กลุ่มรักษ์เชียงของ ฟ้องหน่วยงานรัฐ สร้าง “เขื่อนปากแบง” ในแม่น้ำโขง ก่อผลกระทบข้ามพรมแดน
กลุ่มรักษ์เชียงของ 8 จว. ยื่นฟ้องอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ-กรมทรัพยากรน้ำ- คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฯ ต่อศาลปกครอง กรณีสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง หวั่นได้รับผลกระทบข้ามพรมแดน จี้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพียงพอ จริงจัง ประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม สุขภาพ สังคม ทุกมิติ
วันที่ 8 มิ.ย 2560 กลุ่มรักษ์เชียงของ นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมด้วยนายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้าน 8 จังหวัด เข้ายื่นฟ้องอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3) ต่อศาลปกครอง หลังจะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหากมีการสร้างเขื่อน
โดยขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA (Procedure for Notification, Prior Consultation and Agreement) และกระบวนการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะรัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และ/หรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
รวมถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย และให้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง
อีกทั้งขอให้มีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อประเทศลาว พร้อมแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในประเทศลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ กล่าวว่า กระบวนการหารือ PNPCA ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ พบ 3 ครั้งที่ผ่านมายังไม่มีความสมบูรณ์และถูกต้อง ในลักษณะของการโต้งแย้งหรือคัดค้าน ในฐานะที่ทั้ง 3 หน่วยงานที่เป็นผู้ถูกฟ้องมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ในแม่น้ำโขง จะต้องให้ความคิดเห็นที่เป็นการปกป้องทรัพยากรและประชาชนชาวไทย แต่กลับไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิ และขั้นตอนการปฏิบัติในการหารือที่แท้จริง
“ในช่วงที่มีการฟ้องคดีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง MRC กฟผ. ต้องตระหนักมากขึ้น คิดมากขึ้นในการดำเนินการต่อไป อย่าให้ถึงขั้นให้ศาลพิพากษาเลย เราอยากให้หน่วยงานออกมาปกป้องแม่น้ำโขง เราเคยทำหนังสือไปยัง กรมประมง กรมชลประทาน ทุกหน่วยมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ในเมื่อหน่วยงานระดับเดียวกันยังเป็นห่วง มีท้วงติง กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะกรรมาธิการแม่น้ำโขง น่าจะต้องฟังเเละนำไปใช้ เพื่อให้มีการชะลอไปก่อน ไม่ใช่รีบทำให้เสร็จ 60 วันตามขั้นตอนที่ระบุมา ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง”
ทนายความ กล่าวด้วยว่า กรมทรัพยากรน้ำไม่ได้ออกระเบียบขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตาม PNPCA แต่ใช้วิธีการคล้ายคลึงกันคือจัดเวทีสามครั้ง เหมือนกรณีเขื่อนไซยะบุรี แล้วก็ไม่ได้ให้การมีส่วนร่วมของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งหมด ทำไมไม่จัดให้ครบทั้ง 8 จังหวัด ขณะเดียวกันเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลโครงการบางฉบับยังเป็นภาษาอังกฤษ เราจะเข้าถึงได้อย่างไร เท่ากับว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ชัดเจน
ด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงกรณีการสร้างเขื่อนมีผลกระทบที่ข้ามพรมแดน โดยเฉพาะด้านการรักษาการดูแลไม่มีใครพูดถึง ไม่ว่าจะเป็น จีน ลาว ไทย หรือเวียดนาม ล้วนมีพูดถึงการใช้ประโยชน์ และไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถึงแม้จะเป็นเสียงเล็ก ๆ แต่มีจำนวนมาก กลับไม่ได้รับความสำคัญอย่างจริงจัง เนื่องจากรัฐให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจมากกว่า
“ เขื่อนปากแบงอยู่ตอนล่างของเชียงของ วันนี้เรามีปัญหากับเขื่อนมากพอเเล้ว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก สิ่งสำคัญคือ กรณีเขื่อนไซยะบุรี ขั้นตอนไม่รอบคอบ กลไกต่างๆ อย่าง PNPCA ที่รับฟังความเห็น แต่ไม่สามารถเอาไปใช้จริง วันนี้เราฟ้องอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและ MRC ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง กับการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ให้กรมทรัพยากรน้ำแจ้งไปยังกฟผ.ให้ชะลอการซื้อไฟไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษา มีมาตรการที่เชื่อได้ว่าจะไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน”
นายนิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้บทเรียนที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นการฟ้องครั้งที่สอง ครั้งแรกเราฟ้องเรื่องเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งศาลปกครองกลางได้ยกฟ้อง และเราก็ส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาต่อ เราอยากให้เห็นว่าประเด็นการพัฒนาแม่น้ำโขงมีปัญหาเพราะทุนข้ามพรมแดน แต่กฎระเบียบต่างๆ ของรัฐไปไม่ถึง โครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้เกิดความสมดุล ดังนั้นเราต้องพัฒนาข้อกฎหมายระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย
“จุดอ่อนที่สังเกตได้ชัดจากการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ บริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการ มีรายงานไปยัง MRC ระบุเรื่องการสำรวจปลา พบว่ามีการเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาเพียง 2 ช่วงคือ ฤดูแล้ง เดือนมกราคม และฤดูฝน เดือนกรกฎาคม 2554 และมีจุดเก็บตัวอย่างของชนิดพันธุ์ปลาเพียง 6 จุดใกล้ ๆ กับบริเวณก่อสร้างโครงการเขื่อนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บตัวอย่างที่จำกัด และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบนั้นน้อยกว่าข้อมูลของMRC ที่เคยศึกษาไว้” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River)ในแม่น้ำโขง โดยจะกั้นแม่น้ำโขงในลาว ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปราว 92 กิโลเมตร มีบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป ประเทศจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทยได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง และพบว่าประชาชนมีความกังวลเรื่องผลกระทบท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนปากแบงเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการกั้นลำน้ำโขงและยกระดับน้ำขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร -1 เมตร ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมสูง .