พลิกประมวลกฎหมายอาญา...บันดาลโทสะฆ่าหั่นน้องแอ๋ม "ฟังไม่ขึ้น"
คดีฆ่าหั่นศพ "น้องแอ๋ม" วริศรา กลิ่นจุ้ย พนักงานต้อนรับสถานบันเทิงชื่อดังใน จ.ขอนแก่น ยังมีประเด็นที่เป็นเงื่อนแง่ทางกฎหมายซึ่งกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคมขณะนี้
ทั้งประเด็นที่อ้างว่า "สาวเปรี้ยว" น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี และถูกซัดทอดว่าเป็นมือหั่นศพ ไม่ได้มีเจตนาฆ่าน้องแอ๋ม แค่ต้องการสั่งสอน แต่บันดาลโทสะจึงพลั้งมือทำให้เสียชีวิต รวมทั้งประเด็นที่ นายวศิณ นามพรหม ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเป็นคนแรก อ้างว่าไม่ได้ร่วมลงมือฆ่า แค่ทำหน้าที่ขับรถให้เท่านั้น จึงไม่น่าจะมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าน้องแอ๋ม
ข้ออ้างเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสในโลกโซเชียลฯว่า "ทำ (อ้าง) แบบนี้ก็ได้เหรอ?"
จากการตรวจสอบความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม ได้คำตอบที่น่าจะชัดเจน จะแจ้ง...
เริ่มจากประเด็น "บันดาลโทสะ" เรื่องนี้บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 กฎหมายเขียนเอาไว้แบบนี้ "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วการบันดาลโทสะแล้วฆ่าผู้อื่น ผู้ที่ลงมือฆ่า ย่อมต้องถือว่ามีเจตนาฆ่า เพียงแต่อ้างเหตุ "บันดาลโทสะ" ซึ่งถือว่าเป็น "เหตุบรรเทาโทษ" เพื่อให้ศาลลดโทษเท่านั้น
แต่การจะอ้าง "บันดาลโทสะ" ได้ ต้องมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายคือ ผู้กระทำความผิดต้องถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะที่บันดาลโทสะทันที
จากหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องในคดีฆ่าน้องแอ๋ม จะพบว่ากลุ่มผู้ต้องหาไปลวงน้องแอ๋มให้ขึ้นรถไปด้วยกัน จากนั้นจึงลงมือทำร้ายในรถ ทำให้น้องแอ๋มกล่าวเชิงอาฆาตว่า ถ้าตนรอดไปได้ จะฆ่าอีกฝ่ายให้ตาย ส่งผลให้ "เปรี้ยว" โกรธและลงมือฆ่า ทั้งๆ ที่เบื้องต้นมีเจตนาแค่ทำร้ายเท่านั้น
จากพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่า "เปรี้ยว" ไม่ได้ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ในทางกลับกัน ยังเป็นฝ่ายข่มเหงทำร้าย "น้องแอ๋ม" อยู่ด้วย การถูก "น้องแอ๋ม" ตอบโต้หรือขู่อาฆาต จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ "ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม" ฉะนั้นจึงไม่น่าจะอ้างเป็นเหตุบรรเทาโทษจากความผิดฆ่าหั่นศพน้องแอ๋มที่ตนก่อขึ้นได้
ประเด็นต่อมา นายวศิณ และผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกัน แต่อ้างว่าไม่ได้ลงมือฆ่าน้องแอ๋มร่วมกับ "เปรี้ยว" ถือว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามที่ตำรวจแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาทุกคนหรือไม่
ประเด็นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ตัวการร่วม" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ที่บัญญัติไว้ว่า "ความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" เช่น ถ้าร่วมกันฆ่าคนตาย ก็ต้องระวางโทษสำหรับความผิดฐานฆ่าคนตายด้วยกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอธิบายว่า การเป็น "ตัวการร่วม" หรือ "ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน" การพิจารณาค่อนข้างซับซ้อน หลักก็คือต้อง "ร่วมใจ" และ "ร่วมกาย"
"ร่วมใจ" หมายถึง รู้อยู่ก่อนว่าจะมีการกระทำความผิด คือวางแผนร่วมกัน หรือรู้ว่าอีกคนกำลังจะทำความผิดอะไร
ส่วน "ร่วมกาย" หมายถึงร่วมการกระทำ ไม่ได้แปลว่าต้องทำสิ่งเดียวกันเท่านั้น แต่อาจแบ่งหน้าที่กันทำก็ได้ เช่น คนหนึ่งฆ่า อีกคนหนึ่งดูต้นทาง
ส่วนที่นายวศิณ หนึ่งในผู้ต้องหา อ้างว่าไม่ได้ร่วมฆ่าน้องแอ๋ม เพียงแต่ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุ ประเด็นนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานเอาไว้ว่า การอยู่ร่วมหรือใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ ในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือได้ทันที ก็เข้าข่ายร่วมกันกระทำความผิด ถือเป็น "ตัวการร่วม" เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าประเด็นนี้ นายวศิณย่อมต้องยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อให้รับโทษน้อยลง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบอกว่า พฤติการณ์ของนายวศิณ เข้าข่ายเป็น "ผู้สนับสนุน" ในการกระทำความผิดอย่างแน่นอน แต่จะผิดฐานเป็น "ตัวการร่วม" ด้วยหรือไม่ ขึ้นกับการนำสืบและดุลพินิจของศาล
--------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : ปกรณ์ พึ่งเนตร
ภาพ : ขอบคุณ สถานีโทรทัศน์ NOW26
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้นำเสนอในรายการ "ล่าความจริง" สถานีโทรทัศน์ NOW26 รวมทั้งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย