วิเคราะห์ระบบคิดสมัยใหม่ อะไรคือเป้าหมายการก่อการร้าย
"เป็นวิธีการคิดที่ผิดมากที่เราคิดว่าการเอาระเบิดไปโยนใส่กลุ่มก่อการร้ายหรือเอาปืนไปสู้ซึ่งพวกเขาพร้อมจะเอาระเบิดพันตัวเองยอมตายแบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาได้หรือคุณคิดว่าคนที่เอาระเบิดพันตัวเขาไม่รู้ตัวหรือว่าการทำแบบนั้นเขาจะตายเขารู้ว่าจะต้องตายดังนั้นการเอาปืนไปยิงเขา จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา"
หากใครได้ติดตามข่าวคราวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา คงต้องผ่านตาเรื่องการก่อการร้าย นับตั้งแต่เหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างระเบิดในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ที่ดูเหมือนจะเกิดบ่อยจนบางทีเราเผลอเคยชิน หรือจะขยับมาใกล้บ้านอย่างเหตุการณ์ในมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ เหตุระเบิดสองครั้งในกรุงจาร์กาตาร์ ประเทสอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฏ ใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีการสันนิฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
แต่ไม่ว่าจะเหตุการณ์ไหนๆ ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียโดยเฉพาะชีวิต และที่มากกว่านั้นคือ การสร้างความหวาดกลัวให้กระจายไปทั่วสังคม
อะไรที่เป็นปัจจัยจูงใจให้มีการก่อเหตุเช่นนั้น ดูเหมือนจะซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจโดยง่าย แต่อยากชวนคุณผู้อ่านมาลองวิเคราะห์ ถอดรื้อระบบคิด ถึงเป้าหมายพื้นฐานที่กลุ่มก่อการเลือกจะใช้ความรุนแรงแบบนั้น ไปกับ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิขาการอิสระด้าน Critical Terrorism
กฤดิกร มองว่า ความสำคัญอย่างหนึ่งของเป้าหมายในการก่อการร้ายในยุคใหม่ น่าจะเริ่มต้นจากการเกิดขึ้นของสิทธิมนุษย์ คือในกระบวนการวิธีคิดว่า ก่อนหน้านี้ความกลัวตาย( fear of dead) ไม่เคยเป็นความกลัวสูงสุดในสารบบความคิดของมนุษย์ในยุคก่อนยุคสมัยใหม่
ซึ่งเขาบอกว่า ข้อสังเกตนี้ไม่ใช่การกล่าวอ้างขึ้นลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่ โทมัส ฮอปส์ (Thomas Hobbes ค.ศ. 1588- 1679) ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่พูดถึงคนที่อยู่ร่วมสมัยกับเขาว่า คนรุ่นนั้นไม่กลัวความตาย เพราะเชื่อว่า ชีวิตสามารถเป็นอมตะได้หรือว่า การตายคือเป็นการตอบแทนพระผู้เป็นเจ้า
พูดง่ายๆ คือเป็นการกระทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่ามากพอที่จะยอมสละชีวิตตัวเองได้ ฉะนั้นความกลัวตายอาจจะมีในระดับสัญชาตญานของสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เพียงแต่ว่ามันมีคุณค่าบางอย่างที่ควรค่าแก่การสละชีวิตให้
แต่พอเกิดกรอบความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้น สิทธิที่เป็นรากฐานสูงสุดของกรอบความคิดนี้คือ สิทธิของการมีชีวิตอยู่(Right to live) เพราะถ้าคุณไม่มีชีวิต สิทธิอื่นๆ ที่จะตามมาก็ไม่มีผลอะไร
ดังนั้นรากฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่นั่นคือ “การมีชีวิต”
