ตลาดแรงงานไทยหดตัว ทีดีอาร์ไอห่วง พัฒนาไม่ทันเทคโนโลยี
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผย ตลาดแรงงานลดลง 1 ล้านอัตรา ผลพวงเศรษฐกิจยังหดตัว ขณะที่ห่วงไทยพัฒนาคนไม่ทันการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2560 ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง อัตราการว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลว่า การที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ย่อมจะมีผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานในตลาดแรงงานซึ่งไทยมีกำลังแรงงานในเดือนมกราคม 2560 ประมาณ 37.8 ล้านคน มีขนาดตลาดแรงงานเป็นลำดับที่ 4 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ตลาดแรงงานของไทยเริ่มมีกำลังแรงงานลดลง โดยปี 2559 มีกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน ปีปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคน แต่ประเทศในอาเซียนที่กล่าวถึงข้างต้น กลับมีจำนวนกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น การที่กำลังแรงงานลดลงแต่ความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน แต่จำนวนดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงานได้ครบถ้วนทำให้ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี
“การขาดแคลนกำลังแรงงานเรื้อรังมานานเป็นผลจากการที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามากเนื่องจากสามารถใช้นโยบายพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เกือบ 3 ล้านคน กระจายอยู่แทบทุกสาขาการผลิตและบริการของสถานประกอบการของเอกชน โดยแรงงานคนไทยเข้าไปแทนที่ (replacement) น้อยมากเนื่องจากกำลังแรงงานของไทยไม่ชอบงานหนัก งานยากลำบาก และงานสกปรก” ดร.ยงยุทธ กล่าว และว่า กลับกันแรงงานไทยเลือกตกงานมากกว่าจะไปทำงานทดแทนแรงงานต่างด้าวหรือเลือกเดินต่อไปในสายปริญญา โดยเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนที่ดี จะมีอนาคตที่ดีกว่า
ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า จากการประเมินของ TDRI พบว่า ตลาดแรงงานในช่วง 10 ปีข้างหน้า แรงงานระดับกลางในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างปี 2558 ถึงปี 2568 เติบโตค่อนข้างช้ามากจาก 7 แสนคนเป็น 1 ล้านคนหรือเติบโตเพียงปีละ 3 หมื่นคน ขณะที่แนวโน้มแรงงานไทยในระดับ ปวส. และอนุปริญญา เติบโตจาก 1 ล้านคนเป็น 1.1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์และสถิติ) ซึ่งเป็นแรงงานพื้นฐานของเศรษฐกิจตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับภาพที่ปรากฏในตลาดแรงงานสายที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีความแตกต่างกับสาย S&T ที่กล่าวมาคือ ความต้องการบุคลากรในสายธุรกิจและบริการและสาขาอื่นๆ ในระดับ ปวช. เพิ่มสูงมากจากประมาณ 0.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนในช่วงเวลา 1 ทศวรรษประมาณปีละ 1.2 แสนคน แต่ความต้องการของตลาดแรงงานในระดับ ปวส. และอนุปริญญาในสาขาที่ไม่ใช่ S&T กลับมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 0.8 ล้านคนเหลือ 0.6 ล้านคน ผลจากการที่อุปสงค์เพิ่มน้อยกว่าอุปทานก็คือจะทำให้ ปวส. และอนุปริญญาสายที่ไม่ใช่ S&T ว่างงานจำนวนมากก็เป็นไปได้
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีการเติบโตไปในทิศทางที่ต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น นักศึกษาที่จบสาย S&T จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานมากกว่าผู้เรียนสาย Non-S&T ความหวังจึงอยู่ที่การขยายตัวของภาคบริการของประเทศทั้งในส่วนของบริการขายส่ง ขายปลีกและซ่อมบำรุง และงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ (ถ้าไม่เลือกงาน) น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทยได้เข้ามาสมัครงานมากขึ้น
“ความหนักใจของผู้กำหนดนโยบายการผลิตกำลังคนของประเทศคือ อุปสงค์ในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีพลวัตสูง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดแรงงานผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย ขณะที่การผลิตกำลังคนไม่ง่ายเหมือนการผลิตสินค้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับตัวหลายปี ทุกครั้งที่โครงสร้างตลาดแรงงานด้านอุปสงค์เปลี่ยนแปลงไป”
ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงสิ่งที่น่าห่วงตอนนี้ภาคreal sector ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตร ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปธรรม และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาคนของประเทศไปในทิศทางที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวให้เร็วที่สุดคือ ต้องเตรียมคนให้เป็นกำลังแรงงานที่ฉลาดและความสามารถพิเศษ(Talent) และแข่งขันได้ ต้องพัฒนากำลังแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยต้องวางแผนผลิตกำลังคนในระดับชาติไว้อย่างชัดเจน โดยมีจุดเน้นว่าจะทำอย่างไรกับกำลังแรงงานในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีความสามารถพิเศษเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง
“เราจะบริหารจัดการกระแส (flow) คนเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง ผลิตไม่ตรงสาขาที่ต้องการบ้าง ที่ออกสู่ตลาดแรงงานหลายแสนคนทุกปีด้วยระบบการผลิตกำลังคนแบบเดิมๆ ความฝันที่จะใช้กำลังแรงงานแบบเดิมๆ ไทยแลนด์ 4.0 คงไม่ไปถึงไหน เราควรจะต้องสร้างตลาดแรงงานคนที่ฉลาดและมีความสามารถพิเศษขึ้นมา”