เจโทรเผย บ.ญี่ปุ่นเชื่อมั่นสิทธิประโยชน์ลงทุนอีอีซีมีประสิทธิภาพ- ‘สมคิด’ โรดโชว์โตเกียว 7 มิ.ย.
เจโทรเผยผลสำรวจเรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก พบบริษัทญี่ปุ่นเริ่มขยายการลงทุนไปในโครงการเเล้ว ส่วนใหญ่เชื่อสิทธิประโยชน์ลงทุนมีประสิทธิภาพ เรียกร้องเร่งเพิ่มคุณภาพบุคลากร จัดหาเเรงงานคุณภาพสูงรองรับ พัฒนาการศึกษาภาคภาษาอังกฤษ ควบคุมทรัพยากรน้ำในฤดูเเล้ง เเละจัดจ่ายไฟฟ้าเพียงพอ 'ดร.สมคิด' เตรียมโรดโชว์ญีปุ่น อธิบายเเผนนโยบายอีอีซี 7 มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Jetro) ประจำประเทศไทย ร่วมกับสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดเก็บข้อมูลเร่งด่วนด้วยแบบสอบถาม เรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อเข้าใจถึงแนวโน้มของบริษัทญี่ปุ่นเกี่ยวกับอีอีซี ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในประเทศไทย และนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนภายในเขตเป้าหมาย
โดยได้สอบถามไปยังบริษัทที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok :JCC) จำนวน 48 บริษัท ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.-3 พ.ค. 2560 มีบริษัทตอบแบบสอบถาม 28 บริษัท จากจำนวน 48 บริษัท คิดเป็นอัตราการรวบรวมกลับคืนได้ร้อยละ 58.3
ในจำนวน 28 บริษัท ที่ตอบแบบสอบถามนี้ สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มี 24 บริษัทได้ขยายไปยังเขตอีอีซีเรียบร้อยแล้ว คือ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต 16 บริษัท และบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต 8 บริษัท ในจำนวนนั้นมี 9 บริษัท ที่มีจำนวนพนักงานในสำนักงานภายในเขตอีอีซีเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนพนักงานทั้งหมดในประเทศไทย และมี 15 บริษัท ในเขตอีอีซี มองว่าเป็นการวางตำแหน่งที่สำคัญเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคกว้างขึ้น
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจไปยังเขตอีอีซี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตที่มีความสำคัญแล้ว มี 10 บริษัท ตอบว่า ในอนาคตมีแผน รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณา จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในเขตอีอีซี และคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนจำนวนหนึ่ง โดยบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่มีอีก 18 บริษัท ที่ยังไม่มีแผนการลงทุน
คณะผู้ศึกษายังได้สอบถามไปยังบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดในประเทศไทย เกี่ยวกับแนวคิดมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเขตอีอีซี ซึ่งรัฐบาลไทยนำมาใช้ขณะนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ มี 22 บริษัท ตอบว่า มีประสิทธิภาพ ซึ่งในจำนวนบริษัทที่ตอบว่ามีประสิทธิภาพนั้น ส่วนมากตอบว่า “การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี” และ “การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หลังจากลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล” มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำนวนมาก ตอบว่า มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งกำลังวางแผนจะดำเนินการในเขตอีอีซี เช่น การจัดเตรียมท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดการจราจรติดขัด และบริษัทยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ควรปรับปรุงด้านระบบผ่อนปรนขั้นตอนการขอใบอนุญาตและเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการอนุญาตเรื่องการชำระเงินสกุลเงินต่างประเทศ
ในด้านความต้องการของบริษัทญี่ปุ่นต่ออีอีซี ได้มีข้อเรียกร้องต่าง ๆ ต่อรัฐบาลไทย จำนวนมาก โดยให้รัฐบาลไทยรับประกันนโยบายในระยะยาวต่อนักลงทุน เพราะมีความวิตกกังวลว่าการลงทุนจะมีความคืบหน้าตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าที่คาดหวังให้ภาคเอกชนลงทุนมีอยู่สูง นอกจากนี้ยังเข้าใจว่า สถานการณ์ในลักษณะนี้ที่แต่ละบริษัทรอดูท่าทีก่อน เนื่องจากกังวลว่า โครงการนี้จะสำเร็จจริงหรือไม่ และเห็นควรให้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคหลักด้วยเงินลงทุนของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ ต้องเพิ่มคุณภาพบุคลากร โดยจัดหาแรงงานคุณภาพสูง เพื่อจูงใจในอุตสาหกรรมขั้นสูงและล้ำสมัย และเร่งพัฒนาการศึกษาสายอาชีพไม่ว่าจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาภาคภาษาอังกฤษ ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเพื่อได้มาซึ่งบุคลากรชั้นเยี่ยม ขณะที่นโยบายด้านภาษีก็มีประสิทธิภาพ แต่การดึงดูดบุคลากรชั้นเยี่ยมที่มีระดับการศึกษาสูง การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในการวิจัยและพัฒนาที่น่าสนใจก็จำเป็นเช่นกัน ทั้งสำหรับบริษัทและรัฐบาลไทย ในฐานะผู้จูงใจ
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทญี่ปุ่น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลดหย่อนภาษีเป็นพิเศษให้แก่นักวิจัย R&D ซึ่งคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์ หากมีการเชิญนักวิจัยบางส่วนของงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสิงคโปร์และอินเดียมาประเทศไทย และสำหรับการโอนย้าย R&D โดยรวม จำเป็นต้องพัฒนานักวิจัย คุณภาพของวิศวกร และสภาพคล่องของประเทศไทย ที่สำคัญ สนับสนุนเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อให้มาตรการระยะยาวของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตรถยนต์ รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้า
เช่นเดียวกันรัฐบาลยังต้องเตรียมระบบกฎหมายให้พร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างกรมสรรพากรกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ( Borad of Investment :BOI) เกี่ยวกับการจัดการการยกยอดผลขาดทุนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทในกลุ่ม A ที่จะลงทุนในเขตอีอีซี ต้องยื่นเอกสารขอลงทุนภายในปี 2560 เพื่อเป็นเงื่อนไขในการขอรับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละเพิ่มเติมนั้น ควรขยายระยะเวลาออกไป หลังจากเข้าใจระบบสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอีอีซีแล้ว จำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจนกว่าจะดำเนินการลงทุนจริง ดังนั้นจึงขอให้มีสิทธิประโยชน์ที่สามารถใช้ในระยะยาวขึ้นอีกเล็กน้อย
สุดท้าย การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์ ในเรื่องการจัดเตรียมถนนทั่วไป ซึ่งจะเชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวเข้ากับโรงงานของแต่ละบริษัท และการปรับปรุงงานโหลดสินค้าหรืองานตรวจเช็คคลังสินค้าภายในท่าเรือก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากในแง่ของการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์-ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป-วัตถุดิบ และการขนส่งอย่างปลอดภัย และจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการปรับปรุงสาธารณูปโภคอื่น ๆ ดังเช่นการจ่ายไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมทรัพยากรน้ำเมื่อเกิดภัยแล้งด้วย
โดยในวันที่ 7 มิ.ย. 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย จัดประชุมสัมมนาเรื่องการลงทุนในประเทศไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายอีอีซีด้วย