ดร.พสุ เดชะรินทร์ "สถาบันการศึกษาก็ถูก disrupt ไม่ใช่แต่เพียงองค์กรธุรกิจ"
วันนี้ในโลกธุรกิจจะเจอคำ 2 คำ คือ Disruptive และTransformation สถาบันการศึกษาเองก็ถูก disrupt ไม่ใช่แต่เพียงองค์กรธุรกิจ รวมถึงกรณีรัฐบาลใช้ ม.44 ให้สถาบันการศึกษาต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเปิดใน EEC ถามว่า ชอบหรือไม่ ชอบนะ เพราะเพิ่มการแข่งขัน ทำให้ทุกคนหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้
รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในงานแถลงข่าว กรณี QS จากประเทศอังกฤษ หน่วยงานในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก จัดอันดับให้ สาขาการบัญชีและการเงิน (Accounting & Finance) ของจุฬาฯ อยู่ใน 150 อันดับแรกของโลก และในสาขาการบริหารจัดการบริหารธุรกิจ (Business & Management) อยู่ใน 200 อันดับแรกของโลก (อ่านประกอบ:QS จัดอันดับจุฬาฯ ติด TOP 150 ของโลก สาขา Accounting & Finance)
แม้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะได้การรับรองจากระดับนานาชาติ แต่การจัดการเรียนการสอนให้ทันยุคสมัย นับจากนี้ รศ.ดร.พสุ ยืนยันชัดว่า สิ่งที่คณะไม่ทิ้ง คือ การพัฒนาสังคมไทย
"สังคมไทยมักจะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอๆ ว่า สถาบันการศึกษาที่สอนทางด้านการบริหารธุรกิจ สอนให้คนจบออกไปเพื่อมุ่งเน้นทำกำไร สร้างมูลค่าหุ้นให้ผู้ถือหุ้นไม่ใช่หรือ การตอบแทนคืนกลับสังคมสวนทางกันหรือไม่ แนวการเรียนการสอน วันนี้เราพยายามจัดสมดุลเรื่องนี้ เด็กของเราที่จบออกไปทำเรื่องของธุรกิจ แต่ทำอย่างไรให้เขาตอบแทนคืนสู่สังคมได้ด้วย คิดในแง่ของการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม
ฉะนั้นนโยบายของคณะฯ ช่วง 2- 3 ปีมานี้ จึงนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ 17 ข้อมาใช้ ใน 4 ข้อคือ No Poverty , Quality Education, Decent Work and Economic Growth , Industry, Innovation, and Infrastructure เป็นแนวทางในการกำหนดกิจกรรมในด้านต่างๆ ของคณะ”
คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ บอกว่า SDGs แม้จะเป็นเป้าหมายของประเทศ แต่จะพบว่า องค์กรภาคธุรกิจจำนวนมากพุ่งเป้าตรงนี้แล้ว วันนี้สถาบันที่สอนด้านธุรกิจจำนวนมากเริ่มเอาเป้าหมายนี้กลับมา คณะฯเราก็ทำเหมือนกัน
“เรามีวิจัยที่ชี้นำให้สังคม กำลังมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ให้คนเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น”
สำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ รศ.ดร.พสุ อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการศึกษาผ่านระบบออนไลน์มาแน่ๆ เพียงแต่ไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ที่ทดแทนการเรียนในห้องเรียน ซึ่งปกติมีการเรียนการสอนออนไลน์ภายในอยู่แล้ว แต่ปีนี้ตั้งเป้าเปิดสู่สังคมภายนอก เช่น สามารถเรียนวิชาการตลาดภายใน 3 ชั่วโมงได้ ไม่ต้องมาเรียนที่จุฬาฯ มีทั้งไม่มีค่าใช้จ่าย และมีค่าใช้จ่ายแต่ถือว่าถูกมากๆ นี่คือสิ่งที่คณะพยายามทำกระจายองค์ความรู้ออกไป
“หลักสูตรออนไลน์ของคณะไม่ใช่การถ่ายทำในห้องเรียน แต่เป็นการผลิตมาเพื่อเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ 1 วิชา ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และจะแบ่งเป็นคลิปสั้นๆ พักทุก 10 นาที มีกราฟฟิก มีถ่ายทำจากสถานที่จริง และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น”
ส่วนโครงการวิจัยเพื่อชี้นำสังคม มีหลากหลายโครงการ เช่น การออมสำหรับผู้สูงอายุ ทำเป็น Chatbox ผ่าน Facebook โดยสามารถคำนวนออกมาได้ หากท่านยังคงใช้ชีวิตแบบนี้อยู่จะมีเงินหลังเกษียณเท่าไหร่ เพื่อให้เตรียมพร้อมหลังการเกษียณ รวมถึงต่อยอดพัฒนาป็นแอพริเคชั่น เป็นเกม
รศ.ดร.พสุ กล่าวถึงกลุ่มนักศึกษาที่เข้าเรียน เป็นเจนเนอเรชั่น Z แล้ว การให้อาจารย์มายืนสอน 3 ชั่วโมงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ตอนนี้อาจารย์คณะพยายามปรับตัว บางวิชาเน้นการประกวดแผน หรือช่วยเหลือชุมชน ยกตัวอย่าง มีวิชาการหนึ่งที่เพิ่งเริ่มทดลองทำ คือการไม่เรียนในห้องเรียน
