ตัวแทนวิทยุชุมชนครวญเป็นผู้ร้ายสังคม จี้กสทช.เอาผิดสื่อใหญ่โฆษณาแฝง-เกินจริง
เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้-ผอ.สำนักยา ชี้เคเบิลทีวีวิทยุชุมชนเป็นสื่อโฆษณาเกินจริงมากสุด แนะกสทช.หนุนชุมชนรับมือ-ตรวจสอบ ขณะที่ตัวแทนวิทยุชุมชนโอดครวญอย่าโยนบาปให้สื่อท้องถิ่น จี้เอาผิดสื่อกระแสหลักโฆษณาแฝง-เกินจริง
เมื่อวันที่ 29 ก.พ. กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)จัดเสวนาถึงแนวทางการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในโฆษณาวิทยุและโทรทัศน์ในยุคกสทช. ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. กล่าวว่า การจัดเสวนาเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การโฆษณาวิทยุโทรทัศน์ที่เอาเปรียบละเมิดผู้บริโภคส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณะต่อการดำเนินงานของกสทช.
“การโฆษณาเป็นเรื่องที่กระทบโดยตรงกับผู้บริโภค เพราะเกี่ยวข้องกับฟรีทีวีทุกช่อง เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุของรัฐ วิทยุชุมชน เกณฑ์การออกใบอนุญาตตจะมาพร้อมกับเงื่อนไขที่คำนึงสิทธิผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยรับฝังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม ” น.ส.สุภิญญา กล่าว
เภสัชกร วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนายการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อต้นปีนี้มีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการโฆษณาเรื่องยา 200 ราย เครื่องสำอางกว่า 500 ราย สื่อที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือนิตยสาร ถัดมาคือเคเบิ้ลทีวีและเว็บไซต์ แต่ที่หนักใจคือ เว็บไซต์ วิทยุชุมชน และทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี เพราะเข้ามาควบคุมดูแลได้ยาก
“มาตรการที่อยากเห็นคือการสร้างเครือข่ายประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง สร้างสื่อน้ำดีมาไล่น้ำเสียรวมทั้งใช้มาตรการทางหมายที่เด็ดขาดกับผู้ฝ่าฝืน สื่อไหนนิสัยไม่ดีไม่ต้องต่อใบอนุญาต โดยให้มีกฎหมายกำชับให้ทุกสถานีมีการบันทึกเทปที่ออกอากาศไปแล้วเพื่อเป็นหลักฐาน กำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน กำหนดเวลาโฆษณาให้เหมาะสม จัดงบประมาณ ส่งเสริมสนับสนุนคุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนชุมชนให้มีความพร้อมในการเข้ามากำกับดูแลสื่อท้องถิ่นด้วย” ผู้อำนายการสำนักยา กล่าว
สิรินนา เพชรรัตน์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ จ. สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการทำงานเฝ้าระวังการโฆษณาทางวิทยุ และเคเบิลทีวีในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล และตรัง พบเคเบิ้ลกว่า 50 สถานีมีการโฆษณาเกินจริง มีการทำผิดต่อเนื่องไม่เกรงกลัวกฎหมาย ส่วนใหญ่จะโฆษณาด้านความงาม อาหารเสริม และการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
“ปัญหาที่พบเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้รับสื่อ เพราะเคยมีคนเสียชีวิตจากการใช้ยาที่โฆษณาเกินจริงมาแล้ว ซึ่งนอกจากการกำกับดูแลที่อ่อยด้อยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้บริโภคเองก็ขาดองค์ความรู้ บทลงโทษคนทำผิดค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเอาผิดที่ผลิตภัณฑ์ แต่สถานีที่เผยแพร่โฆษณาไม่มีการลงโทษ องค์กรที่เกี่ยวข้องก็ทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก กสทช.ต้องสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนและกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนให้เด็ดขาด” ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าว
