กฤษฎีกาชี้ขาด ใช้ม.27พ.ร.บ.ศุลกากรฯ เล่นงานเอกชนทุจริตขอคืนภาษีนำเข้าเหล็กไม่ได้
กฤษฎีกา ตอบความเห็นทางกฎหมายกรมการต่างประเทศ ชี้ขาดใช้ ม.27 พ.ร.บ.ศุลกากรฯ เล่นงานกลุ่มเอกชนทุจริตขอคืนภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนไม่ได้ เหตุพ.ร.บ.ประกอบ 2 ฉบับ มิได้บัญญัติให้นำบทกำหนดความผิด-ลงโทษมาใช้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด หรืออากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ว่าสามารถนำมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาใช้บังคับได้หรือไม่ ภายหลังจากที่ กรมการต่างประเทศ ได้ทำเรื่องขอหารือ กรณีผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุแผ่นเรียบรีดร้อนทำด้วยเหล็กกล้าเจือเป็นม้วนจากจีน ในความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรและทุจริตขอคืนค่าภาษีอากร ได้อ้างสำเนาหนังสือ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ตอบข้อหารือของกรมศุลกากร ว่า อากรชั่วคราวมาตรา 23 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ซึ่งให้ถือว่าเป็นอากรขาเข้าที่เรียกเพิ่มขึ้นจากพิกัดอัตราศุลกากรนั้น โดยสภาพมิใช่อากรขาเข้าที่จะถือเป็นค่าภาษีหรืออากรตามมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ จึงไม่สามารถนำมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาใช้บังคับกรณีดังกล่าวได้ ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นว่า หากที่ผู้ลักลอบหนีศุลกากรหรือหลีกเลี่ยงการเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ จึงได้ทำเรื่องมาหารือกรมการค้าต่างประเทศ
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 14) มีความเห็นว่า พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการที่มีสินค้าชนิดเดียวกันที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดภายในประเทศ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน
ส่วน พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศจากที่มีสินค้าชนิดเดียวกันถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ซึ่ง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ อาจกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือมาตรการปกป้องการนำเข้าโดยกำหนดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องได้
อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ ในการเรียกเก็บอากรนั้น พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ได้บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยกรมศุลกากร และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับกับการเรียกเก็บอากรเสมือนเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนหรือคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง จึงสามารถเรียกเก็บอากรในลักษณะเดียวกันกับอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้
ส่วนประเด็นที่ว่า กรณีที่มีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรืออากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น สามารถนำมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาใช้บังคับกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไร นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 14) ระบุว่า โดยข้อเท็จจริงกรณีนี้ เป็นเรื่องการบังคับใช้บทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด
ขณะที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ประชุมใหญ่ เคยได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลม ต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า ให้นำบทกำหนดความผิดอาญาและบทกำหนดโทษของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นมาใช้บังคับแก่การนั้น เพราะบุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้น แต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ได้วินิจฉัยคำว่า ค่าอากร ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ หมายถึง ค่าอากร ในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่
ดังนั้น เมื่อมาตรา 49 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และมาตรา 23 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นฯ มิได้บัญญัติให้นำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดลงโทษตามกฎหมายด้วยศุลกากรมาใช้ในกรณีที่มีการเรียกเก็บอากรตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว จึงไม่สามารถนำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาใช้บังคับ เมื่อมีการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและอากรปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้
(อ่านข้อมูลมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ได้ที่นี่ http://www.customs.go.th/data_files/7301af1d80287088ccfb10e7a4ab03a9.pdf)