วิจัยพบครูไทยเน้นสอน ‘เพศศึกษา’ ด้วยการบรรยาย ยันสู้เรียนรู้คู่กิจกรรมไม่ได้
ผลวิจัย ม.มหิดล ชี้ครูไทยสอนเรื่องเพศศึกษา ยังติดวิธีบรรยาย มีส่วนน้อยเรียนรู้คู่กิจกรรม แนะผู้บริหารโรงเรียนสนับสนุนครูเข้าอบรมการสอนด้วยกิจกรรมมากขึ้น เชื่อช่วยพัฒนาทักษะนักเรียน ใช้ชีวิตได้ปลอดภัยในสังคม
วันที่ 31 พ.ค. 2560 ศูนย์นโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ และความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และยูเนสโก จัดประชุมนำเสนอรายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ
Mr.Timo T. Ojanen มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทนคณะวิจัย กล่าวว่า เพศวิถีศึกษาควรครอบคลุมทุกมิติ ไม่เฉพาะสรีระร่างกายเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมด้านอารมณ์ ความรู้ และทักษะชีวิต ซึ่งในงานวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาไทย ได้ศึกษาเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียนและครูจากทุกภาคของไทย ในโรงเรียนสายสามัญและอาชีวศึกษา 398 แห่ง จำนวน 9,529 คน แบ่งเป็นนักเรียน 8,837 คน และครู 692 คน ในช่วง ก.ย.2558-มี.ค.2559 เพื่อทบทวนความสำเร็จและความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา พร้อมสำรวจทัศนคติของครูและนักเรียน
ผลการศึกษา พบว่า โรงเรียนเกินครึ่งใช้วิธีการสอนเพศศึกษาด้วยวิธีการบรรยายเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้กิจกรรมในการสอน อย่างเช่น การเล่นเกม การเยี่ยมคลินิกสุขภาพ การเล่นบทบาทสมมติ รวมถึงยังไม่ค่อยพบการสอนใช้ถุงยางอนามัยมากนัก ซึ่งการสอนด้วยกิจกรรมจะช่วยให้เกิดความเข้าใจเเละเรียนรู้ได้ดีกว่า เเต่การสอนโดยใช้กิจกรรมนี้มักถูกถ่ายทอดจากครูที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น ส่วนครูที่ไม่เคยผ่านการอบรมจะเน้นการสอนวิธีบรรยายเป็นหลัก
เมื่อครูและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกับเกี่ยวกับเพศวิถี Mr.TiMo ระบุจำนวนครึ่งหนึ่งรู้สึกสบายใจ ไม่เขินอาย หรืออึดอัด ขณะที่อีกครึ่งหนึ่ง ยังอาย ไม่กล้า หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่วนครูส่วนใหญ่มีทัศนคติเห็นด้วยกับความเท่าเทียม ร้อยละ 90 เห็นว่า สามีกับภรรยามีสิทธิเท่าเทียมกัน ขณะที่นักเรียนจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่า สามีมีสิทธิทุบตีภรรยา โดยเฉพาะกรณีเกิดความไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน อย่างไรก็ตาม การสอนเพศวิถีศึกษาอย่างถูกต้อง ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถาบันด้วย
Mr.TiMo กล่าวถึงข้อเสนอแนะด้วยว่า การสอนควรมุ่งเน้นในแง่การพัฒนาทักษะของนักเรียน แทนการใส่ความรู้ให้เต็มที่อย่างเดียว เพราะเชื่อว่า ทักษะจะช่วยให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาต้องเน้นการจัดกิจกรรม ครอบคลุมทุกเรื่องของเพศวิถีศึกษา มากกว่าการบรรยาย ตลอดจนต้องส่งเสริมให้ครูได้รับการอบรม เพื่อให้มีทักษะการสอนในลักษณะกิจกรรม ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนต้องสนับสนุน .
อ่านประกอบ:รายงานผลวิจัยเพื่อทบทวนสอนเพศวิถีศึกษา ในสถานศึกษาไทย