เปิดบันทึก-ประกาศ กกพ.! ชัดๆ อผศ. เอา‘ที่ดิน’จากไหนมาทำ‘โซลาร์เซลล์’?
“…หากส่วนราชการที่ผ่านการคัดเลือกจาก กกพ. แล้ว จะต้องมีที่ตั้งโครงการอยู่ในท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกด้วย … นั่นหมายความว่า หาก อผศ. ไม่มีที่ดินเพื่อดำเนินการเป็นของตัวเอง ก็อาจไม่สามารถผ่านคุณสมบัติเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ได้…”
เงื่อนปมการคัดเลือกชนร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำนวน 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี ให้ดำเนินการอยู่ขณะนี้ กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม รวมถึงกลุ่มเอกชนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกร่วมลงทุนหลายราย
เนื่องจากเห็นว่า การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนดังกล่าวของ อผศ. อาจดำเนินการอย่างไม่โปร่ใส ไม่ยุติธรรม พร้อมกับมีเสียงซุบซิบใน อผศ. และบรรดาเอกชนหลายรายว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เป็นทหารยศนายพลชื่อ ‘เสธ.จ.’ ที่ถูกนับเป็นคนสนิทของผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. รายหนึ่ง เข้ามาอ้างชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อให้เอกชนวิ่งเต้นได้คัดเลือกร่วมทุนโครงการดังกล่าว แต่ต้องจ่ายแห่งละ 1 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์
(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?, ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ)
ข้อเท็จจริงบางส่วนกำลังอยู่ระหว่างการร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมถึงกระทรวงกลาโหมให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบกรณีนี้อย่างเร่งด่วน และในวันที่ 5 มิ.ย. 2560 กลุ่มธรรมาภิบาล พร้อมกับเอกชนผู้เสียหาย ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย
(อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน ผอ.อผศ.-จนท.ปม ‘โซลาร์เซลล์’ให้ กห.สอบเชิงลึกหาตัว ‘เสธ.จ.’)
อย่างไรก็ดีมีข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ที่ได้รับการเปิดเผยจากโฆษก กกพ. (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) ที่ยืนยันว่า ส่วนราชการที่ได้รับการคัดเลือกให้หาเอกชนมาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว จะต้องใช้ที่ดินของตัวเองดำเนินการเท่านั้น
หมายความว่า อผศ. ที่ได้รับการคัดเลือกในส่วนของราชการจะต้องใช้ที่ดินของตัวเองดำเนินการ ?
แต่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบันทึกความเข้าใจการขอร่วมการงานด้านกิจการพลังงานที่ให้เอกชนมาขึ้นทะเบียนกับ อผศ. ตั้งแต่ปลายปี 2559 พบว่า นอกเหนือจากให้เอกชนที่ต้องการขึ้นทะเบียนจ่ายเงินแห่งละ 50,000 บาท และถ้าไม่ได้รับการคัดเลือกจะไม่คืนเงินแล้วนั้น (รวมเป็นเงิน 11.5 ล้านบาท) โดยมีจำนวนประมาณ 230 แห่ง
หากเอกชนรายใดได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นแล้ว (เบื้องต้นที่ได้รับการคัดเลือกจาก อผศ. มีจำนวน 21 แห่ง) จะต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการ 500,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้ เป็นค่าดำเนินการตามที่ได้ตกลงกันไว้ เป็นความสมัครใจของบริษัทที่จ่ายให้กับ อผศ. โดยไม่ขอเรียกร้องเงินคืนไม่ว่าตลอดระยะเวลา 25 ปี จะมีงานด้านกิจการพลังงานร่วมกับ อผศ. หรือไม่ก็ตาม
ส่วนบริษัทใดที่ได้รับการคัดเลือกจนได้ร่วมทุนดำเนินการแล้ว จะต้องเสียค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ อผศ. เป็นรายปี ปีละ 200,000 บาทต่อแห่งทุกปี โดยบริษัทสมัครใจจ่ายให้กับ อผศ. และไม่ขอเรียกร้องเงินคืนไม่ว่าตลอดระยะเวลา 25 ปี จะมีงานด้านกิจการพลังงานร่วมกับ อผศ. หรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า จะมีการตกลงเรื่องผลประโยชน์อีกครั้งภายหลังได้งานมา เนื่องจากต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริง และต้นทุนของแต่ละงานก่อน
นั่นหมายความว่า เอกชนที่ต้องการให้ อผศ. ไปตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนต้องเสียเบื้องต้น 50,000 บาท ต่อมาถ้าได้รับการคัดเลือกผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วต้องเสียเงินอีก 500,000 บาท ต่อมาหากได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการจะต้องเสียอีก 200,000 บาทต่อปี
เท่ากับว่า เอกชนจะต้องเสียเงินให้กับ อผศ. เบ็ดเสร็จเฉพาะปีเดียวหากได้รับการดำเนินการคือ 7.5 แสนบาทต่อแห่ง !
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญของบันทึกความเข้าใจ ข้อ 7 ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทต้องเป็นผู้ลงทุนทุกอย่างในการดำเนินการด้านพลังงาน รวมถึงที่ดินจัดตั้งโครงการดังกล่าวด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะเดียวกันประกาศ กกพ. เรื่อง การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 ข้อ 16 ระบุว่า หากส่วนราชการที่ผ่านการคัดเลือกจาก กกพ. แล้ว จะต้องมีที่ตั้งโครงการอยู่ในท้องที่ดำเนินงานของหน่วยงานที่ผ่านการคัดเลือกด้วย ถ้าหน่วยราชการเป็นเจ้าของที่ดินต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นที่ดินราชพัสดุต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานราชการผู้ครอบครอง และได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์ให้เข้าร่วมโครงการได้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (ดูเอกสารประกอบ)
นั่นหมายความว่า หาก อผศ. ไม่มีที่ดินเพื่อดำเนินการเป็นของตัวเอง ก็อาจไม่สามารถผ่านคุณสมบัติเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ได้
นี่คือข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้นในประเด็น ‘ที่ดิน’ การติดตั้งโครงการดังกล่าว ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนให้ตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ ในโครงการอยู่ในขณะนี้
ส่วนโครงการนี้จะโปร่งใส-เป็นธรรม อย่างที่ พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผอ.อผศ. และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงไว้จริงหรือไม่ ต้องรอการตรวจสอบกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส