กางพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณกกต.ไขปมโอนงบก่อนจัดเลือกตั้ง-สะพัดบิ๊กหวังยกโขยงดูงานตปท.?
"...กกต.ต้องเตรียมจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อไปให้มีความพร้อมมากที่สุด เพราะหากไม่ทำตอนนี้จะให้กกต.ทำตอนไหน และการโอนเงินให้หน่วยงานสนับสนุนมีระเบียบของกกต.รับรองอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นจะขัดกับระเบียบข้อไหน กกต.รีบเตรียมการไว้แล้วจะไม่ดีเหรอ.."
ภายหลังที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranwes.org เปิดประเด็นกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติอนุมัติในหลักการให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และกรมการขนส่ง ดำเนินโครงการนวัตกรรมการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการทำระบบ การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (I-Vote)
โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ดำเนินการในวงเงินจำนวน 6,995,000 บาท และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการภายในวงเงิน 9,100,520 บาท และงบประมาณจำนวน 9.6 แสนบาท ให้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (รวมวงเงินทั้งสิ้น 17,055,520 บาท) และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การอนุมัติเงินดังกล่าวอาจจะขัดหรือไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของ กกต. เนื่องจากงบประมาณปี 2560 สำนักงาน กกต. ได้รับการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง หรือการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพราะไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และไม่มีการออกเสียงประชามติ
ดังนั้น การที่สำนักงาน กกต. อนุมัติเงินให้กับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอกนิกส์ฯ กรมการกงสุล และกรมการปกครอง ดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติไว้ในข้อ 18 สรุปได้ว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด จะโอน หรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้
ขณะที่ นายจรุงวิทย์ พุมมา รองเลขาธิการ กกต. รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า ปกติงบประมาณของ กกต. เวลาจะดำเนินโครงการ สามารถโอนงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนได้ ส่วนกรณีนี้กรมการกงสุล เป็นหน่วยงานสนับสนุนของ กกต. ที่ดำเนินการจัดการให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศอยู่แล้ว ยืนยันว่า เงินที่ออกจาก กกต. ทุกบาททุกสตางค์ ถูกต้องตามระเบียบ กกต. ทั้งหมด ทำตามนโยบายของ กกต. ทุกอย่างถูกต้อง
(อ่านประกอบ : พบ กกต.โอนงบให้กงสุล-มท.ช่วงยังไม่มีเลือกตั้ง-ประชามติ ส่อขัดกม.เลขาฯยันถูกต้อง)
เพื่อไขปมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว พบว่า พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ในหมวด 4 มาตรา 18 ระบุว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดตามพ.ร.บ.งบประมาณราจ่ายประจำปีก็ดี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็ดี จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ เว้นแต่
(1.) มีพ.ร.บ.ให้โอนหรือนำไปใช้ได้
(2) ในกรณีที่มีพ.ร.ฏ.รวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันไม่ว่าจะมีผลเป็ฯการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นมาใหม่หรือไม่ก็ตาม ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของ ส่วนราชการที่ถูกโอนหรือรวมเข้าด้วยกันนั้น ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับโอนหรือที่รวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
แม้สำนักงานกกต.จะมีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 โดยระเบียบดังกล่าวระบุถึงหน้าที่และการโอนเงินให้หน่วยงานสนับสนุน
คำถามคือระเบียบดังกล่าวตามศักดิ์ของกฎหมายแล้วถือว่าต่ำกว่า พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ดังนั้นกฎหมายที่ควรยึดไว้ปฏิบัติคือพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณหรือไม่
และแม้ในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แต่ตามมารยาทแล้วทุกคนในกกต.รู้ดีว่า หากจะโอนงบประมาณให้หน่วยงานสนับสนุนได้ก็ต่อเมื่อมีพ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้งประกาศบังคับใช้เท่านั้น
อีกทั้งในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ยังมีระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สิน พ.ศ. 2542 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2542 ข้อ 8 ที่กำหนดวิธีการจัดหาพัสดุ สามารถกระทำได้ 5 วิธีคือ ตกลงราคา สอบราคา ประกวดราคา วิธีพิเศษ หรือกรณีพิเศษ
โดยกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น กกต. สามารถใช้วิธีกรณีพิเศษว่าจ้างให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยราชการดำเนินการได้ ซึ่งเคยทำมาแล้วกรณีงบประมาณปกติ โดยไม่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพราะหากดำเนินการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการพัสดุ ก็ไม่ถือเป็นการโอนเงินให้หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ขัดต่อพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณแน่นอน
ขณะที่ล่าสุดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เหตุผลเบื้องหลังที่กกต.ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่ผู้บริหารระดับสูงบางราย มีความต้องการที่จะเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ?
และเป็นประเทศที่ดูเหมือนจะมีจำนวนคนไทยน้อย ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางไปดูงานเสียด้วย?