“ชีวิตจึงกลายเป็นสิ่งที่มูลค่าสูงสุด สำคัญที่สุดของระบบวิธีคิดของการเมืองสมัยใหม่”
เดิมทีฝรั่งเศสซึ่งปกครองด้วยระบบคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกสิ่งทุกอย่างในพื้นที่อาณาจักรหรือรัฐนั้นๆ เป็นของเจ้าผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินหรือชีวิต ฉะนั้นการกระทำความรุนแรงใดก็ตามที่กระทำในพื้นที่ คือการท้าทายต่อตัวอำนาจผู้ปกครอง
กฤดิกร เล่าว่า เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เกิดประชาธิปไตย เกิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็เลยมีการให้คุณค่าอีกอย่างหนึ่ง นอกจากสิทธิในการมีชีวิต นั่นคือการที่ผู้คน มีสิทธิของตัวเองและเป็นเจ้าของประเทศเท่ากัน
“เป็นการเปลี่ยนรูปแบบความเป็นเจ้าของ (owership) จากบุคคลคนเดียว เป็นทุกคนในดินแดนนั้นเป็นเจ้าของทั้งหมด อันนี้สำคัญมาก”
เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าสมมติเราเป็นเพียงแม่บ้าน พ่อบ้านในคฤหาสน์ใหญ่หลังหนึ่งของคุณชายท่านหนึ่ง และมีโจรคนหนึ่งบุกเข้ามาทำลายแจกันมูลค่า 100 ล้านบาท เราจะรู้สึกอะไรไหม เราอาจรู้สึกกลัวโดนด่าบ้าง แต่ลึกๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะแจกันไม่ใช่ของฉัน แต่เป็นของคุณผู้ชาย
แต่เมื่อไรก็ตามที่เราบอกว่า บ้านหลังนั้น หรือคฤหาสน์หลังนั้นรวมถึงทรัพย์สินทุกอย่าง เราทุกคนเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กันหมด แจกันใบละ 100 ล้านแตก ความรู้สึกของเราที่มีต่อแจกันใบนั้น มันจะต่างกันทันที ในฐานะการมีส่วนร่วม (share owership) ต่อทรัพย์สินชิ้นนั้นนั่นคือสิ่งที่ประชาธิปไตยสร้างขึ้นมา
หมายความว่า ความรุนแรงก่อนหน้าปี 1789 คือความรุนแรงที่เมื่อเกิดขึ้นเเล้ว ก็จะเป็นการท้าทายต่อพระเจ้าหลุยส์ ไม่ได้ท้าทายประชากรของรัฐเลย แต่เมื่อหลังจากปฏิวัติเป็นต้นมา เกิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เกิดประชาธิปไตยขึ้นมา การก่อความรุนแรงจึงเป็นการกระทำต่อทุกคนในรัฐ ซึ่งสิ่งนี้เองที่ กฤดิกร บอกว่า เป็นตัวแปรสำคัญมาก เพราะเป็นตัวเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องของการก่อการร้ายขึ้นมา
ความรุนแรงในยุคหลังไม่ใช่เป็นการท้าทายพระเจ้าหลุยส์อย่างเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกคนในรัฐ
“ดังนั้นการก่อการร้ายจึงเป็นวิธีการที่แตกต่างออกไปจากสงคราม สำคัญที่สุดคือเราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และกับใคร”
คำว่ากับใคร ในแง่การก่อการร้าย สำคัญมาก กฤดิกร อธิบายว่า รูปแบบการเปลี่ยนตัวแบบของเหยี่อ จากเหยื่อที่ถูกเลือก (Selected Victim) อย่างชัดเจน มาเป็นใครก็ได้ โดยการสุ่ม เพราะการก่อการร้าย มองว่าเหยื่อทุกคนเป็นประชากรของรัฐนั้น ซึ่งฉันต้องการจะสื่อสารด้วย(Conversation) ฉะนั้นจะเป็นใครก็ได้
แล้วสร้างความกลัวขึ้นมาอย่างไร
