ท้วงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 61 ส่อขัดรธน.มาตรา 77
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการเงินการคลัง เตือนว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิ.ย.60 อาจไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดร.ปรีชา สุวรรณทัต นักกฎหมายชื่อดัง บอกว่า ในรายงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำงบประมาณปี 2561 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 2 ระบุว่า ได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 ที่อาคารสำนักงบประมาณ โดยรับฟังความเห็นจาก 417 หน่วยงาน จำนวน 733 คน ซึ่งในส่วนนี้ตนไม่ติดใจ
แต่หากพิจารณาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 2 อย่างถี่ถ้วน ที่บัญญัติว่า "ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน..." จะเห็นได้ว่าสำนักงบประมาณเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้เสียภาษี และเป็นที่มาของรายได้แผ่นดินที่นำมาจัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ฉะนั้นโดยนัยแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรค 2 น่าจะบังคับให้กระบวนการตรากฎหมาย ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในฐานะผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบด้วย ไม่ใช่รับฟังความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
"บทบัญญัตินี้มีเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญนี้ และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 61 ก็เป็นงบประมาณปีแรกที่ทำตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยากให้วางบรรทัดฐานให้ชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่แค่ส่วนราชการเท่านั้น เพราะจะเป็นมาตรฐานในการตรากฎหมายอื่นๆ ในอนาคต" ดร.ปรีชา ระบุ