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อสังเกตข้างต้นจากนายภูมิพิทักษ์ แก้วกรอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
นายภูมิพิทักษ์ ชี้แจงว่า กกต.ต้องเตรียมจัดการเลือกตั้งในครั้งต่อไปให้มีความพร้อมมากที่สุด เพราะหากไม่ทำตอนนี้จะให้กกต.ทำตอนไหน และการโอนเงินให้หน่วยงานสนับสนุนมีระเบียบของกกต.รับรองอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นจะขัดกับระเบียบข้อไหน กกต.รีบเตรียมการไว้แล้วจะไม่ดีเหรอ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ถูกมองว่าการเตรียมการโครงการไอโหวตแม้จะมีระเบียบกกต.อยู่ แต่การโอนเงินให้กับหน่วยงานรัฐขัดต่อพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ
นายภูมิพิทักษ์ กล่าวว่า กกต.มีระเบียบรองรับแล้วมันขัดตรงไหน
เมื่อถามว่า ตามศักดิ์ของกฎหมายแล้วกกต.ควรยึดระเบียบของกกต.หรือพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ นายภูมิพิทักษ์ กล่าวว่า “ถ้าระเบียบชอบการทำงานก็ชอบ ถ้าพูดแบบนั้นระเบียบก็โมฆะ แล้วระเบียบก็มีกฎหมายรับรอง”
เมื่อถามว่า ในพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณระบุชัดว่าหากหน่วยงานรัฐจะโอนเงินให้กัน ต้องมีพ.ร.บ.ให้โอนหรือนำไปใช้ได้ เหมือนกรณีกกต.จะโอนเงินให้หน่วยงานรัฐได้ต้องมีพ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้งประกาศออกมา
นายภูมิพิทักษ์ กล่าวว่า แต่ในระเบียบกกต.ไม่ได้ระบุว่าจะต้องโอนเงินได้ก็ต่อเมื่อมีพ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้ง ต้องดูระเบียบให้ดี
เมื่อถามว่า เหตุใดกกต.ไม่ใช้วิธีการจัดจ้างกรณีพิเศษ ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุของกกต.เปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว นายภูมิพิทักษ์ กล่าวว่า “มันเป็นสเต็ป การทำงานของกกต. เราก็ยึดตามระเบียบและกฎหมายมาโดยตลอด แต่เดี่ยวขอศึกษากฎหมายอีกทีนะ”
เมื่อถามย้ำว่า เหตุใดกกต.จึงเลือกวิธีการที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย นายภูมิพิทักษ์ กล่าวว่า “เดี่ยวขอศึกษาอีกทีโอเคนะ”
ส่วนประเด็นเรื่องการไปดูงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นประเทศที่ดูเหมือนจะมีจำนวนคนไทยน้อย ไม่คุ้มค่ากับการเดินทางไปดูงานนั้น
นายจรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการกกต. รักษาการเลขาธิการกกต. ชี้แจงว่า กรณีที่ประเทศนำร่องดูงานเป็นประเทศนอร์เวย์ เพราะเราดูจำนวนประชากรคนไทย โดยในระยะเริ่มแรกการที่จะทดลองระบบ ที่ประชุมร่วมกันซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต.อยู่ด้วย ซึ่งนายสมชัยคุยกับกรมการกงสุลว่า ให้คัดเอาประเทศที่มีประชากรคนไทยน้อยๆก่อน เพราะหากทดลองใช้ประเทศที่มีประชากรจำนวนมากเลยอาจจะมีปัญหา จึงต้องค่อยปรับและทดลองระบบไป
"ส่วนจำนวนประชากรคนไทยในนอร์เวย์ ผมจำไม่ได้ว่ามีเท่าไร แต่ก็ไม่ถือว่าเยอะ เพราะถ้าจำนวนเยอะและเราไม่รู้ว่าระบบการโทรคมนาคมในประเทศใดเป็นอย่างไรบ้าง"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการทางกรมการกงสุลแจ้งว่าต้องใช้งบประมาณในการเดินทางไปดูผลการดำเนินงานที่ประเทศนอร์เวย์ 9 ล้านบาท นายจรุงวิทย์ กล่าวว่า "นอร์เวย์ผู้บริหารกกต.ไม่ได้ไป เขาให้เจ้าหน้าที่ไป แต่เท่าที่จำได้ไม่น่าถึง 9 ล้านบาท โอ้โห่...เราใช้อย่างประหยัดมาก อย่างผมเดินทางก็ใช้อีโคโนมี่คลาส ปกติเราไม่ใช่เยอะขนาดนั้น"
"ส่วนประเทศจอร์แดนผมก็จำไม่ได้ว่าใช้งบประมาณเท่าไร แต่ยืนยันว่าไม่เยอะ เราไปคณะไม่ใหญ่จะไปทดลองระบบกันเฉยๆ ไปก็ดูแค่ 1-2 วัน ถ้าไปนะ ตอนนี้สถานการณ์แบบนี้จะไปกันหรือเปล่าไม่รู้เลย กำลังปั่นป่วนเรื่องนี้อยู่ การใช้งบประมาณผมต้องประหยัดอยู่แล้ว สตง.ก็เข้าตรวจตลอดอยู่แล้ว หากไม่ชอบด้วยเหตุผลเขาก็ติงมาทุกที" นายจรุงวิทย์ กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อสังเกต และคำชี้แจงของ กกต.ในประเด็นการโอนงบให้หน่วยงานสนับสนุนทั้งที่ยังไม่มีการจัดเลือกตั้ง และทำประชามติ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่อขัดกฎหมายอยู่ในขณะนี้?