะเลไปเป็นแค่แหล่งวัตถุดิบ เพราะฉะนั้นต้องลุกขึ้นมาโวย และถ้าทะเลไทยมีความยั่งยืน แน่นอนว่า หนึ่งเราจะมีความมั่นคงทางอาหารทะเล มีอาหารโปรตีนที่มาจากธรรมชาติให้กินไปได้ถึงลูกถึงหลาน และทะเลก็จะเป็นแหล่งอาชีพสำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง ถามว่าโรงงานหรือกรมอุตสาหกรรมที่ไหนจะรองรับคนได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี ทั้งพ่อค้ารายย่อยที่ขายปลา ห้องเย็นธุรกิจท่องเที่ยว จะมาเป็นชุดเลย แค่ทะเลสมบูรณ์อย่างเดียว ซึ่งผมเชื่อว่าทะเลไทยยังมีความหวังอยู่ไม่อย่างนั้นป่านนี้คงเลิกทำงานไปแล้วล่ะ (ยิ้ม)”
DID YOU KNOW
ประมงชายฝั่ง (Inshore Fisheries) หรือประมงพื้นบ้าน (Artisanal Fisheries) คือการทำประมงเพื่อยังชีพ โดยทั่วไปใช้เรือขนาดเล็ก เช่น เรือพื้นบ้าน ปริมาณการจับสัตว์น้ำคิดเป็น 10% จากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงทะเลทั้งหมดขณะที่ การประมงพาณิชย์ (Commercial Fisheries) ประกอบด้วย “ประมงน้ำลึก” (Deep Sea Fisheries) จับปลาในระยะห่างจากฝั่งแต่ไม่เกินระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และ “ประมงสากล” (Distant Water Fisheries) คือการจับปลาในมหาสมุทรเป็นระยะทางไกลจากท่าเรือของประเทศนั้นๆ
SHOULD KNOW
พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2490 เป็นกฎหมายประมงฉบับที่บังคับใช้มาอยู่ในปัจจุบัน และยังไม่มีการแก้ไข ทั้งที่เทคโนโลยีการประมงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น ห้ามทำประมงในเขต 3,000 เมตร จากฝั่ง การห้ามมีอวนลาก อวนรุน และการกำหนดขนาดของตาอวน เป็นต้น
FAST FACT
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ทำหนังสือถึงสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ยกเลิกการซื้อปลาป่นจากผู้จำหน่ายที่น่าสงสัยว่าได้สินค้ามาจากเรือประมง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือการใช้แรงงานทาส โดยมีเงื่อนไขว่าจะรับซื้อเฉพาะปลาป่นที่ได้รับการตรวจสอบจากกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ทั้งแรงงานบนเรือประมง และแรงงานในโรงงานปลาป่น อีกทั้งต้องมีการรับรองระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผู้ผลิตปลาป่นภายใต้ระเบียบ NON-IUU (NON-Illegal, Unreported and Unregulated) ของกรมประมง
FAST FACT
“ประชากรโลก 2.6 พันล้านคน ต้องพึ่งพาอาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ”
ที่มา www.globalgiving.org