“เรามองว่า ธุรกิจไม่ได้เกิดในห้องเรียน แต่เกิดตามบริษัทต่างๆ จึงมาคิดว่า ทำอย่างไรให้เด็กไปเรียนตามบริษัท โดยมีบริษัทที่เป็นพันธมิตร และบริษัทที่เป็นศิษย์เก่าเข้ามาช่วย รับนักศึกษาไปเรียนแต่ละสัปดาห์ ฉะนั้นรูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปมากขึ้น หรือการเรียนการสอนภาควิชาการตลาด ระดับปริญญาโท จะให้นักศึกษาจัดการเรียนการสอนเอง อยากฟังใคร จัดและเชิญมา สิ่งเหล่านี้เราปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กยุคใหม่”
รศ.ดร.พสุ กล่าวอีกว่า สิ่งที่นานาชาติพูดเหมือนกันหมดวันนี้ ความท้าทายที่ทำสำคัญที่สุด คือการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคธุรกิจ
“ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนมากขึ้น เราเน้นให้เด็กทำกิจกรรม ยกตัวอย่าง โครงการ ChAMP หรือ Chulalongkorn Alumni Mentorship Program เป็นโครงการของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นำศิษย์เก่าที่เป็นประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพการงาน มาเป็น Mentor เพื่อให้คําแนะนํากับรุ่นน้อง ทั้งในด้านการตั้งเป้าหมายชีวิต การวางแผนเส้นทางอาชีพ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติที่ดี พัฒนาทักษะความสามารถในมิติต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงโลกการศึกษาเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน”
ทั้งนี้ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ยอมรับว่า ในอดีตบริษัทต่างๆ ไม่นิยมรับเด็กจุฬาฯ ทำงาน บ้างก็ว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฟ่อ ทำงานไม่เป็น เขาต้องการเด็กที่จบทำงานได้เลย วันนี้บริษัทเหล่านั้นที่บอกไม่รับๆ รับเด็กเราเข้าทำงานเยอะมากเลย
“ผมได้รับเสียงตอบรับจากเจ้าของบริษัทหลายๆ แห่งในเชิงบวกมากขึ้น โยนงานไปปุ๊บเด็กทำได้”
รศ.ดร.พสุ กล่าวด้วยว่า วันนี้ในโลกธุรกิจจะเจอคำ 2 คำ คือ Disruptive และTransformation สถาบันการศึกษาเองก็ถูก disrupt ไม่ใช่แต่เพียงองค์กรธุรกิจ รวมถึงกรณีรัฐบาลใช้ ม.44 ให้สถาบันการศึกษาต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเปิดในโครงการ “ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ถามว่า ชอบหรือไม่ ชอบนะ เพราะเพิ่มการแข่งขัน ทำให้ทุกคนหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้
“ถามว่า เรากำลังถูก disrupt หรือไม่ ตอบว่า ถูก โดยเทคโนโลยีเข้ามา คนจะเรียนออนไลน์มากขึ้น เราก็ถูก disrupt เด็กเจนฯ Z ที่เข้ามา รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป เราก็ถูก disrupt สถาบันการศึกษาโดยรวมกำลังถูก disrupt ต่อไประบบการศึกษาแบบดั่งเดิม อาจไม่จำเป็นแล้วก็ได้ เราจึงอยู่กับที่ไม่ได้ พอถูก disrupt หนีไม่พ้นทำให้เราต้อง Transform คำถามคือจะ Transform มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง รู้ว่า สถาบันการศึกษาวันนี้ต้องเปลี่ยน”
เมื่อถามถึงเทรนด์ธุรกิจในอนาคต รศ.ดร.พสุ มองว่า หนีไม่พ้น Disruptive และTransformation องค์กรทุกแห่งกำลังโดยทั้งสิ้น จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ฉะนั้นทุกแห่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง Disruptive อาจเกิดขึ้นได้จาก digital technology กระแสเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เรื่องของ Cloud มาแน่ BigData มาแน่ Internet of Thingsหรือ IoT และ Artificial Intelligence หรือ AI
“อีกหน่อยเราอาจมีการเรียนการสอนผ่าน AI อาจารย์มาพูดและให้เด็กทำการบ้าน เกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐฯ ให้ TA ( Teacher Assistant) เป็น AI ให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็น TA จากเดิมจะเป็นอาจารย์ หรือผู้ช่วยอาจารย์มาช่วยสอน ตอนนี้เป็นคอมพิวเตอร์มาช่วยตอบคำถาม หากเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง คนอื่นจะมาเปลี่ยนแปลงเรา หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเองจะเปลี่ยนช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอก ฉะนั้นแต่ละอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน มีงานวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมที่จะถูก Disrupt อย่างรวดเร็ว เช่น ภาคการเงินการธนาคาร ส่วนภาคการศึกษาอยู่อันดับ 6 แต่ยังไงก็ถูก Disrupt แน่ๆ รวมไปถึงเรื่องของเจนเนอเรชั่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน ”