นักกม.แฉ ! สคบ. เตรียมออกร่างประกาศและระเบียบ จำกัดสิทธิมูลนิธิฟ้องคดีแทนผู้บริโภค
นักกฎหมายแฉ ! สคบ. เตรียมออกร่างประกาศ และระเบียบ จำกัดสิทธิมูลนิธิ ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค โดยไม่มีเหตุผล หวั่นกลายเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิผู้บริโภค มาตรา 61 และมาตรา 46 ยกกรณีกระทะ Korea King ก็จะไม่สามารถฟ้องแทนได้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เตรียมออกประกาศ ว่าด้วยการกำหนดลักษณะหรือประเภทคดีที่สมาคมหรือมูลนิธิมีสิทธิในการดำเนินคดี เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค พ.ศ. ตามข้อ 4 และข้อ 5 เป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างระเบียบ ประกาศของสคบ. เรื่องการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค 1. ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าด้วยการดำเนินการของสมาคมหรือมูลนิธิเกี่ยวกับการฟ้องคดีและการใช้สิทธิและอำนาจการฟ้องของสมาคมหรือมูลนิธิ พ.ศ....มีเนื้อหาเกินอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในม.42 คือ ในหมวด1 ของระบบนี้ ควรบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง ตาม ม.40 หมวด 2 ข้อ 7 และข้อ 8 มีเนื้อหาที่แทรกแซงการทำงานของมูลนิธิ สมาคมจนเกินสมควร เช่น การแจ้งให้ สคบ.ทราบภายใน 3 วัน หรือให้ สคบ. ร่วมประชุมด้วย ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเลือกให้มูลนิธิ สมาคม ฟ้องร้องแทนตนได้ นอกจากนี้ การกำหนดประเภทคดีก็แคบมาก จนจำกัดสิทธิผู้บริโภค
“ตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการกำหนดลักษณะหรือประเภทคดีที่สมาคมหรือมูลนิธิมีสิทธิในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภค พ.ศ. .... ข้อ 4 จำกัดสิทธิของสมาคมหรือมูลนิธิ โดยไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิผู้บริโภค มาตรา 61 และมาตรา 46 การกำหนดประเภทคดี เป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค แทนที่จะเปิดกว้าง เช่น กรณีกระทะ Korea King ก็จะไม่สามารถฟ้องแทนได้ เพราะไม่มีกรณีสัญญาซื้อขายเครื่องครัวในข้อ 5 ซึ่งสคบ.ควรกำหนดประเภทคดีที่ฟ้องแทนผู้บริโภคให้ได้มากกว่านี้” อาจารย์ไพศาลกล่าว
อนึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ช่วยเหลือในการดำเนินคดีให้แก่ผู้บริโภค มามากมายหลายคดี เช่น คดีทางการแพทย์กรณีเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาลซึ่งได้เรียกค่าความเสียหายในคดีไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท คดีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ กรณีเสียชีวิตค่าความเสียหายที่ฟ้อง ส่วนใหญ่จำนวนไม่น้อย 2ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีคดีผู้บริโภคอื่นๆ ที่มูลนิธิเคยดำเนินการ เช่น คดีผิดสัญญาประกันชีวิตและประกันภัย คดีเรียกค่าเสียหายจากสถานเสริมความงาม คดีผิดสัญญาบัตรเครดิต คดีเรียกค่าเสียหายจากกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และคดีผิดสัญญาเช่าซื้อประเภทรถยนต์ชำรุดบกพร่อง เป็นต้น