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมเนื้อหา การโฆษณาสคบ.หรือ อย. ต้องชี้ให้ชัดว่าโฆษณาชิ้นไหนที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่โยนภาระให้เคเบิลหรือทีวีดาวเทียมใช้ดุลยพินิจเอง อีกทั้งผู้บริโภคต้องชี้ด้วยว่าซื้อสินค้ามาจากโฆษณาผ่านสถานีไหน เพื่อจะได้มีการติดต่อไปยังสถานีนั้นๆให้ดำเนินการ ถ้ารู้ช่องทางการเอาผิดการโฆษณาหรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายแบบนี้ก็สามารถจัดการได้เลยไม่ต้องรอแผนแม่บทกสทช.เพราะล่าช้าเกินไป
“ผลกระทบจากคนดูฟรีทีวีประมาณ 25 ล้านคน แต่ถ้าออกทีวีดาวเทียมเฉลี่ยที่ 5 ล้านคน แต่ถ้าเป็นเคเบิ้ลประมาณ 2 พันครัวเรือน ตรงนี้มันต่างกันจึงอยากฝากกสทช. ให้จัดลำดับดูแลสื่อประเภทต่างๆตามความสำคัญและจำนวนคนดู เพราะไม่เช่นนั้นแม้แต่สินค้าเอสเอ็มอีหรือโอทอปก็จะโฆษณาไม่ได้” อุปนายกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าว
นายพรพิพัฒน์ วัดอักษร สมาชิกสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการโฆษณาในวิทยุชุมชนเกิดจากการที่กรมประชาสัมพันธ์ขณะนั้นอนุญาตให้ทำได้ ทั้งที่เมื่อก่อนวิทยุชุมชนเกิดขึ้นและเป็นไปตามเจตนารมณ์ทุกอย่าง การทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลโฆษณา เช่น อย.หรือสคบ. ควรทำงานร่วมกันและชัดเจนในแนวทางปฏิบัติในการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่โทษแต่วิทยุชุมชน ขณะที่กสทช.ควรจะรู้ว่าองค์กรไหน สื่อช่องไหนทำอะไรบ้าง และควรจะทำให้เกิดองค์ความรู้เพื่อให้สื่อพัฒนาตนเอง สามารถเข้าไปช่วยเกื้อหนุนกันได้ สื่อกระแสหลักต้องชัดเจนก่อน ไม่ใช่โทษแต่สื่อขนาดเล็กและโยนให้เป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม
นายสุนทร สุริโย สมาคมปฏิรูปสื่อภาคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สื่อของรัฐถ้าละเมิดต้องมีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดและจัดการขั้นเด็ดขาด ที่ผ่านมาชาวบ้านเห็นว่าสื่อของรัฐเสนอข้อมูลด้านเดียว ทำอย่างไรที่จะให้มีพื้นที่ มีช่องทางให้ชาวบ้านได้สื่อสารได้พูดบ้าง อีกทั้งการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกาศต้องแยกกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนระหว่างคนทำสื่อชุมชนกับผู้ที่เรียนจบปริญญาจึงจะสามารถเข้ามากำกับดูแลได้เต็มที่
พ.ต.อ.ไพฑูร คุ้มศักดิ์พงษ์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) กล่าวว่า การควบคุมต้องดูที่ต้นทาง สื่อทั้งหลายต้องขออนุญาต ต้องมีกฎระเบียบในการวินิจฉัยว่าสิ่งที่เสนอประชาชนผิดกฎหมายหรือไม่ สื่อขออนุญาตต้องตรวจสอบได้ ส่วนสื่อเถื่อนจับได้เลย
“มาตรการป้องกัน ต้องสร้างผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ให้ความรู้ประชาชนให้รู้ว่าอันไหนเป็นของแท้อันไหนของเท็จ ถ้าสามารถสร้างเครือข่ายผู้บริโภคให้เข้มแข็งจะช่วยได้เยอะ ถ้ามีผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายคนที่ทำถูกกฎหมายต้องช่วยกันรุมประณาม” พ.ต.อ.ไพฑูร กล่าว
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ(Media Monitror)มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า สิ่งที่มีเดียมอนิเตอร์ติดตามคือการใช้ความเชื่อของประชาชน ชักจูงไปสู่การขายสินค้าที่ไม่เหมาะสม ทั้งสื่อกระแสหลักกระแสรอง กสทช.ควรทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆให้ประชาชนเห็นอันตรายที่จะได้รับ และควรทำแบล็กลิสต์รายการหรือสถานีที่มอมเมาประชาชนด้วย
“ระหว่างรอกลไกหรือแผนแม่บทของกสทช.เข้ามาควบคุมดูแล ระยะสั้นนี้อาจต้องมีการทำงานบันทึกข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาผิดสื่อที่ผิดกฎหมายและในระยะยาวสิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต้องทำให้เกิดการรวมตัวกันของผู้รับสื่อ สนับสนุนสร้างเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติให้มากขึ้น” ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กล่าว