บันทึกรอมฎอน...ศีลอดครั้งแรกในเดือนอันประเสริฐ
รอมฎอน...เดือนอันประเสริฐที่มุสลิมทั่วโลกตั้งใจถือศีลอดทั้งอาหารและน้ำ ปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนผลบุญ
วิถีแห่งอิสลามทำให้มุสลิมแทบทุกคนถือศีลอด หรือ “บวช” เป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด และเกือบจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ
แต่แง่มุมที่น่าสนใจก็คือ หากย้อนไปถึงความตั้งใจและความรู้สึกในการถือศีลอดครั้งแรกของแต่ละคน พวกเขาและเธอคิดอะไรในเวลานั้น นับเป็นสิ่งที่น่าค้นหา...
นาอีมะห์ ยูโซะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ลูกหลานชาวปัตตานี บอกเล่าประสบการณ์การถือศีลอดของเธอว่า ทำให้ได้จัดระบบการจัดการในการทำอิบาดะห์ (การทำความดี) ต่างๆ ทั้งเดือน
“เริ่มถือศีลอดตอนอยู่ ป.1 เพราะเจ๊ะฆู (ครูตาดีกา) ที่โรงเรียนตาดีกาแนะนำ บวกกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ เมื่อจะเข้าสู่เดือนรอมฎอนทีไรจะมีความรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ตื่นเต้นทุกปีเมื่อจะพบกับเดือนอันประเสริฐ เพราะเจ๊ะฆูมักเล่าถึงผลบุญที่เราจะได้รับถ้าหากว่าถือศีลอดในเดือนนี้ บางครั้งจะมีการนัดหมายกับเพื่อนๆ ในกลุ่มสัญญากันว่าต้องถือศีลอดให้ครบทั้งวัน”
“เดือนนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การมีน้ำอดน้ำทนของตัวเองและคนรอบข้าง เพราะต้องอดอาหารและน้ำในเวลากลางวัน ทั้งยังฝึกความอดทนในการยืนนานๆ เพื่อละหมาดตอนกลางคืน (ละหมาดตะระเวียะฮ) รับรู้ถึงความรู้สึกของพี่น้องในต่างแดนที่ไม่มีอาหารกินว่าเป็นอย่างไร ประเด็นนี้เจ๊ะฆูชอบเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ เพราะอยากให้พวกเรามีความซูโกร (ยำเกรง) ต่ออัลลอฮ์ให้มากๆ ที่มอบริสกี (ปัจจัยยังชีพ) ให้กับเรา”
เมื่อโตขึ้น นาอีมะห์ได้เข้าใจการถือศีลอดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำอิบาดะห์และการจัดการเวลาของตัวเองในการอ่านอัลกุรอาน
“รอมฎอนคือเดือนแห่งการใคร่ครวญ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับประโยคนี้ดี ทำให้เราได้รับรู้ถึงตัวตนของตัวเองมากที่สุด พูดได้ว่าทุกๆ อิบาดะห์ต่างมีรสชาติเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ร่วมกันใคร่ครวญและพยายามเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีหลายๆ อย่างในเดือนอันประเสริฐนี้นำมาเป็นบทเรียนของชีวิตเพื่อให้หัวใจและชีวิตของเราได้ลิ้มรสการทำอิบาดะห์อย่างแท้จริง”
“เช่น เราจะมีความยำเกรง เพราะอัลลอฮ์บัญญัติไว้ในอัลกุรอาน บทอัล-บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 183 การอ่านกุรอาน การหยิบกุรอานมาอ่าน ท่องจำ ศึกษาเรียนรู้ และนำสู่การปฏิบัตินั้น เป็นการแสดงออกถึงความรักและความคิดถึงที่มีต่อรอมฎอน เพราะรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา อัลกุรอาน บท อัล-บะเกาะเราะฮ โองการที่ 185 และมีสิ่งที่ดีอีกหลายๆประการ”
“ช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อไปเรียนไกลบ้านและใช้ชีวิตนอกบ้านก็จะเกิดปัญหา เกิดอุปสรรคเรื่องอาหารการกินบ้าง เพื่อนส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถือศีลอดถึงหนึ่งเดือน แล้วไม่หิวเหรอ ทรมานตัวเอง และอีกหลายๆ คำถามจากคนต่างศาสนา เราพร้อมที่จะตอบ ปัจจุบันสถานที่ที่ไปเรียนและอาศัยอยู่มีร้านอาหารอิสลามมาเปิดพอประมาณ ทำให้มีอาหารฮาลาลมากขึ้น ก่อนหน้านี้จะออกไปซื้อของสดที่มาตุนไว้ในตู้เย็นและทำกินกันหลายๆ คนกับรุ่นพี่ แต่ยังมีความรู้สึกว่ากินอาหารที่อื่นก็ไม่อร่อยเท่ากินพร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัวที่บ้าน แต่ต้องเรียนหนังสือจึงต้องทำใจและสู้ต่อไป”
นาอีมะห์ ฝากว่า ไม่จะอยู่ในเดือนไหนก็สามารถทำความดีและถือศีลอดได้ เพราะมีการถือศีลอดสุนัตในทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
สุนิดา อรรถอนุชิต อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) บอกว่า ชอบรอมฎอนในวัยเด็กมาก มีขนมและของกินเยอะ คุณยายชอบทำขนม ชอบแอบดู ท่านบอกว่าถ้าไม่บวชก็ไม่ให้กิน ให้กินหลังคนเปิดบวชกิน
“ตอนนั้นคิดแต่อยากกินขนม ได้กินพร้อมผู้ใหญ่ ก็เลยบวชครั้งแรกตอน ป.4 แต่ไม่รู้ว่าบวชไปทำไม บวชก็คือบวช หิวก็คือหิว ไม่ได้คิดว่าอัลลอฮ์ใช้ให้ทำ พอ ม.1 เรียนมัธยมก็แอบกินขนมกับเพื่อนบ้าง จนโตขึ้นได้หาคำตอบว่าบวชเพื่ออะไร ทั้งตั้งคำถามและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าการถือศีลอดช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายเข้ากันดีมาก ทางการแพทย์ยอมรับว่าอินทผลัมมีประโยชน์ที่ต้องกินเวลาละศีลอด”
“การยืนละหมาดตะระเวียะฮ์ที่นานกว่าปกติ เมื่อไปละหมาดได้เข้าใจเด็กๆ ที่มากับพ่อแม่ มีเมตตากับเขามากขึ้น สอนวิธีคิดให้เขา ถือศีลอดมาทั้งวันคือการให้อภัยกัน เมื่อเราตัดสินใจเปลี่ยนแปลงจะมีบททดสอบมา เมื่อรู้จักการให้ อัลลอฮ์จะตอบแทนเรามากขึ้น เมื่อเรายืนหยัด อัลลอฮ์จะช่วยเราทุกอย่าง เราได้บอกลูกชายต่อถึงความสำคัญของเดือนรอมฏอน มองทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายในการปฏิบัติ”
ซูโกร มะลี เด็กชายวัย 10 ขวบ ที่ถือศีลอดได้เป็นปีที่ 2 บอกว่า หากตั้งใจแล้วสามารถทำได้จริง
“เริ่มบวชเมื่อปีที่แล้ว เริ่มจากครึ่งวันก่อน แล้วมาเป็นเต็มวัน วันแรกๆ ก็มีปวดท้องบ้าง เวียนหัว พยายามและตั้งใจว่าต้องทำให้ได้ ได้เรียนรู้ความดีและความสำคัญของเดือนรอมฎอนจากพ่อ ครูที่โรงเรียน และตาดีกา ตั้งใจว่าปีนี้ต้องบวชให้ครบเดือน ตื่นเช้ามาทานซุโฮร์ (มื้อเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น) ไปโรงเรียน ทำกิจกรรม เล่นกับเพื่อน กลับมาบ้าน ช่วยงานบ้าน รอเวลาเปิดบวชตอนเย็น ร่างกายปรับตัวได้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว อยากให้เพื่อนๆ ลองบวชสักครึ่งวัน แล้วค่อยมาบวชเต็มวัน จากนั้นก็จะทำได้เอง สำคัญคือต้องตั้งใจทำ”
มุมมองของพี่น้องชาวพุทธที่ร่วมปฏิบัติในเดือนนี้ เช่น งามศุกร์ รัตนเสถียร จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 7 ในการฝึกฝนตัวเองของเธอ เพื่อเข้าใจถึงความรู้สึกของเพื่อนๆ มุสลิมและผู้คนที่เข้าไม่ถึงอาหาร
“ปีนี้ช่วง 3 วันแรกของการอดอาหารอยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้การเตรียมอาหารค่อนข้างขลุกขลัก แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานและพนักงานโรงแรม เป็น 3 วันที่ทรมานไม่น้อย เพราะช่วงเย็นจะมีอาการปวดหัว เนื่องจากหยุดกาแฟกะทันหัน หลังจาก 3 วันอาการก็ดีขึ้น แต่ก็มาเผชิญกับความหิว โดยเฉพาะช่วงเวลาราวๆ 17.00 น. อาการหิวจะพุ่งมาก จนบางครั้งอยากจะล้มเลิก ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า อีกแค่ชั่วโมงกว่าๆ เอง ก็ช่วยให้อยู่กับความหิวไป จนมันผ่านไปถึงเวลาที่กำหนดของแต่ละวันได้”
“เพื่อนที่ทำงานซึ่งเป็นชาวพุทธ ได้เรียนรู้ว่าเวลาในการออกบวชแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน เรารู้สึกดีใจทุกครั้งที่ทำให้เพื่อนๆ ในออฟฟิศเข้าใจการถือศีลอดมากขึ้น เวลาที่พวกเขาเจอกับเพื่อนๆ มุสลิมก็จะรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรในช่วงเดือนนี้ หรือแม้กระทั่งกับตัวเองที่ร่วมอดด้วย”
“ช่วงเวลาที่เผชิญกับความหิวทำให้เราตระหนักชัดถึงความรู้สึกของผู้คนยากไร้ ซึ่งเป็นบทเรียนจากการปฏิบัติที่สำคัญยิ่ง จากการปฏิบัติที่ผ่านมายิ่งทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจมากขึ้น เพราะมันจะเป็นหมุดหมายที่จะทำให้เราต่างลงมือกระทำการบางอย่างต่อเพื่อนมนุษย์”
นี่คือความลึกซึ้งของอิสลาม ศาสนาที่สอนให้ทุกคนทำดี เข้าอกเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผ่านการถือศีลอดในเดือนอันประเสริฐ...รอมฎอน
----------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : เลขา เกลี้ยงเกลา
ภาพ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คของ นาอีมาห์ และ งามศุกร์
อ่านประกอบ : 27 พ.ค.เริ่มถือศีลอดวันแรก!