ส่องเมืองไทย ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม
จากการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบว่า การเมืองไทยไม่เป็นของทหารก็พลเรือน การเมืองยุคทหารเน้นความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย บางช่วงสามารถทำอะไรได้มาก พอมาสู่การเมืองของนักการเมือง มีหลายกลุ่มหลายพวกการบริหารประเทศแม้รัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้อยู่ดีกินดี แต่กลไกไม่เอื้ออำนวย ทั้งๆที่เจตนาดีแต่ไม่เคยทำได้สำเร็จ
วันที่ 9 มิ.ย.วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวหนังสือ Thai Politics:Social Imbalance พร้อมเสวนาวิชาการ "ส่องเมืองไทย ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม" ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มธ.ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ผู้เขียนหนังสือ Thai Politics:Social Imbalance กล่าวถึงการเมืองไทย มีการสะดุดหยุดอย่างนี้เป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ซึ่งจากการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พบว่า การเมืองไทยไม่เป็นของทหารก็พลเรือน การเมืองยุคทหารเน้นความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย บางช่วงสามารถทำอะไรได้มาก พอมาสู่การเมืองของนักการเมือง มีหลายกลุ่มหลายพวกการบริหารประเทศแม้รัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้อยู่ดีกินดี แต่กลไกไม่เอื้ออำนวย ทั้งๆที่เจตนาดีแต่ไม่เคยทำได้สำเร็จ
"สรุปช่วงรัฐบาลพลเรือนแม้มีความเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ความแตกแยกภายในรัฐบาลนำสู่การเมืองที่ไม่สามารถสนองประโยชน์ให้กับประชาชนได้ รวมถึงล่าสุด ที่เกิดกปปส.จนทหารต้องเข้ามานั้น การเมืองไทยยังเป็นการเมืองของกลุ่มคนหยิบมือเดียว ไม่ทหารก็นักการเมือง"
รศ.ดร.นิยม กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองจำนวนมาก ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นพรรคส่วนบุคคล ฉะนั้นพรรคการเมืองไทยยังคงต่อสู้เพื่อความอยู่รอด การมีนโยบายเพื่อดูแลประชาชน การเมืองเพื่อการต่อสู้เพื่อปากท้องประชาชน จึงทำได้น้อยมาก
ส่วนข้าราชการประจำนั้น รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า ไม่ได้มีอุดมการณ์เพื่อรับใช้ประชาชน หรือให้ประชาชนกินอิ่มอยู่ดีก่อน หวังเข้ามาสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมให้สูงขึ้น ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ทำไม่ได้ เพราะมัวแต่ต่อสู้กันทางการเมือง เป็นนักธุรกิจที่มีฐานะเข้ามาสู่สนามการเมือง จะดูแลทุกข์สุขกลุ่มของพวกเขาเป็นอันดับแรก ดังนั้นการเมืองจึงจึงไม่ใช่สนามของบุคคลทั่วไป เป็นกิจกรรมที่ผูกขาด
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้แล้วนั้น รศ.ดร.นิยม กล่าวว่า แม้จะมีการเลือกตั้ง ก็แค่เปิดให้มีการเลือกตั้ง เลือกไปแล้วก็เหมือนเดิม การเมืองไทยไม่ไปไหน
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่ปี 2475-2516 ทั้งรูปแบบ และสาระประชาธิปไตย ปรากฎในสังคมไทยน้อยมาก มาเบ่งบานช่วงสั้น 14 ต.ค. 2516 จากนั้นก็ต้องมาตั้งไข่กันใหม่ เป็นลักษณะความพยายามการประนีประนอมกับอำนาจโดยรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า รากฐานประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยแล้ว แม้มีการปฏิวัติรัฐประหารมีความพยายามสืบทอดอำนาจประชาชนก็จะออกมาต่อต้าน จนทำให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีประชาธิปไตย
“แม้สิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า นักการเมือง พรรคการเมืองก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจกับประชาชนได้ ที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 เพิ่มหลักการให้มีการเมืองภาคประชาชน มีการรับรองสิทธิเสรีภาพ ตามมาด้วยการเพิ่มกลไกใหม่ ที่ไม่ปล่อยให้สภาเป็นใหญ่ มีองค์กรอิสระถ่วงดุลนักการเมืองเข้ามาหวังสร้างดุลยภาพ และแม้ต่อมาเราจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ก็มีปัญหาใช้อำนาจโดยมิชอบ สุดท้ายอยู่ไม่ได้มีรัฐประหาร”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวไม่อยากให้มองปัญหาการเมืองที่ขาดดุลยภาพ เป็นปัญหาที่มีเฉพาะประเทศไทย ที่จริงมีคล้ายกันทั่วโลก
“วลี ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผมไม่เคยได้ยินคนที่ใช้วลีนี้นิยามให้ชัด ประชาธิปไตยพอเข้าใจ ตรงไหนแบบไทยๆ หรือเป็นเพียงข้ออ้างไม่ปฏิบัติตามหลักสากล” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ประเด็นความไม่มีดุลยภาพทางเมืองนั้น บางทีที่ผ่านมาเราอาจไปหมกมุ่นอยู่กับประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นเชิงโครงสร้าง การเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งมากไปก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาได้ เพราะใช้มาหมดทุกระบบการเลือกตั้งแล้ว ถามว่า ที่คิดในกรอบแบบนี้แก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ตอบตรงนี้เลยไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คิดว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากกระบวนการทางการเมือง จึงเอาของเก่าและของใหม่ยื่นให้กับสังคม ซึ่งไม่ใช่วิธีสร้างดุลยภาพ
“ผมยังเชื่อว่าถ้า 250 เสียงวุฒิสภา หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าพยายามฝืนเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ สังคมจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง ทำลายดุลยภาพทางการเมืองด้วยซ้ำ บางเรื่องเปลี่ยนใหม่อีก เช่นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ถอดถอนไม่มี เอาเรื่องจริยธรรมไปขึ้นศาล มองว่า เป็นเรื่องค่อนข้างอันตราย หากเรายังวนเวียนอยู่กับเรื่องกฎหมายโครงสร้างไม่น่าได้อะไร ซึ่งต้องนึกถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองด้วย”
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ดุลยภาพทางการเมืองทั่วโลก สร้างโดยกระบวนการประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล มีฝ่ายค้าน ฉะนั้นการฟังผู้มีอำนาจขณะนี้เราอาจหลงทาง แม้จะมีโรดแมปกลับไปสู่ประชาธิปไตย สู่การเลือกตั้ง แต่ถ้อยคำที่สื่อสารกับประชาชนพยายามบอกประชาธิปไตยคือปัญหา หวั่นว่า หากตั้งหลักแบบนี้เราจะหลงทางได้
สุดท้ายนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา กล่าวถึงการเมืองไทย ดุลยภาพทางการเมือง ดุลยภาพทางสังคม ต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบถ่วงดุลได้ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นระบบออกสู่สาธารณะ เชื่อว่าทำให้ระบบการเมืองเปิดมากขึ้น "สิ่งที่ทำให้ดุลยภาพการเมืองเสีย คือการช่วงชิงผลประโยชน์เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่ง ผมไม่เรียกร้องให้รัฐบาลปรับตัวเอง หรือเรียกร้องระบบราชการเปลี่ยน นักการเมืองเปลี่ยน แต่หวังให้ประชาชนเข้ามาถ่วงดุลทำให้เกิดดุลยภาพ "