เขาสมมติให้เราเห็นภาพว่า ย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้ายุคแห่งสิทธิฯ ที่เป็นการลอบสังหาร(Assassination) เราจะไม่กลัวการลอบสังหาร เพราะเราคือประชาชนคนธรรมดา (Unknown Man) ก็ไมต้องกลัวว่าจะมีใครมาลอบสังหาร ไม่ได้อยู่ในสถานะการต้องตกเป็นเหยื่อ คนที่จะกลัวความรุนแรงในลักษณะนี้คือคนที่เป็นคนที่มีหน้ามีตา มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็น Somebody ในสังคมนั้นๆ แต่พอการก่อเหตุเปลี่ยนรูปแบบเป็นการใช้เหยื่อแบบสุ่ม แปลว่า แม้แต่คนธรรมดา ก็มีโอกาสเป็นเหยื่อได้เท่าๆ กันกับคนซึ่งเป็นคนมีหน้ามีตา ทำให้การก่อการร้าย มีความน่ากลัว
กฤดิกร ชี้ว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ เวลาที่เราพูดเรื่องการก่อการร้าย นโยบายความมั่นคงปัจจุบัน ไม่เข้าใจในจุดนี้ เราไม่เคยกลับมาหาคำนิยาม ฝ่ายความความมั่นคงพยายามคิดว่าเข้าใจผู้ก่อเหตุ จริงๆ แล้ว เขาไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำ
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือผู้ก่อการร้ายรู้ตัวแต่แรกว่า ศัตรูของเขาหรือคู่ต่อสู้ คือ รัฐ พูดง่ายๆ คือ คนที่ถือครองทรัพยากรและกำลังเหนือกว่าเขาแบบนับไม่ถ้วน ดังนั้นวิธีการต่อสู้ จึงต้องวางบนฐานวิธีที่คือที่ เขารู้อยู่เเล้ว ว่าเขาสู้อยู่กับอำนาจที่เขาไม่ทีทางต่อกรได้แบบตรงไปตรงมา ฉะนั้นต่อให้รัฐเพิ่มปืนอีกพันกระบอก สมการสำหรับพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะสิ่งหนึ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้ก่อการร้ายเหนือกว่า คู่ต่อสู้ของเขาตลอดเวลานั่นคือ ความเหนือกว่า ในเชิงข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เรื่องของข่าวกรอง แต่คือความเหนือกว่าในเชิงระบบคิด คือรู้ว่าจุดอ่อนของสังคมสมัยใหม่หรือจุดอ่อนของพวกเราคืออะไร อย่างที่บอกว่ามูลค่าสูงสุดของระบบคิดของสังคมคือ ชีวิตหรือความกลัวตาย ในขณะที่เราไม่เคยรู้จุดอ่อนของผู้ก่อเหตุเลย
“ผมคิดว่าเป็นวิธีการคิดที่ผิดมาก ที่เราคิดว่า การเอาระเบิดไปโยนใส่พวกเขา หรือเอาปืนไปสู้ผู้ก่อเหตุ ซึ่งพร้อมจะเอาระเบิดพันตัวเอง ยอมตาย แบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาได้หรือ คุณคิดว่าคนที่เอาระเบิดพันตัวเขาไม่รู้ตัวหรือว่า การทำแบบนั้นเขาจะตาย เขารู้ว่าจะต้องตาย ดังนั้นการเอาปืนไปยิงเขา มันจึงไม่ใช่การแก้ปัญหา”
เราไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วกลุ่มก่อการร้ายกลัวอะไร จุดอ่อนอยู่ตรงไหน แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับรู้ว่าตลอดเวลาว่า พวกเรากลัวอะไร นั่นคือเงื่อนไขสำคัญหลักที่กลุ่มก่อการร้ายที่ถือครองทรัพยากรน้อยกว่าฝ่ายรัฐมาก แต่สามารถที่จะต่อกรกับรัฐได้ อย่างค่อนข้างสูสี หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างสูสี
ความเข้าใจของกลุ่มก่อการร้ายกับวิธีคิดของการเมืองสมัยใหม่ ไม่ได้จบแค่เรื่องความกลัวตาย กฤดิกร มองกรณีของ ไอซิส(ISIS) วันนี้พวกเขาข้ามเข้ามาในอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ "การมีพื้นที่ยกเว้น"
