สศช.คาดปี 2561 เป็นปีแรกที่ประชากรสูงอายุพุ่งแซงวัยเด็กหลายแสนคน
สศช. จับมือ สกว. และ UNFPA จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี “ดร.ปรเมธี” หวั่นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแซงหน้าประชากรเด็ก สร้างภาระการพึ่งพิงวัยแรงงาน ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สศช. กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี ให้สมบรูณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี และได้ประเด็นการวิจัยเชิงรุกที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างและพัฒนาประชากรไทยต่อไป
ดร.ปรเมธี กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กแรกเกิดลดลงขณะที่ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนายังไม่ถึงจุดที่มีรายได้สูง อยู่ในโครงการสร้างประชากรและเศรษฐกิจที่ “แก่ก่อนรวย” กลุ่มประเทศอาเซียนในระยะนี้และระยะต่อไป สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ก้าวสู่สังคมสูงวัยนำประเทศอื่น ๆ
"สศช.ประมาณว่า 2561 เป็นปีแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าวัยเด็กหลายแสนคน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และในปี 2579 ประชากรจะมีจำนวนน้อยกว่าในปัจจุบัน ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 สร้างภาระการพึ่งพิงวัยแรงงานในการดูแลวัยเด็กและผู้สูงอายุ"
เลขาธิการสศช. กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เคยพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ขณะที่ด้านสังคมภาครัฐจะมีภาระในการจัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น มีองค์กรทางสังคมเชื่อมโยงครอบครัวและชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป
“เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นประชากรที่มีคุณภาพในทุกมิติและมีทักษะใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ท่ามกลางพัฒนาการผลิตในโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประชาชนยอมรับความเห็นที่แตกต่างโดยไม่แตกแยก แก้ปัญหาโดยสันติ รู้จักประชาธิปไตยและสิทธิหน้าที่ ปริมาณและคุณภาพของประชากรจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในอนาคต”
ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ในช่วงปี 2559 ถึงปัจจุบัน สกว.ได้ใช้แผนประชากรในการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (2558-2577) ของ สศช. เป็นกรอบวิจัยใน 3 ด้านสำคัญ คือ
(1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
(2) ความมั่นคงทางรายได้ของประชาชนเพื่อการเกษียณอายุ
และ (3) ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ซึ่งพบว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวประชากรทุกช่วงวัยมีความสำคัญ
"กรรมการที่ปรึกษาจึงเห็นว่าประเทศจำเป็นต้องมีนโยบาย มาตรการที่แตกต่างกันสำหรับประชากรต่างช่วงวัย ต่างเพศ และต่างพื้นที่ คือ พื้นที่ชนบท กับพื้นที่เมือง โดยครอบครัวและชุมชนมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาครัฐและภาคเอกชน และกำหนดให้ ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร’ เป็นกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ที่ สกว.ให้การสนับสนุนทุนศึกษาวิจัย เพื่อนำข้อค้นพบที่สำคัญจากการศึกษามากำหนดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย/แนวทางแก้ไขผลกระทบที่มีความชัดเจน สำหรับนำไปใช้การพัฒนาประชากรของประเทศในระยะยาว"
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประชากรกับการพัฒนาประเทศ...อนาคตที่ท้าทาย” ว่าหากอยากแก้ปัญหาอย่าปล่อยทิ้งให้เป็นหน้าที่รัฐบาล ประชาชนเจ้าของประเทศต้องมีส่วนร่วม ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือกันของคนทุกสาขา หากต้องการที่จะขยายกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องปลูกฝังความคิดตั้งแต่เด็ก ให้ความรู้และสร้างประสบการณ์ด้านธุรกิจเพื่อสังคมแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา
"ทุกวันนี้ระบบการศึกษาไทยอาศัยการท่องจำเพื่อไปสอบ ขาดทักษะอาชีพที่จะนำไปสู่ชีวิตและการงานในอนาคต โดยธนาคารโลกระบุว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับอ่านหนังสือไม่ออก ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบการศึกษาด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและดึงเอกชนเข้ามาช่วย"
พร้อมกันนี้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในการสร้างประชากรเพื่อพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1) ลดการทิ้งถิ่นฐานโดยพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ 2) ให้ความสนใจคนที่มีโอกาสน้อย เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลผลิต 3) ให้คนต่างชาติเป็นคนไทยแทนที่จะสร้างคนไทยเองอย่างเดียว 4) ใช้โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกปิดเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุและชาวชนบทที่มีโอกาสน้อย 5) เชิญชวนให้ภาคธุรกิจเอกชนและมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาไทย 6) เชิญให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริหารและพัฒนาโรงเรียน 7) ผลักดันโครงการปลูกป่าล้างหนี้และสอนน้องล้างหนี้สำหรรับผู้กู้เงิน กยศ.และยังไม่ใช้หนี้ ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาปลูกป่าเพื่อเป็นทุนด้านอุดมศึกษา 8) สร้างนักเรียนให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ แบ่งปันเป็น เป็นนักพัฒนา
ในส่วนของการนำเสนอ (ร่าง) แผนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการฯ สศช. และประธานกรรมการที่ปรึกษากรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร’ สกว. ระบุว่าร่างแผนประชากรฯ เป็นแนวทางการพัฒนาประชากรในระยะยาวให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ภายใต้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งนำประเทศสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไทยสู่สังคมสูงวัย
ทั้งนี้ ร่างแผนประชากรฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ประชากรไทยเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมยกระดับการพัฒนาประเทศ” โดยมี 5 ประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเพิ่มขึ้นโดยสมัครใจ โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชันวาย 2) การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพประชากร 3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร 4) การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและระบบการคุ้มครองทางสังคม 5) การสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาประชากร โดยมีกรอบการพัฒนา 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มุ่งพัฒนาศักยภาพของประชากรไทยให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการสร้างสภาพแวดล้อมในการมีบุตร ระยะที่ 2 เน้นการพัฒนาระบบและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเด็ก เจเนอเรชันใหม่ที่จะเกิดและเติบโตหลังปี 2569 และระยะที่ 3 ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมให้ประชากรไทยทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนและยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว