ผู้แทน WHO ชี้บุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลก 2 หมื่นคน/วัน เทียบเท่ามีเครื่องบินตกทุกนาที
คนไทยติดบุหรี่ สิบล้านคน เสียชีวิต 5 หมื่นคนต่อปี ด้าน องค์การอนามัยโลกเผยยกระดับควบคุมยาสูบเป็นวาระของโลก ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ที่โรงเเรมเอเชีย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (ASEAN Youth Forum to celebrate world No Tobacco Day 2017)
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปี เมื่อมีการสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต
และข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534-2558 ) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี2534 เหลือ 10.9 ล้านคนในปี 2558 ในจำนวนนี้พบว่า เป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปีจำนวน 3.1 แสนคน ซึ่งหากเราช่วยกันป้องกัน Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90
“การหยุดนักสูบหน้าใหม่ นอกจากจะช่วยลดอัตราการป่วยและการตายจากบุหรี่แล้ว ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเสพยาเสพติดและอบายมุขร้ายแรงชนิดอื่นๆ ด้วย”
ด้านน.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ และตั้งเป้าไว้ว่าในศตวรรษที่ 21 ประเทศต่างๆ จะมีคนสูบบุหรี่ต่ำกว่าร้อยละ 5 อันเป็นผลจากการที่เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่วงจรการสูบบุหรี่
"แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ในหลายประเทศอาเซียนไม่ลดลง ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก"
จากข้อมูลล่าสุดของเครือข่ายควบคุมผู้บริโภคยาสูบในอาเซียน พบว่า มีผู้สูบบุหรี่ในอาเซียนจำนวน 122.4 คน คิดเป็น 10% ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก โดยประเทศอินโดนีเซียทีสูบบุหรี่อัตราสูงสุดถึง 66% และประเทศสิงคโปร์ผู้สูบบุหรี่มีอัตราต่ำสุด 23.1%
น.ส.บังอร กล่าวอีกว่า จำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่ในประเทศอาเซียน ประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราเยาวชนติดบุหรี่สูงสุดจำนวน 65,188,388 คน คิดเป็น 36.3% รองลงมาคือ ประเทศพิลิปปินส์จำนวน 16,500,000 คน ในขณะที่ข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในประเทศอาเซียน รวมทั้งสิ้น 569,046 คนต่อปี โดยประเทศอินโดนีเซียมีอัตราเสียชีวิตสูงสุด 240,618 คนต่อปี รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 81,247 คนต่อปี ส่วนประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 50,710 คนต่อปี ต่ำสุดคือบรูไนมีเพียง 200 คนต่อปี
ด้านดร.เรนู การ์ก ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาวะของประชาชน มาตรการหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาไปที่ยั่งยืนภายใน พ.ศ. 2573 คือการลดจำนวนผู้ติดบุหรี่ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศได้
“วาระของการพัฒนาที่ยั่งยืนและ 17 เป้าหมายระดับโลก ต้องการให้มั่นใจว่า “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” การควบคุมยาสูบซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่ต้องการลดการเสียชีวิตก่อนเวลาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง( NCDs) ซึ่งได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมปอดพอง อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่นั้นเอง” ดร.เรนู กล่าว และว่า ทุกวันมีคนเสียชีวิตจากบุหรี่ 20,000 คนต่อวัน อยากให้จินตนาการว่ามีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ตกแต่ละครั้งเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก แต่วันนี้ผู้เสียชีวิตการบุหรี่จำนวนมหาศาลเท่ากับว่ามีเครื่องบินตกทุกๆ นาที นี่จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องช่วยกัน โดยเฉพาะเยาวชน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดของเยาวชนจาก 8 ประเทศอาเซียน ในประเด็นการรณรงค์เพื่อหยุดยั้งการสูบบุหรี่ในคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นการเชื่อมเครือข่ายนักกิจกรรมในประเทศอาเซียน