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในระบบวิธีคิดสมัยใหม่คือในทุกยุคทุกสมัย จะมีพื้นที่ที่ยกเว้นเอาไว้ ของสังคม เช่นพื้นที่โรงพยาบาล เป็นต้น คือทำไมพื้นที่โรงพยาบาลถึงเป็นพื้นที่ยกเว้น อยากลองมาคิดกันก่อน โดยตัดเรื่องของศีลธรรมทั้งหมดออกไป มาดูเงื่อนไขของกาชาดสากลในเรื่องสงคราม เขาจะต้องรักษาทุกฝ่ายที่บาดเจ็บ
ดังนั้นรัฐที่ทำสงคราม หากมีการทำลายโรงพยาบาล ในระดับหนึ่งถือเป็นการทำลายผลประโยชน์ของตัวรัฐเองด้วย ซึ่งวิธีการคิดในเชิงอรรถประโยชน์นิยมแบบนี้ มันอยู่ในเงื่อนไขสากลอื่นๆ เช่น ห้ามทรมานเชลยศึกสงคราม เป็นต้น ทำให้เกิดพื้นที่ยกเว้นในระบบวิธีคิดสมัยใหม่ขึ้นมาว่า โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ยกเว้น เด็กและสตรีต้องได้รับการปกป้อง
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดว่าจะใช้วิธีคิดแบบนี้ไปใช้การกลุ่มก่อการร้าย มันใช้ไม่ได้ เพราะเขาต้องการส่งสารทางการเมือง และสร้างความกลัวให้กระจายตัวให้มากที่สุด
อย่างกรณี ระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ เราจะเห็นว่าเวลาฝ่ายความมั่นคงให้สัมภาษณ์ว่า ขนาดในสงคราม เขายังละเว้นโรงพยาบาลเลย นั่นหมายความ ฝ่ายความมั่นคงไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้เลยว่า วันนี้กลุ่มก่อการเขาไม่สนใจเรื่องนี้ สิ่งที่เขาต้องการทำลายคือการทำลายศูนย์กลางของระบบวิธีคิดสมัยใหม่
เขายกตัวอย่างเสริมว่า "สมมติผมไปข่มขืนผู้หญิงอายุ 35 ปี กับข่มขืนเด็กหญิงอายุ 12 ปี เรามาดูเฉพาะในแง่พฤติกรรม จะพบว่า เป็นพฤติกรรมชุดเดียวกัน คือการข่มขืนเหมือนกัน คุณจะรู้สึกทันทีว่าการข่มขืนเด็ก 12 ปี เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมรุนแรง อุกอาจมากกว่า เพราะว่า คือพื้นที่ต้องห้ามในระบบวิธีคิดสมัยใหม่ เรื่องการห้ามร่วมเพศกับเด็ก หรือเด็กเป็นสิ่งที่ใสสะอาดต้องได้รับการปกป้อง กลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ฉะนั้นแม้จะเป็นพฤติกรรมชุดเดียวกัน แต่ผมกระทำกับพื้นที่ต้องห้าม ยกเว้น จะสร้างความรู้สึกที่รุนแรงกว่าขึ้นมาทันที
เช่นเดียวกัน ถ้าผมก่อเหตุระเบิดในค่ายทหาร กับก่อเหตุระเบิดในโรงพยาบาล การระเบิดเกิดขึ้นเหมือนกัน (แม้ว่าเราไม่ได้อยากให้ทหาร ตำรวจตาย) แต่ในระดับหนึ่ง เรามีความเผื่อใจว่า คนอย่างทหารหรือตำรวจ ซึ่งเป็นอาชีพที่เผชิญความเสี่ยงเหล่านี้อยู่บ้าง จึงไม่ใช่พื้นที่ยกเว้น พูดง่ายๆ คือเป็นพื้นที่เป้าหมายหลัก(Direct Target) ฉะนั้นการเกิดระเบิดในพื้นที่ค่ายทหาร (เราไม่อยากให้เกิดหรอก) แต่ถ้าเกิดเราก็จะไม่กลัวเท่ากับการเกิดระเบิดในพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งสร้างผลกระทบสูงกว่ามาก"
เช่นเดียวกับกรณี ไอซิส ที่เราถามว่า ทำไมถึงดูโหดเหี้ยมมาก เพราะพวกเขามีการฉายภาพการทำลายในพื้นที่ยกเว้นตลอดเวลา ร่วมกับปฏิบัติการอื่นๆ ของพวกเขา ซึ่งไม่ได้ผิดแปลกไปจากการก่อการร้ายอื่นๆ ประเด็นอย่างการ ฆ่าตัดคอโชว์ ฆ่าเด็กและสตรีโชว์ ซึ่งสิ่งเหล่าสะท้อนให้เห็นว่า
“การก้าวล่วงไปในพื้นที่ยกเว้นในระบบคิดสมัยใหม่ ทำให้ความน่ากลัวของเขา มันดูสูงกว่า กลุ่มก่อการร้ายแบบอื่นๆ ทั้งๆ ที่หากพูดในเชิงปริมาณเเล้ว ไอซิสไม่ได้ก่อเหตุเยอะกว่ากลุ่ม โบกาฮารามในโซมาเลีย แต่ทำไมเรากลัวไอซิส มากกว่า ก็เพราะพวกเขาเข้าใจระบบคิดสมัยใหม่ตรงนี้”
