คนไอทีไทยใช้ Cloud-Big Data เพิ่มขึ้น สถาบันไอเอ็มซี เผยสวนทาง Blockchain มีสถิติต่ำ
สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจทักษะบุคลากรด้านไอทีไทย พบ 40% เข้าใจและเริ่มใช่เทคโนโลยี BigData 56% ระบุเคยใช้เทคโนโลยีคลาวน์ สวนทาง Blockchain ที่ยังมีสถิติต่ำ ขณะที่ 15% ของธนาคารใหญ่ระดับโลกกำลังมีแผนประยุกต์ใช้ Blockchain เต็มรูปแบบในปีนี้
วันที่ 30 พ.ค.สถาบันไอเอ็มซีเผยผลสำรวจทักษะบุคลากรด้านไอทีในประเทศไทย พบอัตราการใช้เทคโนโลยี Cloud และ Big Data ในองค์กรไทยเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน แต่สถิติการตอบรับ Cloud และ Big Data ที่สูงขึ้นสวนทางกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain ที่อยู่ในระดับต่ำมาก สะท้อนว่าบุคลากรไทยยังต้องได้รับการผลักดันต่อเนื่องเรื่อง Blockchain เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึง Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่องค์กรไทยควรตระหนักและนำไปใช้ เพราะ Blockchain นั้นสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่เพียงการโอนเงินที่ปลอดภัยและรวดเร็วแต่ยังลดโอกาสที่ไวรัสหรือมัลแวร์จะทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย
“Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนให้ความสนใจ เพราะถูกมองว่าจะเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบอย่างมัลแวร์ WannaCry ถ้ามี Blockchain ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะข้อมูลถูกจัดเก็บหลายที่” ดร.ธนชาติ กล่าว และว่า Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายหลายที่จนทำให้เกิดความปลอดภัยสูง จุดเด่นนี้ทำให้เทคโนโยลี Blockchain มีแผนถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การตรวจสอบความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้องค์กรรับรู้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างโปร่งใส ทำให้ Blockchain ไม่ได้เหมาะสมกับเพียงระบบโอนเงินเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกระบบที่ต้องการเก็บข้อมูล ทั้งรูปแบบจำกัดเฉพาะคนในองค์กร (Private) และแบบเปิดกว้างต่อสาธารณชน (Public)
ผอ.สถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงการสำรวจปี 2016 ของ IBM พบว่า 15% ของธนาคารใหญ่ระดับโลก กำลังมีแผนประยุกต์ Blockchain เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ (2017) ก่อนที่ตัวเลขนี้จะขยับเพิ่มเป็น 65% ในอีก 3 ปีหรือปี 2019’
“หลายอุตสาหกรรมยังไม่ทราบว่า Blockchain จะส่งผลกระทบอย่างไร ต้องติดตั้งระบบอื่นหรือไม่ และต้องเตรียมตัวอย่างไร”
ดร.ธนชาติ กล่าวด้วยว่าในอนาคต ฐานข้อมูลทะเบียนรถยนต์ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับ Blockchain เพื่อให้ทุกคนได้เห็นการทำธุรกรรมที่โปร่งใสขึ้น เช่นที่รัฐบาลเอสโทเนียเริ่มนำ Blockchain มาเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการประชาชนได้ชัดเจนแล้ว อุตสาหกรรมการเงินเริ่มเห็นแล้ว ธนาคารเริ่มจะนำ Blockchain มาใช้กับระบบเก็บสัญญา โรงงานที่ส่งออกสินค้าไปอียูที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ Blockchain ก็สามารถช่วยได้
"ผมคิดว่า 2-3 ปีข้างหน้า เราจะเห็น Blockchain ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น การแพทย์ก็จะเห็น ทั้งหมดเราจะพูดในงานสัมมนาวันที่ 14-15 มิ.ย.2560 นี้ เรื่อง Blockchain 2017Unlocking Internet of Value ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในเมืองไทย”
สำหรับในภาพรวม มูลค่าตลาดบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain ทั่วโลก มีการคาดว่าจะขยายตัวจาก 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 มาเป็น 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยเม็ดเงินบางส่วนจะหมุนวนในกลุ่มผู้ให้บริการโซลูชันและโครงข่ายเป็นหลัก
ส่วนของประเทศไทย ดร.ธนชาติ กล่าวว่า การลงทุนเรื่องเทคโนโลยี Blockchain ควรจะเริ่มที่การพัฒนา บุคลากร ซึ่งจะทำให้องค์กรไทยมีความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถสู่ระดับโลก
"องค์กรไทยต้องลงทุนเรื่องคน ให้มีความเข้าใจ การเติบโตเรื่องอื่นจะตามมาทีหลัง คนต้องเข้าใจก่อนว่า Blockchain เข้ามาใช้ทำอะไรได้บ้าง แล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง"
ทั้งนี้ ผลสำรวจศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ & Blockchain 2017 โดยสถาบันเอ็มไอซี ช่วงต้นเดือน พ.ค2560 กลุ่มตัวอย่าง 255 ราย พบคนไทยพร้อม BigData มากขึ้น
ในขณะที่ Blockchain ยังเป็นเรื่องใหม่ของบุคลากรไอทีไทย และคนไอทีไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่าง BigData มากขึ้น แต่เทคโนโลยีใหม่ เราก็ยังต้องพัฒนาต่อไป
ทั้งนี้การสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มตัวอย่างเกิน 40% เข้าใจและเริ่มใช้เทคโนโลยี BigData โดยราว 56% ระบุว่าเคยใช้เทคโนโลยี Cloud Computing บุคลากรกลุ่มนี้ราว 40% บอกว่าเคยใช้งาน Apache Hadoop และ 30% เคยใช้งาน NoSQL
"สรุปแล้ว ผลการวิจัยนี้สะท้อนว่าบุคลากรไอทีไทยมีประสบการณ์ มีทักษะ การใช้เทคโนโลยี Cloud Computing และ BigData ดีขึ้นมาก โดยภาษา Java และ PHP ยังเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง Spark (ใช้ประมวลผล), Microservices, Container หรือ devop ที่เริ่มใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ บุคลากรไอทีไทยยังไม่มีประสบการณ์มากนัก จึงควรที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ รวมถึงเรายังขาดประกาศนียบัตรระดับสากลที่จะทำให้บุคลากรไอทีไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย"