โวยประชารัฐเปิดช่องบ.ใหญ่ฉวยโอกาส!ชาวสวนยางใต้จี้บิ๊กตู่ทบทวน-ฟัน5เสือทุบราคาซ้ำซาก
ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้รวมพล ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเป็นทางการ โวย 5 เสือ ทุบราคายางซ้ำซาก ปล่อยข่าวบริจสโตนชะลอสั่งซื้อ เหตุทำตัวเองขาดทุนในปี 59 เอากำไรคืนปี 60 เผยราคาลดฮวบ 17 บาท ภายในสัปดาห์เดียว เงินหายจากมือเกษตรกรวันละ 60 ล้าน เตรียมยื่นหนังสือ 'พล.อ.ประยุทธ์' ตรวจสอบ-เครือข่ายเกษตรกร 6 จว.ใต้ประกาศตบเท้ากดดันรบ.เร่งแก้ปัญหา ทบทวนโครงการประชารัฐ เปิดช่องบ.ใหญ่ ฉวยโอกาส
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 ที่การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดตรัง ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนล่าง, ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนบน รวม 6 จังหวัด เช่น ตรัง, กระบี่, สตูล, นครศรีธรรมราช, พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ประมาณ 50 คน นำโดย นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพาราภาคใต้ตอนกลาง, นายเสวก ทองเกตุ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนบน และนายอุดม ตั้งสมคิด ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนล่าง ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือร่วมกันถึงปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำอย่างรวดเร็วอยู่ขณะนี้ โดยราคายางแผ่นรมควันเหลือกิโลกรัมละประมาณ 58 บาท ส่วนราคาน้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 46 – 47 บาท ทำให้ชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ภายหลังการประชุมเครือข่าย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรี เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาจำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐให้ได้ 40 % ของปริมาณยางที่ออกสู่ตลาด และปรับให้มีการใช้ยางในอัตราก้าวหน้าหรือเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี 2. ให้ กยท.เดินหน้าโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์อย่างเร่งด่วน เพราะจัดตั้งมานานแต่ยังไม่ได้เร่งดำเนินการ 3.ให้ปรับปรุงวิธีการซื้อขายยางในตลาดกลาง โดยการประกาศราคาซื้อขายก่อนไม่ต่ำกว่า 2 ชม. ก่อนแจ้งจำนวนปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละวัน เพราะในห้วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่รับซื้อยางจากตลาดกลางโดยไม่ยึดราคากลางในแต่ละวัน แต่ใช้วิธีกำหนดราคาซื้อขายเอง ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดกลางกิโลกรัมละประมาณ 1 บาทหรือ 1บาทเศษ ทำให้สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และเป็นผลให้ราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
4.ให้รัฐบาลทบทวนโครงการประชารัฐ ที่ให้บริษัทส่งออกยางพารารายใหญ่ติดต่อซื้อขายยางพารา กับสถาบันเกษตรกรโดยตรง เพราะหลังจากเริ่มโครงการมาพบว่า บริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ดังกล่าว ฉวยโอกาสกดราคา โดยการกำหนดราคาซื้อขายเอง โดยไม่ยึดราคาตลาดกลาง ทำให้ผลประโยชน์ไปตกกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ขณะที่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 5.ให้กยท.และรัฐบาล บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมการยางอย่างเคร่งครัด ด้วยการเรียกบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกยางพาราทั้ง 5 บริษัท ที่จับมือกันบิดเบือนกดราคายางพาราและปล่อยข่าวยางของสถาบันเกษตรกรไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมีส่วนผสมแอมโมเนียสูง ส่งผลให้ราคาตกมาพูดคุยและเอาผิดตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดในทันที และ 6.ให้รัฐบาลเร่งนำ พรบ.กยท. ตามมาตรา 49(3) เกี่ยวกับการการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน สำหรับพัฒนาสถาบันเกษตรกรมาใช้ภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อสถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรได้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและพัฒนาผลผลิต
ต่อมาที่ห้องสื่อมวลชนจังหวัดตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย แถลงกรณีราคายางพาราดิ่งลงอย่างต่อเนื่องภายในสัปดาห์เดียวลดลงไม่ต่ำกว่า 10 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ว่า ผลจากการประชุมยุทธศาสตร์การยางไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในเวทีต่างๆทุกภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ทางเครือข่ายและผู้ประกอบการเกษตรที่เข้าร่วมประชุมมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ต้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการใช้ในประเทศโดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้เสนอในเรื่องของการทำศูนย์ยางล้อ การใช้ในโรงพยาบาลในเรื่องของการผลิตหมอนและที่นอนจากยางพารา รวมทั้งใช้ในเรื่องการคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องทำถนนจากยางพารา
นายถนอมเกียรติ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ทาง ดร.นพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยการยาง บอกว่า ร่างทีโออาร์ราคากลางส่วนผสมระหว่างยางมะตอยกับยางธรรมชาติ มีราคากลางและสเปคสัดส่วนต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่หน่วยงานไหนจะนำไปดำเนินการอย่างจริงจัง เรื่องการนำยางพารามาผสมทำถนน ในภาพรวมรัฐบาลต้องทำเป็นนโยบายอย่างจริงจัง โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศทำ MOU กับสถาบันเกษตรกร เพื่อส่งผลิตภัณฑ์ยางพาราจากเกษตรกรไปยังโรงงานผลิตยางมะตอยผสมยางพาราธณรมชาติที่มีโรงงานผสมในแถบภาคกลาง ก็จะได้ผลในเรื่องการใช้ยางภายในประเทศอีกมาก เรื่องนี้ถึงเวลาที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการเร่งใช้ในประเทศให้มากที่สุด ให้ได้ร้อยละ 40 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศต่อปี เฉลี่ยต้องใช้ในประเทศให้ได้ราวปีละ 1.6 ล้านตัน จากผลผลิตทั้งหมดปีละ 4 ล้านตันตามที่วางไว้
“ที่สำคัญทางเครือข่ายขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวนโครงการประชารัฐที่นำผู้แปรรูปปลายน้ำ มาเจอกับกลางน้ำคือกลุ่มชุมนุมเกษตรกร และห้ามใช้วิธีการนำบริษัทคนกลางเข้ามาเจอผู้ประกอบการกลางน้ำ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการไปตัดขั้นตอน ทำให้ยางของผู้ประกอบการกลางน้ำคือยางของเครือข่ายเกษตรกรแทนที่จะเข้าตลาดกลางยางพาราตามระบบ แต่กลับไปเพิ่มคนกลางเข้ามาอีกช่วงต่อหนึ่งแล้วข้ามระบบที่เป็นอยู่เดิม ที่จริงแล้วในช่วงที่ราคาผันผวนแบบนี้ รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์สามารถใช้บริการบริษัทหรือสมาคมผู้ค้ายางพาราไทย โดยเรียกไปคุยเพื่อขอให้ช่วยเรื่องราคาได้ แต่ทำไมปล่อยให้ราคาตกลงมามากขนาดนี้ จวบจนวันนี้ราคาลดฮวมลงมาแล้วราว 17 บาท ภายในสัปดาห์เดียว ผลผลิตยางทั่วประเทศ 40 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ส่วนต่างจากราคาที่ตกต่ำนี้ทำให้รายได้เกษตรกรหายไปกว่า 400 ล้านบาทแล้ว”นายถนอมเกียรติระบุ
นายถนอมเกียรติกล่าวว่า ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ทางเครือข่ายจะนัดประชุมกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อกำหนดท่าทีเราไม่ต้องการให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทางการตลาด จากนั้นจะยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการยางแห่งแห่งประเทศไทย รวมถึงยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี
“ก็รู้ๆกันว่า เหตุการณ์ราคายางตกต่ำในวันนี้ มีผลจาก 5 เสือยางไทย ที่ใช้วิธีการเดิมทุบราคายาง โดยในครั้งนี้มีการทำงานแบบวางแผนไว้ล่วงหน้า ช่วงแรกให้คนออกประโคมข่าวผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ต่างๆ ปล่อยข่าวว่าบริษัทบริจสโตนไม่ยอมรับยางจากจากสถาบันเกษตรกร เพราะความยืดหยุ่นความสปริงไม่มี ปล่อยข่าวต่อเนื่องกัน 2-3วันก็ได้ผล หลายบริษัทประกาศไม่รับยางจากสถาบันเกษตกร จากนั้นบริษัทรับซื้อยางก็ประกาศราคาตัวเองออกมาที่ต่ำกว่าราคาตลาดกลาง ถึง 2-5 บาท เป็นที่มาของราคายางตกต่ำในครั้งนี้ ส่วนราคาจะตกลงไปกว่านี้หรือไม่ขึ้นกับผู้นำประเทศว่าจะยอมให้กลไกทุบราคายางดำเนินต่อไปหรือไม่ มันมีคนกลางที่บิดเบือนกลไกตลาดอยู่ และจะทำกำไรด้วยวิธีนี้เสมอ เพราะเรารู้กันว่าปีที่2559ที่ผ่านมา หลายบริษัทขาดทุนเพราะเก็งดีมานด์-ซับพลายไม่ถูก เลยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ขาดทุน ในปีนี้หลายบริษัทจึงใช้วิธีทุบราคายางเพื่อเอาคืน เรื่องนี้คนได้ประโยชน์คือพ่อค้าคนกลางส่งออก เพราะส่งออกราคาดี แต่กลับมาบิดเบือนกลไกราคาในประเทศให้ตกต่ำเพื่อเก็งกำไรมหาศาล วิธีการทุบราคาที่เกิดขึ้นส่งผลให้สถาบันเกษตรกรที่อยู่กลางน้ำได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากซื้อมาแพง แต่ต้องขายขาดทุน โดยปริมาณผลผลิตทั้งระบบของสถาบันเกษตกรเฉลี่ย 1 ล้านตันต่อปี และจากการบิดเบือนราคาทำให้รายได้เกษตรกรที่ผ่านสถาบันฯหายไปวันละไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท ”นายถนอมเกียรติกล่าว