ครม.-สนช.อาจถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จัดทำโครงการ หรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยเป็นเครื่องมือของ สนช.และ ครม.ที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองของมาตรา 144 ที่จะอธิบายให้เห็น ดังนี้
(ขอท่านสาธุชนได้โปรดดูรูป “แพะรับบาป” และหา “มตกภัตตชาดก” ที่พระพุทธองค์ได้สาธกไว้ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีมาอ่านประกอบบทความนี้)
ตามวรรคหนึ่งห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันได้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นี้แทน และได้แปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการของงบประมาณรายจ่ายที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้ แต่ต้องมิใช่เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
(2) ดอกเบี้ยเงินกู้
(3) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ได้มีการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นความผิดที่เสร็จเด็ดขาดแล้ว โดยตัดลดรายจ่ายตามข้อผูกพันใน (1) และ (2) ไปจำนวนหนึ่งและนำไปเพิ่มงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น และของส่วนราชการบางหน่วยงาน การกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตกเป็น “แพะรับบาป” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่บัญญัติความรับผิดไว้ ดังนี้
การฝ่าฝืนตามวรรคสองที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะตกเป็นบาปเคราะห์อันสืบเนื่องมาจากฝ่าฝืนการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือของคณะกรรมาธิการที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้
เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีที่ท่านต้องปฏิบัติให้ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจก็ตาม เพราะสนช.ชุดนี้หลายท่านสวมหมวกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับหัวหน้าส่วนราชการอยู่ด้วย ได้แก่ อธิบดี ปลัดกระทรวง แม่ทัพ ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็รู้ดีว่ามีการดำเนินการอันฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ได้แก่การแปรญัตติตัดลดรายจ่ายตามข้อผูกพันและนำไปเพิ่มรายการเงินสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินจำเป็นหรือของส่วนราชการบางแห่ง โดยเจ้าที่ของรัฐผู้นั้นได้รับมอบหมายให้ทำโครงการเพื่อขอใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายอ้างเหตุว่ามีกรณีฉุกเฉินจำเป็นที่กระทำอย่างนี้มานานแล้ว เสนอต่อผู้บังคับบัญชาโดยรู้ว่ารายการนี้มีวงเงินจำนวนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากการแปรญัตติที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5
การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวนี้ในเบื้องต้น ท่านอาจได้รับความดีความชอบแต่ในอนาคตอยู่ในข่ายที่จะต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนั้นคืนพร้อมดอกเบี้ย ภายในยี่สิบปีตามมาตรา 144 นับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณเช่นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นให้แก่ส่วนราชการนั้น
แต่มีข้อยกเว้นที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ พ้นความรับผิดแต่จะต้องจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรคสี่กำหนดไว้สองประการ ดังนี้
1. จะต้องบันทึกโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ
2. มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการปปช.ทราบ
การบันทึกโต้แย้งเป็นหนังสือเป็นเรื่องทำได้ยากเป็นภัยกับอนาคตในการรับราชการของท่านเอง เพราะในเทศกาลนี้จะหาผู้บังคับบัญชาที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยและยอบรับฟังการโต้แย้งดังเช่นในสมัยที่ผมรับราชการอยู่ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังที่มีท่านบุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นอธิบดี และปลัดกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ท่านมี “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” ยอมรับฟังคำโต้แย้งของผู้ใต้บังคับบัญชาอันเป็นที่ทราบกันของชาวคลังในยุคนั้น
จึงขอแนะนำให้ท่านใช้วิธีการตาม 2 คือมีหนังสือแจ้งให้ ปปช.ทราบ เพราะผมยังไว้วางใจหน่วยงานนี้ที่ผมเคยเป็นกรรมการป.ป.ป มาสองสมัยและเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายปชชฉบับนี้ เชื่อว่ายังพอมี “แก่น” ที่ไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง และเรื่องอย่างนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ ปปช.ได้อย่างดี
ในกรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อได้รับแจ้ง จะต้องดำเนินการสอบสวนเป็นทาง “ลับ” โดยพลัน
หาก ปปช.เห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการตามวรรคสามต่อไป
ขั้นตอนนี้แหละสำคัญมาก เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนจริง การกระทำนั้นๆเป็นอันสิ้นผลทันที และเป็นผลให้สมาชิก สนช.ที่ได้มีการกระทำฝ่าฝืนนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพ และยังถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย
ส่วนคณะรัฐมนตรีถ้าเป็นผู้กระทำหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน
ท่านที่อยู่ในข่ายที่จะต้องรับผิดในเรื่องนี้ไม่ว่าเป็นสนช.หรือรัฐมนตรี อาจโต้แย้งผมว่า มาตรา 144 นี้ใช้บังคับกับสมาชิกรัฐสภาและครม.ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น เดิมในชั้นยกร่างของกรรมการผมก็คิดเช่นนี้ แต่เมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว อ่านบทเฉพาะกาลหลายๆเที่ยวแล้ว เห็นว่าใช้บังคับกับสนช.และครม.ชุดนี้ด้วย
แต่อย่าเชื่อผมขอให้เชื่อ หลัก “กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10” ของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ให้วินิจฉัยเรื่องนี้
แต่ผมเชื่อว่าเป็นการพ้นวิสัยที่ สนช.ที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอแต่งตั้งมาทั้งหมดจะมีการเข้าชื่อกันหนึ่งในสิบเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ คงต้องรอ “ให้น้ำท่วมหลังเป็ด” เสียก่อน
ผมจึงเขียนบทความในตอนนี้เพื่อเป็นหลักใช้ป้องกันตนเองให้ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่อยู่ในข่าย “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” ขอให้ใช้สิทธิของท่านตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ โดยรีบเร่งทำหนังสือแจ้งไปยังปปช.ตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านจะได้ไม่ต้องมีกระดูกมาแขวนคอถึงยี่สิบปี
ส่วนจะยกร่างหนังสืออย่างไร ? ผมมีตัวให้ท่านดูในบทความนี้ครั้งต่อไป
ประเทศไทยอาจจะได้ปลัดกระทรวงมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก เพราะครม.ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 144 นี้จะอยู่ปฏิบัติต่อไปมิได้