พฤติกรรมสุขภาพคนไทย 4.0 น่าห่วง ติดหวาน เด็ก 2 ขวบเริ่มดื่มน้ำอัดลม
สสส.เผยพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยยุค 4.0 ติดหวาน พบเด็ก2-5 ขวบ ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ขณะที่กลุ่มวัยทำงาน มีวัฒนธรรมดื่มกาแฟตอนเช้า น้ำหวานกลางวัน และดินเนอร์ขนมหวานบิงชูตอนเย็น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดโซนสุขภาพดี มีทางเลือก ในงานเทศกาลทำดีหวังผล : Good Society Expo โดยมีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพของสสส. ร่วมจัดกิจกรรม พร้อมกับทอล์คโชว์แรงบันดาลใจของการมีสุขภาพที่ดีจากศิลปิน โย่ง อาร์มแชร์ และเก้า จิรายุ ระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย. ณ บริเวณ Square B ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวถึงพฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยยุค 4.0 ที่น่าจับตาในแต่ละช่วงวัยพบว่า ในกลุ่มเด็กเล็กเริ่มติดหวานตั้งแต่ 2-5 ขวบ ผู้ปกครองเริ่มให้กินน้ำหวานหรือน้ำอัดลม มากกว่า 1 ครั้งต่อวันถึง 12% และ 30% ของเด็กเล็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีทั้งสมาร์ทโฟน ไอแพทในการเลี้ยงดู
ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น มีพฤติกรรมขยับน้อยกว่าผู้สูงอายุ โดยวัยรุ่นเฉลี่ยมีกิจกรรมทางกายเพียง 1.14 ชั่วโมงต่อวัน แต่ใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ต 6 ชั่วโมงต่อวัน และต้องการความรู้เรื่องเพศเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยการสำรวจรายงานสุขภาพคนไทยพบว่า จำนวนคู่นอนเฉลี่ยของวัยรุ่นอยู่ที่ 5 คน ทั้งหญิงและชาย
ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าวถึงกลุ่มวัยทำงาน วันนี้เราเห็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟตอนเช้า น้ำหวานกลางวัน และดินเนอร์ขนมหวานบิงชูตอนเย็น สสส.ร่วมกับม.มหิดล ทำการสำรวจถนนสายเศรษฐกิจย่านสีลม อนุสาวรีย์ชัย เพื่อตรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชงหวาน 5 เมนูยอดฮิตพบว่า เพียง1 แก้ว 250 มล. มีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 10-15 ช้อนชา ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ควรปริโภคน้ำตาลในอาหารทุกชนิดไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น
"พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง และเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน หัวใจ ความดัน ส่วนผู้สูงวัยเรายังขาดการรับมือในการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 95% มีโรคประจำตัวแต่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตประวันได้ตามปกติ เมื่อเข้าใจพฤติกรรมทางสุขภาพของคนในแต่ละช่วงวัยที่ต่างไปจากเดิมจะสามารถออกแบบปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนในแต่ละวัยมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมในโซนสุขภาพดี มีทางเลือก สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ นำเสนอประเด็นอาหาร กิจกรรมทางกาย ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ได้แก่ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และสุขภาวะทางเพศ รวมถึงนิทรรศการกลางที่เป็นงานสร้างเสริมสุขภาพในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่มีการนำเสนอ คือ “สุขภาพดีเริ่มได้ที่ตัวเรา และส่งต่อสุขภาพดีให้คนอื่น” จึงได้ออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้ประชาชนเกิดความตระหนักและร่วมสนุกเช่น กิจกรรมทดสอบปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กิจกรรมสวนผักคนเมืองและการจำลองครัวขนาดเล็กและเครื่องครัวที่จำเป็นเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตคนเมือง โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน Seeds Exchange ThaiPAN เครือข่ายกลุ่มเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมชวนขยับวันละ 10,000 ก้าว โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโหลดแอพพลิเคชั่นนับก้าวเดิน และเริ่มขยับออกกำลังกายแล้วมารายงานผล หากเดินได้ครบ 10,000 ก้าว มารับรางวัล โดยการสนับสนุนของสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และเครือข่ายคนไทยไร้พุง กิจกรรมเกมส์ถนนคนเมาโดยใส่แว่นจำลองการเมาแล้วลองเดินบนถนน และกิจกรรมอื่นๆที่ให้เห็นถึงอันตรายจากสุรา ข้อแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย ทดสอบสุขภาพปอดดี๊ดี นวัตกรรมนวดกดจุดสะท้อนเท้าเลิกบุหรี่ จากภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเมาไม่ขับ โครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมถึงการสื่อสารกับลูกอย่างไรเรื่องเพศ โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) นอกจากนี้ยังมีงานจิตอาสากับโครงการนับเราด้วยคน ภายใต้ Campaign "ทำดีมีเหตุผล" ในกิจกรรม "แว่นตานำปัญญา" ที่จะบริจาคแว่นตาให้แก่เด็กในพื้นที่ที่ขาดแคลนแว่นตา เพื่อใช้ในการศึกษา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างสรรค์สังคม นำไปสู่สังคมสุขภาวะ