หมอพรทิพย์ : ฆ่าหั่นศพ...เป็นวิธีทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐานเยอะสุด
คดีฆ่าหั่นศพ "น้องแอ๋ม" ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงคดีฆ่าหั่นศพสะเทือนประเทศ 2 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา และผู้ต้องหาเป็นคนในแวดวงการแพทย์ หนึ่งคือคดี "หมอเสริม" หรือ นายเสริม สาครราษฎร์ กับอีกคดี "หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ"
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 นายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์จากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ได้ก่อเหตุฆ่าหั่นศพแฟนสาว น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี นักศึกษาแพทย์สถาบันเดียวกัน โดยใช้ห้อง 604 พีเอสเฮาส์คอนโดมิเนียม ย่านฝั่งธนฯ เป็นสถานที่ชำแหละศพ หลังจากที่ใช้ปืนยิงแฟนสาวจนเสียชีวิต โดยเมื่อชำแหละศพแล้ว ก็ได้แยกชิ้นส่วนไปกระจายทิ้งตามที่ต่างๆ รวมทั้งแม่น้ำบางปะกง โดยมูลเหตุจูงใจจากการสอบปากคำนายเสริม มาจากเรื่องชู้สาวและความหึงหวง
ปี 2544 นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ก่อเหตุฆ่าหั่นศพภรรยาตัวเอง คือ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ โดยคดีนี้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างมาก เพราะหมอวิสุทธิ์ ลักพาตัวหมอผัสพรด้วยการวางยาในร้านอาหารกลางห้างดังย่านปทุมวัน แล้วพาไปกักขังไว้ (หรืออาจลงมือสังหารเลย) จากนั้นก็เป็นผู้ไปแจ้งความด้วยตนเองว่าภรรยาหายตัวไป ก่อนจะหั่นศพภรรยา แล้วแยกชิ้นส่วนไปทิ้งตามสถานที่ต่างๆ พร้อมทำจดหมายลางานปลอมส่งไปให้โรงพยาบาลที่คุณหมอผัสพรทำงานอยู่ด้วย
สำหรับมูลเหตุจูงใจเป็นเรื่องปัญหาในครอบครัว ความร้าวฉานในชีวิตสมรส และเรื่องส่วนตัวอื่นๆ อีกหลายเรื่อง รวมทั้งการแบ่งสินสมรสหากต้องหย่าร้างกัน
ปัจจุบันทั้งสองคนพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว
คดีดังฆ่าหั่นศพสะเทือนขวัญในตำนานทั้ง 2 คดี มี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคลายปมปริศนา
หมอพรทิพย์ บอกว่า ทั้งสองคดีนี้มีความคล้ายกันอยู่ คือใช้วิธีทำลายหลักฐานตามวิธีคิดของผู้กระทำ (หมอเสริม และหมอวิสุทธิ์) ด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้หลักฐานหลงเหลืออยู่น้อยที่สุด โดยใช้ความรู้และความชำนาญจากอาชีพและสิ่งที่ร่ำเรียนมา
แต่หมอพรทิพย์ ย้ำว่า การใช้วิธีฆ่าหั่นศพ เป็นวิธีการทำลายหลักฐานที่ทิ้งหลักฐานไว้เยอะที่สุด
ส่วนแรงจูงใจในการฆ่าหั่นศพ หลายคนสงสัยว่าฆาตกรที่เลือกใช้วิธีนี้ คิดอะไรอยู่ เพราะวิธีการอำพรางศพมีมากมายหลายวิธี หมอพรทิพย์ บอกว่า เหตุผลในการฆ่าสำคัญกว่าการหั่น เพราะการหั่นศพไม่มีอะไรมาก แค่ต้องการทำลายหลักฐาน แต่มูลเหตุในการฆ่า ต้องดูวิธีฆ่าว่านึกถึงอะไรในขณะนั้น แต่การหั่นศพ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าผู้กระทำเป็นโรคจิตหรือไม่ เพียงแต่ต้องการอำพรางศพ และคิดได้แค่นี้ในขณะกระทำ
หมอพรทิพย์ยังบอกอีกว่า วิธีการทำลายศพ บางกรณีมีการวางแผนเตรียมการไว้ก่อนล่วงหน้า เคสแบบนี้ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญอยู่ก่อน เช่น คดีฆ่าหั่นศพในตำนานที่ฆาตกรเป็นหมอ หรือเป็นอาชญากรข้ามชาติที่มีความชำนาญในการใช้มีด
แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดมีอายุน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าถึงสื่อทำได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันสื่อและเปิดรับความรุนแรงบ่อยครั้งจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในที่สุด ตัวอย่างคือคดีล่าสุด"ฆ่าหั่นศพน้องแอ๋ม" ที่ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องเลือกวิธีหั่นอำพรางศพ เพราะเหตุการณ์เฉพาะหน้าบีบบังคับให้ต้องทำ
หมอพรทิพย์ ยังฝากถึงผู้ที่สนใจและติดตามข่าวคดีนี้ว่าอย่ามุ่งไปที่ประเด็นฆาตกรเป็นใคร หรือมีผู้ร่วมก่อเหตุกี่คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักเพื่อเป็นอุทาหรณ์มีมากกว่านั้น คือต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้ พื้นฐานชีวิตเป็นอย่างไร และที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่ จะได้ไม่มีใครกล้าก่อเหตุในลักษณะนี้อีก
------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : ปกรณ์ พึ่งเนตร
ภาพ : ขอบคุณเฟซบุ๊ค พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ NOW26 ด้วย