สุรพงษ์ เปิดกม.ยันแรงงานข้ามชาติทิ้งลูกคารพ.ไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด ไม่ติดคุก
เด็กไร้สัญชาติพุ่ง ลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคา รพ. เหตุไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด "สุรพงษ์ กองจันทึก" ชี้แม่สอดเพียบ มากกว่า ภูเก็ต เป็นมานับสิบปี เชื่อแม่ทุกคนรักลูก ทิ้งมีเหตุจำเป็น แก้ไขได้ยันรัฐไทยต้องไม่สร้างภาระบีบ ไม่มีเงินจ่าย ถือเป็นหนี้ทางแพ่ง ตร.ไม่จับ ไม่ติดคุก รพ.ยึดลูกไว้ไม่ได้
วันที่ 9 มิ.ย.มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาเด็กไร้สัญชาติพุ่ง ลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคา รพ. เหตุไม่มีเงินจ่ายค่าคลอด
ณ ห้องโลตัส โรงแรมริชมอนด์ ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี
นายภาคภูมิ แสวงคำ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า 10 ปีที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติมาในหลายจังหวัด พบว่า สถานการณ์ภาคกลางไม่ได้หนักหนา มีแม่แรงงานข้ามชาติมาคลอดไม่มีเงินจ่าย มีจริง แต่ก็สามารถคุยกับรพ.ค้างชำระหรือผ่อนจ่ายได้
"มีแรงงานข้ามชาติบางส่วนขาดความรู้และไม่มีการวางแผนครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีกรณีถูกละเมิดทางเพศ การตั้งใจคลอดแล้วทิ้งมีน้อยมาก"
นายภาคภูมิ กล่าวถึงกรณีแรงงานข้ามชาติไม่นิยมซื้อระบบประกันสุขภาพ 3,200 บาทต่อ 2 ปี หรือระบบประกันสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี 365 บาทต่อปี เป็นเพราะหน่วยงานรัฐยังมีการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง เช่น จังหวัดใหญ่ๆ เข้าถึง แต่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานตามชายแดน หรือบนภูเขานั้น การประชาสัมพันธ์จะเข้าไม่ถึงแรงงานกลุ่มนี้ และมักจะได้รับข่าวสารผ่านนายหน้า บางคนยังไม่ทราบราคาที่แท้จริง อีกทั้งโรคที่ครอบคลุมการรักษาก็ไม่ชัดเจน
"นอกจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้เงินในระบบประกันสุขภาพของคนต่างด้าวจึงมีจำนวนน้อย และการที่สถานพยาบาลตามต่างจังหวัด 49 จังหวัดจาก 77 จังหวัด พบว่า จะไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้อง หรือมีเชื่อ HIV บางแห่งกำหนดอย่างน้อยต้องมีแรงงานต่างด้าวมาซื้อระบบประกันสุขภาพไม่ต่ำกว่า 50 คน รวมถึงรพ.บางแห่งเรียกเอกสารเกินจำเป็น ทั้งหมดคือข้อจำกัดที่เกิดขึ้น"
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับทุกคน กรณีคนต่างด้าวก็ซื้อสิทธิประกันสุขภาพ
ส่วนลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคารพ.พบมากที่ภูเก็ต โดยเฉพาะ รพ. ป่าตอง นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ดูแลคนนับแสนแต่งบประมาณที่ลงไปอยู่ที่หลักหมื่นบาท ผู้อำนวยการรพ.ป่าตอง จึงมีภาระบริหารรพ.ให้อยู่รอด ขณะที่ไม่มีงบประมาณรักษาฟรี ซึ่งทางแก้ไขต้องนำคนทุกคน รวมถึงนักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ เข้าสู่ระบบทะเบียนทั้งหมด ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
สำหรับเสียงค้านการนำภาษีไปดูแลคนต่างด้าว ด้านสิทธิรักษาพยาบาล นั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ภาษีของไทยมีสองแบบ ภาษีทางตรง เช่นการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวก็เสียภาษี และภาษีทางอ้อม (VAT) ซึ่งแรงงานต่างด้าวซื้อสินค้า ก็ต้องเสียภาษี VAT เหมือนคนไทยเช่นกัน ดังนั้นรัฐไทยต้องดูแล และจัดงบลงไปให้
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียน มีระบบประกันสุขภาพใช้สิทธิประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี และมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ขึ้นทะเบียน และไม่มีสิทธิ รัฐไทยสงเคราะห์ให้ฟรี ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี (รวมคนไทย) รวมแล้ว 900 ล้านบาทต่อปี แต่มีตัวเลขการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ที่ต้องซื้อระบบประกันสุขภาพ 3,200 บาทต่อ 2 ปี รัฐทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีเงินไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ใช้งบไปแค่ 900 ล้านบาทต่อปี
"นี่คือประมาณการณ์ตัวเลข จะเห็นว่า สธ.ไม่ได้ขาดทุน หากบริหารจัดการดีๆ เชื่อว่า มีกำไรขาดทุนขึ้นอยู่กับแรงงานข้ามชาติที่มาขึ้นทะเบียน" ประธานมูลนิธิช่วยเหลือสังคมเพื่อเด็กและสตรี กล่าว และยกตัวอย่างที่รพ.ที่แม่สอด ภูเก็ต ขาดทุนจริง เนื่องจากแรงงานต่างชาติมาขึ้นทะเบียนน้อย แต่รพ.พื้นที่ที่กำไรก็มีเช่น สมุทรสาคร
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงปัญหาลูกแรงงานข้ามชาติถูกทิ้งคารพ.เป็นปัญหามานานนับสิบปีแล้ว ไม่ใช่พึ่งเกิดที่ภูเก็ต ที่แม่สอดมีมากที่สุด ฉะนั้น ภาครัฐต้องทำความเข้าใจ อย่าไปสร้างเงื่อนไข
"แรงงานข้ามชาติไม่มีปัญญาจ่ายค่าคลอดบุตร ต้องทำความเข้าใจกับแม่่ว่า ไม่จ่าย เป็นหนี้รพ.ตำรวจไม่จับ ไม่ติดคุก ถือเป็นหนี้ทางแพ่ง โดยรพ.ไม่มีสิทธิยึดลูก หากรพ.อยากได้เงินต้องไปฟ้องเรียกเงินค้างชำระ เชื่อว่า แม่ทุกคนรักลูก การทิ้งลูกมีเหตุจำเป็น"