วิจัยพบ ‘บ้าน’ แหล่งรับควันบุหรี่มือสองมากสุด-หวั่น ‘เด็ก’ เป็นหอบหืด ป่วยง่าย
วิจัยพบ ‘บ้าน’ เป็นแหล่งรับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด เกือบร้อยละ 60 ไม่ต่างจากเคยสำรวจปี 52 นักวิชาการ ม.มหิดล ไม่มั่นใจบังคับใช้ กม.ห้ามสูบในบ้านทำได้ 100% แนะเร่งรณรงค์ให้ความรู้ตระหนักพิษภัยมากขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ เผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 เรื่อง การได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย จากการเก็บกลุ่มประชากรตัวอย่างจำนวน 19,468 คน อายุ 15 ปีขึ้นไป จาก 20 จังหวัดในทุกภูมิภาค
โดยพบว่า มีคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น สูงถึง 72.6% หรือคิดเป็นประชากรกว่า 34 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่
สำหรับสถานที่ได้รับควันบุหรี่บ่อยที่สุด คือ บ้าน 56.3% หรือคิดเป็นประชากรกว่า 19 ล้านคน รองลงมาคือ ที่ทำงาน 46.1% ร้านอาหาร 35.6% และสถานที่ขนส่งสาธารณะ 25% โดยผู้หญิงได้รับควันบุหรี่ที่บ้านมากกว่าผู้ชาย 68.5% และ 44.1% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยังพบว่าจำนวนนี้ไม่แตกต่างจากที่เคยสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.2552 โดยสถานที่ได้รับควันบุหรี่ของผู้ได้รับควันบุหรี่บ่อยที่สุดคือ ที่บ้าน เช่นเดียวกัน คือ 55%
ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ในฐานะเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการได้รับควันบุหรี่มือสองที่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ส่วนบุคคลนั้น กำลังกลายเป็นแหล่งสำคัญที่ทำร้ายคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง/แม่บ้าน ผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าคนในบ้านมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็จะยิ่งส่งผลให้อาการป่วยแย่ลงหรือฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
“สิ่งที่น่ากังวล คือ เด็ก จากงานวิจัยต่างประเทศระบุชัดเจนว่า ควันบุหรี่ส่งผลให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบ หืด โรคภูมิแพ้ และมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่” นักวิชาการ ม.มหิดล กล่าว และว่า นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กเกิดความเคยชินจนมองเรื่องการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ และอาจตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ในอนาคตได้
ศ.นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในบ้านของประเทศไทยยังน้อยมาก รวมไปถึงการสื่อสารของคนในครอบครัวที่ยังมีความเกรงใจกัน เช่น พ่อสูบบุหรี่ คนเป็นลูกก็ไม่กล้าที่จะบอก หรือคนเป็นแม่เองก็อาจจะรู้สึกว่ามีอำนาจในการต่อรองน้อย จึงไม่กล้าที่จะห้ามปรามอย่างตรงไป ตรงมา เพราะอาจจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง
ขณะเดียวกันกฎหมายในไทยมุ่งเน้นห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและถือว่าเป็นจุดแข็ง แต่ในทางกลับกันการศึกษาครั้งนี้พอจะบอกได้ว่า “บ้าน” ซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคลและน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่กลับกลายเป็นจุดอ่อนจากการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะเมื่อนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเข้มงวด บ้านจึงเสมือนจุดผ่อนปรนของคนสูบบหรี่ เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุม ผลกระทบตามมาจึงเกิดกับคนใกล้ชิดโดยตรง
สำหรับแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในบ้านของประเทศไทยนั้น นักวิชาการ ม.มหิดล เสนอว่า ควรรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนถึงพิษภัยที่เกิดจากบุหรี่ในบ้านให้เข้มข้นขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยย้ำให้เห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนในครอบครัวไม่ใช่คนอื่นไกล รวมถึงผู้ที่อาศัยในบ้าน คอนโด แฟลต เป็นต้น
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ สามารถเป็นผู้นำในการสร้างความตระหนักรู้ได้ดี ตลอดจนการรณรงค์ให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ให้มีภูมิความรู้เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ในบ้านของผู้ปกครอง สามารถที่จะสื่อสารบอกถึงความไม่ต้องการรับควันจากคนสูบบุหรี่ได้
ส่วนมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ในบ้านนั้น อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหา แต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน จะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุน เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องเริ่มจากการที่ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและให้การยอมรับกับเรื่องดังกล่าวก่อนเป็นอันดับแรก
“ต้องศึกษาความต้องการของประชาชนต่อกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ในบ้าน ตลอดจนรูปแบบมาตรการของกฎหมายที่เหมาะสม ทั้งนี้ กติกาที่พอจะนำมาใช้ควบคุมผลกระทบจากควันบุหรี่ได้ในบ้านเรา เช่น กฎหมายที่คนข้างบ้านสามารถร้องเรียนเมื่อได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เป็นต้น” ศ.นพ.วิชัย กล่าวในที่สุด .