นักจิตวิทยาชี้สื่อหลักวิ่งตามโซเซียลมีเดีย เน้นรายได้ ลืมคุณค่าความเป็นมนุษย์
นักวิชาการจิตวิทยา จุฬาฯ ชำแหละสื่อหลักเสนอข่าวมุมเดียว มุ่งเพิ่มยอดผู้ชม จนลืมผลย้อนกลับทางลบ หวังนำเสนอข่าวกระตุ้นสังคม แยกแยะชัดเจน ‘ฆาตกร’ กับ ‘เน็ตไอดอล’ ด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิเคราะห์ SLVR คดี ‘เปรี้ยว’ เป็นที่สนใจ เผยเสนอ ผู้ต้องหา สวย-ร้าย-ดัง เป็นเรื่องน่ากลัว เชื่อมีคนแบบนี้อีกมากในสังคม
วันที่ 7 มิ.ย. 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 6 เรื่อง “ฆ่า หรือ ค่า : สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย” เพื่อนำเสนอมุมมองทางวิชาการต่อกรณีการนำเสนอข่าวผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพอำพรางคดี ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งพบสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นปรากฎการณ์ข่าวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการนำเสนอบางประเด็นข่าวที่เสมือนให้คุณค่าคนร้าย ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฆ่าคนเป็นเหตุการณ์ปกติ ส่วนจะเกิดขึ้นน้อยหรือมากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า โซเซียลมีเดียกลายเป็นผู้นำเสนอประเด็นจนกระทั่งไปไกลเกินกว่าเหตุ ทำให้สื่อกระแสหลักต้องนำเสนอตาม ซึ่งเข้าใจได้ เพราะสื่อเหล่านี้ต้องเอาตัวรอด แต่การนำเสนอของสื่อกระแสหลักนั้นกลับเป็นมุมมองเดียว กล่าวคือ ทำอย่างไรให้คนสนใจมากขึ้นเท่านั้น โดยลืมมองย้อนกลับมาในทางลบว่าจะเกิดแผลลึกในสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะเด็ก และคนที่กำลังหาตัวตนอยู่ จะเกิดพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องตามมา
“เราหยุดโซเซียลมีเดียไม่ได้ แม้จะบังคับใช้กฎหมาย แต่สื่อกระแสหลักช่วยกระตุ้นให้สังคมหยุดได้ โดยช่วยชี้แนะแยกแยะประเด็นให้ชัดว่า ‘ฆาตกร’ คืออะไร และ ‘เน็ตไอดอล’ คืออะไร” นักวิชาการด้านจิตวิทยา กล่าว และว่า หากไม่ตระหนักหรือป้องกันตั้งแต่วันนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงจะตามมาอีกเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันสื่อกระแสหลักเน้นวัถตุ รายได้ จนลืมคุณค่าความเป็นมนุษย์
ส่วนหลายคนไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดสื่อกระแสหลักถึงให้พื้นที่ผู้ต้องหามากเกินไป ในประเด็นนำสินค้ามาจำหน่าย หรือมีแฟนคลับตั้งกลุ่มสนับสนุนผู้ต้องหา รศ.ดร.สมโภชน์ ระบุว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ล้วน ๆ การนำเสนอเพื่อดึงดูดให้คนติดตามและมียอดขาย หากไม่นำเสนอตามกระแสสังคม จะอยู่ไม่รอด เพราะคนดูโทรทัศน์และอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง เท่านั้นเอง
ด้านผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจนไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า การนำเสนอข่าว ‘เปรี้ยว’ มีความไม่เหมาะสมตามประเด็น SLVR คือ
S (SEX) เรื่องราวเกี่ยวกับเพศ มีความครบถ้วนเกี่ยวกับเพศมาก มีการพูดถึงสรีระของผู้ต้องหาอย่างโจ่งครึ่ม แม้สื่อกระแสหลักจะไม่ได้พูด แต่มีการนำมาผลิตซ้ำ อย่างเช่น สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่มีการนำเสนอคลิปเซ็กส์โฟนของผู้ต้องหา และบรรยายประกอบว่า มีเสียงคราง เป็นต้น
L (Langguage) มีการใช้คำสรรพนามเรียกผู้ต้องหา ‘น้อง’ หรือ ‘อี’ หรือคำอื่น ๆ และยังมีสมญานาม ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ มีภาษาภาพ นำเสนอภาพนั่งอยู่กับกองเงินจำนวนมาก ภาพโชว์ใบหน้า สิ่งเหล่านี้มีการนำผลิตซ้ำบ่อยครั้ง โดยไม่รู้เลยว่า อาจจะกลายเป็นต้นแบบให้แก่เด็กวุฒิภาวะน้อยได้
V (Violence) ความรุนแรง ที่ผ่านมาสื่อไม่ได้นำเสนอเหยื่อ ซึ่งเป็นผู้รับผล เท่ากับบรรยายผู้ลงมือกระทำ ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นถูกกลบลบหาย
R (Representation) ภาพตัวแทน มีการนำเสนอผู้ต้องหาในภาพตัวแทน สวยร้าย สวยเจ็บ ลูกกตัญญู แต่ยังมีอีกภาพตัวแทนหนึ่งที่สื่อยังไม่ได้นำเสนอ คือ มีบุคคลลักษณะผู้ต้องหาอีกมากในสังคมไทย ที่ทำทุกอย่างเพื่อหาเงิน เพื่อให้ให้เกิดการยอมรับ โดยการโพสต์ภาพการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยิ่งไปกว่านั้นการนำเสนอว่า ผู้ต้องหา สวย ร้าย ดัง ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกับการนำเสนอภาพตัวแทนแบบนี้
“วิกฤตครั้งนี้จะทำให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันว่า สื่อมวลชนวิชาชีพกับสื่อสังคมออนไลน์แตกต่างกันตรงไหน แต่บังเอิญเพียงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่มีความต่าง และยังเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่ซาและหายไป เหมือนอย่างที่นักจิตวิทยาบางท่านกล่าวไว้ แต่จะยังคงทิ้งร่องรอย” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว
ขณะที่ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นักวิชาชีพสื่อมวลชนต้องการสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า จะได้อะไรจากการนำเสนอข่าวนั้น ตั้งคำถามว่า กรณี ‘เปรี้ยว’ ทำไมต้องอยากรู้ว่า มีแฟนกี่คน เคยมีอะไรกันหรือไม่ หรือสื่อพากันสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเปรี้ยว แม้แต่นักบิน ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเชิงปริมาณมากก็ได้
ดังนั้นความรับผิดชอบในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีนักวิชาชีพสื่อมวลชนบางท่านระบุว่า สังคมชอบ จึงต้องนำเสนอข่าว ตรงกันข้าม คิดว่า ควรมาปรับปรุงแก้ไขที่ตัวเราว่าจะทำข่าวให้ดีได้อย่างไร สื่อกระแสหลักไม่จำเป็นต้องตามกระแสในโลกโซเซียลมีเดีย หรือเพจนักสืบต่าง ๆ หากลงไปเล่นด้วยจะตามหลังทันที และไม่เกิดการแข่งขัน แต่ควรใช้จุดแข็งในเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ชมเห็นความแตกต่าง
“หากสนใจ ‘มูลค่า’ มากกว่า ‘คุณค่า’ สื่อจะฆ่าสังคม และกำลังจะฆ่าตัวเองตาย เรียกว่าตายกันหมดเลย โดยไม่มีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งการนำเสนอข่าว ‘เปรี้ยว’ ก็กำลังจะค่อย ๆ ฆ่าตัวเองทีละนิด ๆ” ผศ.มรรยาท กล่าว