ไทยยังไม่เสี่ยงก่อการร้าย ดร.ศราวุฒิชี้สื่อสร้างภาพ โลกศึกษามุสลิมผ่านความรุนแรง
ดร.ศราวุฒิ ชี้โลกกำลังศึกษามุสลิมผ่านความรุนแรง เพื่อสื่อหลักฉายภาพอย่างนั้น ย้ำไทยยังไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลัก การก่อการร้าย ขณะที่รัฐจะแก้ปัญหาด้วยระเบิดไม่ได้
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเอเชียศึกษา จัดเสวนาวิชาการ “ไอเอส” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ทบทวนความขัดแย้งเดิม ประเมินแนวทางรับมือภัยคุกคามใหม่
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า วันนี้ ภาพก่อการร้ายถูกฉายว่าอยู่ในสังคมมุสลิม กลายเป็นว่าเรากำลังศึกษาโลกอิสลามผ่านกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งคนที่สื่อว่า มุสลิมเป็นกลุ่มรุนแรงคือสื่อกระแสหลัก ที่ไม่เข้าใจประเด็นการก่อการร้าย ทั้งๆ ที่กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเป็นเพียงส่วนน้อยมากของมุสลิมทั่วโลก
ดร.ศราวุฒิ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของไอเอส ต้องย้อนกลับไปดู นับตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันในปี 1917 โลกมสุลิมก็เริ่มพูดเรื่องการฟื้นฟูระบบคอลีฟะห์ นั่นคือความต้องการผู้นำที่เป็นธรรม ซึ่งกว่า 50 ประเทศมุสลิมตกภายใต้ของเผด็จการอำนาจนิยมอันเนื่องมาจากรากเดิม เขาเคยเป็นมหาอำนาจของโลกยุคกลาง เขาภูมิใจในรากตรงนั้น แต่หลังยุคกลาง โลกมสุลิมพยายามจะฟื้นฟู ในขณะที่สถาบันต่างๆ เสื่อมลงไปเรื่อยๆ ประชากรที่อยู่โลกมุสลิมโหยหาตรงนี้
ดร.ศราวุฒิกล่าวต่ออีกว่า ในเมื่อโลกมุสลิมกำลังอยู่ในภาวะที่โหยหาผู้นำที่เป็นธรรม สิ่งที่ไอเอสชูคือการทำให้มีคอลีฟะห์ที่ประชาชนโหยหาทำให้เยาวชนหลายส่วน ในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วม เพราะผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเอง ความฉลาดของไอเอสคือการสามารถใช้ประเด็นทางวิชาการมสุลิม เข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดความรุนแรง
“ในภูมิภาคอาเซียนมีมุสลิม 300 ล้านคน แต่มีกลุ่มที่เดินทางไปเข้าร่วมไม่เกินพันคน เวลาเปรียบเทียบเรื่องนี้กับยุโรปแตกต่างกันเยอะ เพราะยุโรปมีคนเข้าร่วมมากกว่า ขณะเดียวกันมีการส่งสารที่พุ่งตรงไปที่เยาวชนในยุโรป ไม่แปลกที่วันนี้กลุ่มเยาวนชนในยุโรปถึงร่วมไอเอสมาก” ดร.ศราวุฒิกล่าวและว่ากรณีอาเซียนไม่ใช่พื้นที่การส่งผ่านอุดมการณ์หรือเเนวคิดโดยตรง แต่มีการส่งผ่านกลุ่มขบวนการเดิมที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ คนที่เป็นตัวกลางในพื้นที่ พวกนี้จะรีแพ็กเกจใหม่ อย่างเช่นกรณีฟิลิปปินส์ที่ดูเหมือนว่าจะหนักหนากว่าที่อื่น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทับซ้อน
ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆ อันเนื่องมาจาก ไอเอสส่วนกลางที่ปฏิบัตการอยู่ และต้องการขยายดินแดนตรงนี้ออกไป ซึ่งน่าสนใจว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มไอเอส คืออำนาจที่ท้าทายโลกมุสลิมทั้งหมด เพราะมุสลิมเองไม่ได้ต้อนรับ อีกกลุ่มเสี่ยงคือ ยุโรป เพราะไอเอสมองว่าพวกนี้คือตัวแทนของกลุ่มครูเสด และเป็นพันธมิตรเข้ามาโจมตีในตะวันออกกลาง กลุ่มที่สามคือประเทศที่มีพลเมืองของตัวเอง ที่ไปร่วมไอเอสในซีเรียและอิรัก วันนี้สิ่งที่เรียกว่านักรบต่างชาติ ร่วมๆ กันสามหมื่นคนมาจากร้อยประเทศ เพราะฉะนั้น ประเทศไหนก็ตามที่มีคนของตัวเองไปรบ ซึมซับมาก็เสี่ยง แต่ไทยยังไม่มีข่าวว่ามีคนเดินทางไปร่วม
ด้านนายกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระด้าน Critical Terrorism กล่าวว่า นโยบายของความมั่นคงในปัจจุบัน ฝ่ายความมั่นคงมักคิดว่าเข้าใจผู้ก่อการร้ายในระดับหนึ่ง จริงๆ เเล้วไม่เข้าใจเลย ผู้ก่อการร้ายรู้ว่าคู่ต่อสู้ของเขาคือรัฐ ฉะนั้นวิธีการต่อสู้ การวางฐานวิธีที่คิดที่เขารู้ว่าไม่สามารถต่อกรได้ได้อย่างตรงไปตรงมากับรัฐได้ ซึ่งสิ่งที่กลุ่มก่อการร้ายมี ไม่ใช่เรื่องความเหนือกว่าในเชิงข้อมูล ไม่ใช่เรื่องข่าวกรอง แต่คือระบบวิธีคิด รู้ว่าจุดอ่อนของพวกเราคืออะไร นั่นคือการมุ่งสังหารชีวิตที่ไม่เน้นบุคคลสำคัญ คือการทำการแบบสุ่ม ทำให้ทุกที่เป็นเป้าหมายได้ อย่างการก่อเหตุในโรงพยาบาล ซึ่งตามมุมของโลกยุคใหม่ พื้นที่โรงพยาบาลถือเป็นพื้นที่ต้องห้าม ในการโจมตีทั้งหมด แต่กลับกันกลุ่มก่อการปัจจุบันเลือกใช้พื้นที่เหล่านี้เพื่อทำลายจุดมั่นคง หากเปรียบกันว่าถ้าระเบิดในค่ายทหาร อาจสร้างความหวาดกลัวน้อยกว่า นั่นคือทำไมวันนี้กระบวนการก่อการเปลี่ยนไปแต่ฝ่ายความมั่นคงยังตามไม่ทัน
นายกฤติกร กล่าวด้วยว่า เมื่อรัฐยังใช้วิธีการแบบเดิมในการแก้ปัญหา พอเกิดเรื่องวิธีการที่คิดที่ผิดมากคือการเอาปืนไปยิง เอาระเบิดไปถล่ม จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะกลุ่มก่อการร้ายไม่ได้กลัวตาย ไม่เหมือนกับคนทั่วไปที่กลัวตาย ซึ่งก็โยงกลับไปยังกรอบความคิดสมัยใหม่ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นนั้นเอง