ไทยติดอันดับบริจาค แต่เน้นวัด-ศาสนา เอวีพีเอ็นเสนอเปลี่ยน "วัฒนธรรม" เป็นลงทุนทางสังคม
เอวีพีเอ็น เผยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยคนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพพื้นฐานทั่วถึง ขณะที่ปัญหาใหญ่คือคุณภาพการศึกษาระหว่างเมือง-ชนบทเหลื่อมล้ำ ชี้คนไทยชอบบริจาคแต่ไม่เจาะจงเป้าหมาย
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติแนนทัล อาเซียน เวนเจอร์ ฟิแลนโธรพี เน็ตเวิร์คหรือ AVPN ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย จัดงานประชุมการลงทุนเพื่อสังคมระดับแนวหน้าของเอเชีย
นายเควิน เถียว กรรมการผู้จัดการศูนย์ความรู้ของAVPN รายงานว่า จากข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงตัวชี้วัดด้านสวัสดิการสังคมที่น่าสนใจ โดยในปี 2558 เด็กไทยทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาในระดับประถม รวมถึงคนไทยทุกคนได้รับประกันสุขภาพที่ได้มาจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เช่น การแบ่งแยกระหว่างชนบทและเมือง คุณภาพที่แตกต่างกันในระบบการศึกษาของรัฐบาล ความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความใส่ใจมากขึ้น
นายเควิน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมในการช่วยเหลือ บริจาคที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน จึงทำให้ไทยอยู่ในประเทศลำดับต้นๆ ของอัตราจำนวนผู้ให้บริจาคเพื่อการกุศล แต่การบริจาคส่วนใหญ่เป็นการบริจาคให้กับวัดและมูลนิธิทางศาสนา ซึ่งเป็นการบริจาคที่ไม่มีวาระเจาะจง ดังนั้นสิ่งที่เราอยากเห็นคือการกำหนดกลยุทธ์ แนวทางเปลี่ยนการบริจาคที่ไม่เจาะจงให้เป็นการลงทุนทางสังคม
ด้านนางนัยนา ซูบเบอร์วัล บัตตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AVPN กล่าวว่า ผลงงานวิจัย “ภาพรวมการลงทุนทางสังคมในเอเชีย” ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายในการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้นักลงทุนเพื่อสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในด้านที่ประเทศนั้นๆ ต้องการ ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนามต้องเผชิญกับความท้าทายทางสังคมที่เร่งด่วนในด้านสุขภาพอนามัย การต่อสู้กับความชราภาพ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น แรงงานที่ลดลง ผลผลิตด้านแรงงานและความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในด้านการเข้าถึงพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จนถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศหมู่เกาะในเอเชีย
“นักลงทุนเพื่อสังคมที่เข้ามาลงทุนในเอเชีย บางครั้งมักจะตั้งสมมติฐานด้านความต้องการของเอเชียโดยไม่คำนึกถึงคำถามที่วสำคัญก่อนว่า ปัญหาคืออะไร” นางนัยนา กล่าวและว่า ในขณะที่ไม่มีรูปแบบตายตัวในาการแก้ปัญหา จุดสำคัญของรายงานนี้คือการแสดงให้เห็นถึงความเหมือนของแต่ประเทศในเอเชีย ซึ่งมีวัฒนธรรมในการช่วยเหลือและบริจาคมายาวนาน เราหวังว่ารายงานนี้จะให้ข้อมูลและแนวทางที่จำเป็นเพื่อช่วยให้นักการกุศลได้มีโอกาสช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและเกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ราว 30 ประเทศกว่า 600 คน ที่จะเข้ามาร่วมเสนอมุมมองหลากหลายของนักลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งมีมูลนิธิระดับโลกอย่างเช่น มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิเพื่อสันติซาซากาวะ เป็นต้น และยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการกุศลและการลงทุนเพื่อสังคม อย่าง โคคา-โคล่า กูเกิล เครดิต สวิส เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย
นอกจากนี้ภายในงานยังเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีโปรเจ็คเพื่อสังคมเข้ามาเสนอโครงการของตนในงานจัดแสดงการลงทุนดีลแชร์ไลฟว์ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดการแสดงวงาน ดีลแชร์ไลฟว์ ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการประชุม เห็นได้จากอัตราความสำเร็จขององค์กรที่เข้ามาเสนอโครงการอยู่ที่ร้อยละ 25