กฤดิกร มองว่า สิ่งที่ไอซิสเข้าใจมากๆ ในระบบสังคมสมัยใหม่ นั่นก็คือการเข้าใจชีวิตดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่การเผยแพร่คลิปต่างๆ เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการเคลมผลงาน ซึ่งหลังๆ ในยุโรปบางเหตุการณ์อาจมีความเชื่อมโยงกันน้อยมากในระดับแทบจะไม่มีเลยในบางครั้ง แต่ไอซิสก็จะรีบออกมาเคลมไว้ก่อน
ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาในการศึกษาเรื่องการก่อการร้ายในปัจจุบันด้วยว่า ฝ่ายความมั่นคงมักมองการก่อการร้ายว่า “แช่นิ่ง” ทั้งๆ ที่ ฝ่ายก่อเหตุรับรู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับรัฐที่ถือครองทรัพยากรมากกว่า ฉะนั้นเขามีทางปรับตัวให้เขาสังคมมากกว่า
หากจะยืมคำของอาจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่บอกว่าเราอยู่ในสังคมไฮเปอร์เทค(Hyper Tech) เช่น ตอนนี้เราไม่สามารถนั่งฟังเพลงเป็นอัลบั้มอีกต่อไปเพราะเราไม่มีความอดทนต่อสิ่งนั้นๆ ได้นาน เพลงจึงออกมาเป็นซิงเกิ้ล และจากเดิมเราเคยชินวัฒนธรรมการอ่าน การมองแบบกระโดดข้ามไปข้ามมา เราไม่เคยชินกับรูปแบบวิธีคิดความต่อเนื่อง ฉะนั้นในวันนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเราต้องการคำตอบทันที เราไม่พร้อมที่จะมีความอดทนอดกลั้นที่จะรอคำตอบอีกต่อไป เราไม่มีความอดทนแบบยุคก่อนยุคดิจิทัลอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นเมื่อพอเกิดเหตุ หากไม่มีคำตอบในทันที ฉันก็พร้อมที่จะเอาธงไปปักแล้ว ดังนั้นกลุ่มไอซิส ซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ก็รีบเคลมไว้ก่อน จะเกี่ยวมากน้อยแค่ไหนไม่รู้ ที่นี่อะไรก็ตามที่เกิดเหตุในยุโรป เราก็จะคิดขึ้นมาทันทีว่า เป็นฝีมือของไอซิส
หรือแม้เหตุการณ์ในมาราวี ฟิลิปปินส์ ที่กลุ่มก่อเหตุใช้ธงของไอซิสมาโฆษณาตัวเองก่อน
“ผมคิดว่าเป็นผลพวงของวิธีการคิดโฆษณาการ เราต่างหากที่ดูถูกคนพวกนี้ว่าไม่ใจเรื่องการโฆษณา”
ถึงตรงนี้เชื่อว่าเราคงพอเข้าใจระบบคิดพื้นฐานของการก่อการร้ายว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แท้จริงเเล้วมีรากฐานทางความคิดเชิงสังคมที่สำคัญ และนั่นอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่รัฐในฐานะคู่ต่อสู้ตัวสำคัญจะได้ลองวางยุทธวิธีในการต่อสู้ ที่ไม่ใช่เพียงการใช้ความรุนแรงแลกกัน...
อ่านประกอบ
ไทยยังไม่เสี่ยงก่อการร้าย ดร.ศราวุฒิชี้สื่อสร้างภาพ โลกศึกษามุสลิมผ่านความรุนแรง
มาราวียังไม่สงบ ยูนิเซฟห่วง เด็ก5,000 คน กำลังตกภาวะเสี่ยงด้านจิตใจและสุขภาพ
ยืนยัน 4 มุสลิมไทยที่ฟิลิปปินส์ไม่ได้ไปร่วมรบสมรภูมิ"มาราวี"
ไอซิสอ้างอยู่เบื้องหลังเหตุกราดยิงกลางมะนิลา ผบ.ตร.ฟิลิปปินส์ ยันไม่ใช่ก่อการร้าย
ด่วน! ดูเตอร์เต้ประกาศกฎอัยการศึก60 วัน หลังกลุ่มก่อการร้ายบุกยึดมาราวี
อาเซียนส่อวุ่น ดูเตอร์เต้ กร้าวพร้อมยกระดับความรุนแรงหากกลุ่มติดอาวุธยังขัดขืน
ลำดับเหตุการณ์ กลุ่มติดอาวุธ Maute บุกยึดเมืองมาราวี ฟิลิปปินส์