ฉลาดเกมส์โกง: หนังดี เพื่อสังคมที่ดี
การที่จะให้เยาวชนลุกขึ้นมาสนใจประเด็นเรื่องคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เด็กวัยรุ่นไม่ชอบการสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี โดยเฉพาะการใช้วิธีท่องจำคุณธรรม จริยธรรม 10 ประการ ฯลฯ ที่ระบบการศึกษาเรามักใช้ หากจะต้องสอดแทรกไว้ในกิจกรรมที่เยาวชนรู้สึก “สนุก” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ บอร์ดเกมส์ หรือ เกมออนไลน์ หนังสือการ์ตูน ตลอดจนละครโทรทัศน์ ฯลฯ
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเชิญโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT ซึ่งมีคุณประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธานให้ไปดูหนังเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” รอบพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการโกงข้อสอบทั้งในระดับในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งเค้าโครงเรื่องมาจากการโกงข้อสอบ SAT ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีผลทำให้มีการยกเลิกผลการสอบของผู้เข้าสอบจากทวีปเอเชียจำนวนมากในปีที่แล้ว
ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่มีลูกแทบจะไม่ได้เข้าโรงหนังมากว่า 10 ปีแล้ว และหนังที่เลือกดู (ในเครื่องบิน) ก็มักมิใช่หนังสไตล์วัยรุ่นแบบนี้
ตอนไปก็ยังเดาไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่พอดูเสร็จแล้วต้องบอกว่า ประทับใจกับหนังเรื่องนี้มาก เพราะสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยได้อย่างดี โดยทำให้ผู้ดูไม่รู้สึกว่านี่เป็นหนังที่ต้องการสั่งสอนว่าอะไรถูกอะไรผิด หากแต่เป็นหนังที่ต้องการจะสื่อสารว่าชีวิตของคนเรานั้นมีทางเลือกที่เราต้องตัดสินใจเลือกเดิน และเมื่อเราเลือกทางเดินใดแล้ว เราจะต้องรับผลที่เกิดจากการตัดสินใจของตนเองทั้งที่คาดหมายและที่ไม่ได้คาดหมาย และรวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องแบกรับในแง่บวกและลบ
แต่ประเด็นที่ดิฉันให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชนอาจจะยังไม่รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหน คือ การทุจริตหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ “โกง” ตัวอย่างเช่น ตัวละครเอกที่ชื่อ “ริน” กล่าวว่าเธอไม่เข้าใจว่าการช่วยเพื่อนในการบอกข้อสอบที่ทำให้เพื่อนได้คะแนนดีๆ ไปเรียนต่อที่ดีๆ นั้นเป็นความผิดอย่างไรในเมื่อเธอเองก็ไม่ได้เสียอะไร และบางครั้งได้เงินเป็นค่าตอบแทนเสียอีก ไม่มีใครเดือดร้อน หรือที่เราชอบเรียกกันว่าเป็น “วินๆ” เธอไม่ได้คิดในเชิงระบบว่า การช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้โกงที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าอาจถูกเบียดตกไป ไม่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาหรือไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีๆ หรือว่า การโกงของเธอในระดับนานาชาติหากถูกจับได้จะทำให้ภาพพจน์ของทั้งประเทศเสียหาย
ในขณะเดียวกัน หนังก็ฉายภาพให้เห็นว่าการตัดสินใจในการทุจริตอาจเกิดจากสถานการณ์ที่บีบคั้น ถึงแม้ไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะความจำเป็นทางการเงิน ตัวละครที่เป็นเด็กเรียนเก่งทั้งสองคน คือ ริน กับ แบ๊งค์ เป็นเด็กที่มีความกตัญญู รับผิดชอบต่อครอบครัวที่ขัดสน ดังนั้น เยาวชนอาจไม่เข้าใจว่า การช่วยพ่อแม่หาเงินโดยการบอกข้อสอบเพื่อนเพื่อแลกกับเงินจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสังคมเรามักตอกย้ำให้เด็ก ‘กตัญญู รู้คุณคน” หากแต่ไม่ค่อยได้ให้ความรู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะต้องมี “อุเบกขา” หรือการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักการหรือความถูกต้อง ในหนังเรื่องนี้ การโกงที่แม้มีเจตนาที่ดีสุดท้ายแล้วกับกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายและทำลายตนเองและพ่อแม่ที่ต้องการจะช่วยเหลือซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เยาวชนยังมองไม่ทะลุ
นอกจากค่านิยมเรื่องความกตัญญูแล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีค่านิยมเรื่องการช่วยเหลือพวกพ้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมอุปถัมภ์ ในหนัง “แบ๊งค์ “ ซึ่งเป็นเด็กยึดมั่นในหลักการที่นอกจากจะไม่ยอมให้ใครลอกข้อสอบของตนแล้ว ยังไม่ยอมให้มีการลอกข้อสอบในห้องสอบอีก โดยการไปฟ้องครู กลับถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่เอาเพื่อน ขี้ฟ้อง ถูกโดดเดี่ยว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การยึดมั่นในหลักการนั้นมีต้นทุนสูงมากในสังคมพวกพ้อง
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้แสดงว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยจะไม่มีหวัง ในทางตรงกันข้าม ดิฉันเห็นว่าเราเริ่มมาถูกทาง คือ เราเริ่มให้ความสำคัญแก่การสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ “โตไปไม่โกง” จากเดิมที่ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะในแวดวง การเมือง ข้าราชการ สื่อ และนักวิชาการเท่านั้น และที่ผ่านมา ก็มักจะพูดในภาษาที่เยาวชนไม่เข้าใจหรือไม่น่าสนใจ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้คือ อนาคตของประเทศ
แต่การที่จะให้เยาวชนลุกขึ้นมาสนใจประเด็นเรื่องคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เด็กวัยรุ่นไม่ชอบการสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี โดยเฉพาะการใช้วิธีท่องจำคุณธรรม จริยธรรม 10 ประการ ฯลฯ ที่ระบบการศึกษาเรามักใช้ หากจะต้องสอดแทรกไว้ในกิจกรรมที่เยาวชนรู้สึก “สนุก” ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ บอร์ดเกมส์ หรือ เกมออนไลน์ หนังสือการ์ตูน ตลอดจนละครโทรทัศน์ ฯลฯ หากผู้อ่านท่านใดสนใจรูปแบบการรณรงค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ “โดนใจเยาวชน” สามารถลองเข้าไปดูเว็บไซต์ของ ICAC หน่วยงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของฮ่องกงที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้ ท่านจะพบคลิปวิดีโอและซีรี่ส์หนังละคร เกมที่เด็กเล่น เกมทายปัญหาที่กี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ จำนวนมากที่มีจำนวนผู้ไปเข้าชมนับแสน
การสร้างค่านิยมที่ดีในเยาวชนเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมปลอดคอร์รัปชันที่เราใฝ่ฝัน ผู้เขียนจะตั้งหน้ารอคอยผลงานดีๆ อย่างนี้อีก
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/ChalardGamesGoeng/?fref=ts