กสทช.ถามรัฐต้องกำกับสื่อออนไลน์หรือไม่หลัง‘ข่าวเปรี้ยว’ฉาว-ชี้ต้องไม่ตกต่ำตามสังคม
‘นพ.ประวิทย์’ กสทช. ยกตัวอย่าง ‘ข่าวเปรี้ยว’ ชี้ต่อให้สังคมเลวยังไง สื่อต้องไม่ตกต่ำไปกว่ากรอบจริยธรรม ถ้าสื่อลดคุณค่ามีแต่จะแพ้ ระบุโลกออนไลน์เหมือนอนาธิปไตย ผู้ผลิตไม่ต้องรับผิดชอบ ตั้งคำถามรัฐต้องมากำกับดูแลจริงจังหรือไม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 9 มิ.ย. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ข่าวเปรี้ยว ข่าวเปรี้ยง ! สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย ?" ดำเนินรายการโดย นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษก และกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ มีนายปราเมศวร์ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิม์แห่งประเทศไทย นายกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นวิทยากรร่วมเสวนา
นพ.ประวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า สื่อกับสังคมปฏิสัมพันธ์กัน สื่อให้คุณให้โทษแก่สังคมได้ ในทางกลับกันสังคมก็ให้คุณให้โทษสื่อได้ ความแตกต่างคือสื่อมีกรอบจริยธรรม ดังนั้น สังคมจะเลวยังไงสื่อต้องไม่ตกต่ำไปกว่ากรอบจริยธรรม สื่อต้องหาให้เจอว่ากรอบจริยธรรมคืออะไร วัตถุประสงค์สาธารณะของตัวเองคืออะไร ดังนั้นกรณีนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาพูดคุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับโลกออนไลน์ที่คล้ายภาวะอนาธิปไตย เพราะผู้ผลิตเนื้อหาไม่ต้องเปิดเผยตัวตน นำมาสู่การลดทอนความจริงโดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ
“ยุคนี้สื่อกลายเป็นธุรกิจสื่อที่ต้องหาความอยู่รอดเพราะมีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ กอปรกับมีเทคโนโลยีซึ่งเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ จึงต้องขีดเส้นว่าอะไรคือสื่อสารมวลชนอะไรไม่ใช่ ปัญหาคือแต่ละกลุ่มเล่นคนละกติกา ปัจจุบันสื่อมวลชนพยายามไปแข่งกับสื่อกระแสรอง ถ้าสื่อลดคุณค่าตัวเองไปแข่งก็มีแต่จะแพ้ จะเป็นการส่งเสริมว่าสื่อไม่จำเป็นต้องมีจริยธรรมก็ได้” นพ.ประวิทย์ กล่าว และว่า หน้าที่ของสื่อคือยกมาตรฐานตนเอง ตั้งคำถามที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น บริบทเป็นอย่างไรอาชญากรรมในลักษณะเช่นนี้จึงเกิดขึ้น เราจะคุ้มครองผู้แจ้งเหตุได้อย่างไรไม่ให้โดนแก้แค้นเป็นต้น
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วแซงหน้าจริยธรรม ทางแก้คือต้องสร้างความมีส่วนร่วมภาคประชาชน หน้าที่ของรัฐต้องถูกหยิบมาพูดอย่างชัดเจนว่าจะให้มีการกำกับดูแลหรือไม่ อย่างไร สุดท้ายสื่อหลักต้องยกมาตรฐานจริยธรรมให้ได้ มิเช่นนั้นจะเป้นการซ้ำเติมสังคมที่ป่วยอยู่แล้ว