เปิดตัวสายด่วน 1479 ประชารัฐเพื่อคนพิการ คาดเอกชนจ้างงานเพิ่ม 1.5 หมื่นอัตรา
เปิดตัวสายด่วน 1479 ประชารัฐเพื่อคนพิการ ปรึกษาปัญหาฟรี ด้านดร.สุปรีดา ย้ำการสร้างอาชีพคือเป้าหมายหลักในการพัฒนาชีวิตคนพิการ คาดปี 61 จะมีเอกชนจ้างเพิ่ม 15,000 อัตรา
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 60 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มูลนิธิเพื่อคนไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และองค์กรภาคี ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจย่านราชประสงค์ จัดงาน GOOD Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล โดยหนึ่งในกิจกรรมภายในงาน ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ประชารัฐเพื่อคนพิการ และเปิดตัวสายด่วน 1479 เพื่อคนพิการ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ สสส.ทำงานมา เราทำงานกับผู้พิการมาต่อเนื่อง พบว่า ภาคีคนพิการเป็นภาคีที่เข้มแข็งมาก เราพัฒนาโครงการนำร่อง “ไม้เท้าขาว” ที่ต้องการให้คนพิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ การสนับสนุนให้มีอาชีพซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จนนำมาสู่กฎหมายเมื่อปี 2550 ที่บังคับให้นายจ้างต้องว่าจ้างคนพิการในอัตรา 100 ต่อ 1 คน หากทำไม่ได้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการ ทำให้มีเงินเข้ากองทุนมากขึ้น แต่ก็เท่านั้น เพราะกองทุนก็ไม่สามารถช่วยให้คนพิการมีงานเพิ่ม ทางสสส.และมูลนิธินวัตกรรมสังคม มองเห็นว่า ถ้าไม่ต้องจ้างให้ไปทำงานที่โรงงาน หมายถึงการที่บริษัทจ่ายแล้วให้ทำงานในพื้นที่ เกิดการรวมกันกับบริษัทเอกชนที่ต้องการจ่ายเพื่อการจ้างงานตามกฎหมาย อบต. หน่วยงานท้องถิ่น ก็ได้ดูเเลผู้พิการโดยที่ไม่ต้องไปทำงานไกล และสุดท้ายจากการทดลองจริงและประสานพูดคุยกับทางกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ ก็เห็นว่า รูปแบบนี้ช่วยให้เกิดการจ้างงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
"ตั้งแต่ปี 2555 เกิดต้นแบบหน่วยจัดการกลาง Call Center ให้บริการสายด่วนคนพิการ 1479 และได้เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2556จนถึงปัจจุบันมีผู้โทรมาปรึกษารวมกว่า 8,909 รายโดยส่วนใหญ่สอบถามเรื่องอาชีพและรายได้ คิดเป็นร้อยละ 53.8 ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการผลักดันให้เกิดการจ้างงานคนพิการ ทำให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้ มีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย สสส.พร้อมร่วมสนับสนุน และบูรณาการงานด้านคนพิการในประเด็นสุขภาพทั้งมิติทางกาย จิต ปัญญาสังคมปัจจุบันตั้งเป้าไว้ว่า จะเพิ่มอัตราจ้างงานคนพิการให้ได้ มากขึ้นเป็น 15,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2061"
ด้านนางนภา เศรษฐกรรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)กล่าวว่า พม.มีหน้าที่ในการประสานนโยบายร่วมกับทุกกระทรวงทบวงกรม เพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษา มีงานทำ ดำรงชีวิตอิสระ หรือเรียนว่าทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ พม. จะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายนอกจากนั้นเรายังมีศูนย์ฟื้นฟูอาชีพและศูนย์พัฒนาอาชีพสำหรับคนพิการทั่วประเทศ ที่จะได้ช่วยฝึกอาชีพและเตรียมความพร้อมให้คนพิการก่อนที่จะประกอบอาชีพหรือเข้าทำงานในสถานประกอบการ , หน่วยงานของรัฐ หรือการทำงานในชุมเพื่อปฏิบัติภารกิจอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเราจะเร่งรัดการปฏิบัติตรมมติคณะรัฐมนตรีในการรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชน ถ้าสามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการให้ได้ตามเป้าหมาย 10,000 อัตราในปีนี้ ย่อมเท่ากับสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 1,000 ล้านบาท ปีนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยากเห็นคนพิการได้รับการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพครบตามกฎหมาย และเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร ตัวแทนสภาหอการค้าประเทศไทย กล่าวถึงธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่ทำเมื่อได้รับการร้องขอ เพราะเศรษฐกิจและสังคมต้องไปควบคู่กัน ต้องเอาสังคมเป็นเสาหลัก เรื่องของคนพิการ เราคุยกันในบริบทของคนว่าจ้าง 100 ต่อ1 คน ทำอย่างไรให้มีการจ้างงานจริงๆ เพื่อทำตามมาตรา 33 ของกฎหมาย ที่ผ่านมาเราไปดูภาคธุรกิจหลายๆ ส่วน มีการยกระดับเป็นประชารัฐเพื่อสังคม อยากให้ความมั่นใจว่าจะช่วยเหลือคนพิการอย่างเต็มที่ ท่านอาจจะมองว่าเป็นด้อยโอกาส ต้องเรียนว่า ภาคเอกชนเองก็ท้อใจไม่น้อยกว่า ปัญหาภาคธุรกิจมีมากมาย บางครั้งเรามองคนพิการสู้ขนาดนี้ ทำไมภาคธุรกิจจะไม่สู้ เลยอยากขอบคุณทุกภาคส่วนทั้ง ประชาสังคม องค์กรรัฐที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้พัฒนาเรื่องการจ้างงาน ทำอย่างไรให้ได้สามารถจ้างงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านบาทหลวง ดร.พิชาญ ใจเสรี ประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า คนพิการวันนี้มีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะไม่รับการช่วยเหลือ ทำอย่างไรให้มีพวกเขาศักดิ์ศรีเต็มที่ เพราะพลังของเขามีมากกว่าที่เขาคิดไว้ เขาอยากได้ความเข้าใจ สามารถไต่เต้าสู่ศักภาพที่มี
"แต่จุดอ่อนของสังคมวันนี้คือไม่มีสื่อที่ทำให้คนพิการเข้าถึงความรู้สิทธิเท่ากับคนปกติ ทางมูลนิธิฯ เราริทำเริ่มสายด่วนคนพิการ ให้มีการโทรเข้ามาปรึกษา ซึ่งพบว่า ปัญหาใหญ่ๆ คือ คนพิการอยากได้โอกาส วันนี้เขาไม่อยากออกจากบ้าน เพราะกลัวถูกเอารัดเอาเปรียบ อยากได้ชีวิตที่ดีกว่านี้ ตลอดเวลาห้าปี มีการถามไถ่มากกว่า 9,000 ราย เชื่อว่าวันนี้เมื่อมีสายด่วน 1479 ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น และจะไม่มีใครโดนทิ้งไว้ข้างหลังตามนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้"