โอกาสในวิกฤต : ทางใหม่ๆ ในต้มยำกุ้ง
“ ต้นตอของปัญหานี้ใหญ่กว่าระบบธนาคารพาณิชน์ แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจ และความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด เริ่มตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจหรือคดีที่เกี่ยวกับคนรวย กระบวนการยุติธรรมพิการเลย มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ อยู่เหนือกฎหมาย และถ้าไม่มีการใช้กฎหมายที่เท่าเทียมก็ยังคงมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีก”
เมื่อเร็วๆ นี้ มิวเซียมสยาม จัดงานเสวนา "โอกาสในวิกฤต : ทางใหม่ๆ ในต้มยำกุ้ง" โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและสังคมการเมือง ร่วมเสวนา ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน
นายธนาธร กล่าวถึง เศรษฐกิจไทยและระบบทางธนาคารไทย ณ วันนี้ ถือว่าอยู่ในระบบที่มั่นคง แข็งแกร่ง หากเทียบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ ปี 2540 โดยตัวชี้วัดแรก คือ ตัวเลข ณ สิ้นปี 2559 หนี้เน่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2.8% ของหนี้ทั้งหมด หรือ 3.8 แสนล้านบาท ขณะที่การตั้งสำรอง สูงกว่าหนี้เน่า ฉะนั้นระบบธนาคารจึงมองว่า มีความมั่นคง ทุนของธนาคารก็สูงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา
“หากเกิดวิกฤตก็เชื่อว่า เป็นเฉพาะแห่งไป แต่ล้มทั้งระบบเหมือนปี 2540 นั้นในวันนี้มีน้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย”
นายธนาธร กล่าวถึงภาคเอกชนในตอนนี้เรียกว่า เป็น “ยุคทองทุนนิยม” จากยอดขายของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2559 มียอดขายถึง 10 ล้านล้านบาท และมีกำไรถึง 9 แสนล้านบาท ถือว่า เป็นสถิติยอดผลประกอบการที่สูงที่สุด ดังนั้นฝั่งธนาคารพาณิชย์ และบริษัททั่วไป ค่อนข้างเข้มแข็ง ปัญหาที่เกิดขึ้นของธนาคารไทย ไม่มีที่ปล่อยกู้ เนื่องจากไม่มีการลงทุนทางเศรษฐกิจ
“มีเงินสดในระบบธนาคารเยอะมากที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้”รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท กล่าวว่า ที่วันนี้ระบบธนาคารและบริษัทเอกชนไทยเข้มแข็ง เพราะมีการปรับตัว หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยังขยาดกับการเป็นหนี้อยู่ การกู้เกินตัวจึงน้อยมาก วิวัฒนาการของบริษัทไทย จึงมีความหวาดกลัวหนี้อยู่ในใจลึกๆ ซึ่งต้องเปลี่ยนสัก 1-2 เจนเนอเรชั่น ให้ความทรงจำวิกฤติเศรษฐกิจจางหายไปก่อน จึงเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารจัดการ
นายธนาธร กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คือระบบธนาคารมีการผูกขาด มีธนาคารใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงไปง้อทุนธนาคารเพื่อขอกู้เงิน การเข้าถึงเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจช่วงเวลานั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นทุนอุตสาหกรรมพยายามเข้าไปเป็นผู้เล่นในทุนธนาคารทำให้มีบริษัทหลักทรัพย์เกิดขึ้นเยอะแยะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการให้กู้เงินไขว้ไปไขว้มา ท้ายสุดมีโครงการบริหาร ผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน เวลาพังจึงพังทั้งสองขา นี่คือหนึ่งบทเรียน
สำหรับโอกาสในวิกฤตปี 2540 ที่เรายังไม่ได้ทำ นายธนาธร มองว่า คือเรื่องของหนี้เน่าจากปี 2540 ที่ยังอยู่ในระบบมีประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ตั้งต้นที่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าจะคืนเงินต้นหมดต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจากนี้ ขณะที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ย 4 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นโอกาสที่เราสูญเสียไป เปรียบเทียบได้เท่ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากลาดพร้าว-สำโรง ที่พึ่งอนุมัติไปเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากแคราย-มีนบุรี 5.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับดอกเบี้ย หมายความว่า ทุกๆปี รถไฟก็จะหายไปปีละเส้น สามารถสร้างสนามบินภูเก็ตปีละอีก 3 สนามบิน
“การเกิดวิกฤติปี 2540 ต่อมาเอาหนี้เอกชนมาเป็นหนี้สาธารณะ กระบวนการแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะถือว่า วันนี้เรายังไม่มีผู้รับผิดชอบ คดีวิโรจน์ นวลแข ปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย และคดีนายอมเรศ ศิลาอ่อน ขายหนี้เน่าปรส. ที่ยังอยู่ในความรับรู้ แต่ยังมีคดีล้มบนฟูกอีกมากที่ทำให้เกิดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ที่ยังไม่ถูกจัดการ
ที่สำคัญเวลาพูดถึงเรื่องนี้ คนยังมองว่า ไม่ใช่เรื่องของผม ปัญหาคือคนที่จ่ายเงิน 1.4 ล้านล้านบาท คือเงินภาษีของพวกคุณ ถามว่าเรื่องนี้ฟังแล้วไกลตัว ใช่ไกลตัว แต่อย่าลืมคุณจ่ายภาษี ที่รัฐบาลนำไปจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยเอกชน คนที่ทำผิด มีส่วนร่วมสร้างความเสียหายแค่ 8-9 คน หากเราไม่สร้างมาตรฐานเรื่องนี้ก็จะเกิดเหตุการณ์ต่อไปเรื่อยๆ”
นายธนาธร กล่าวถึงธนาคารอิสลาม ณ วันนี้มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) 5 หมื่นล้านบาท การนำหนี้ก้อนนี้กลับเข้าไปเป็นของรัฐบาล ก็ยังไม่มีการหาผู้กระทำผิด ถ้าเราปล่อยแบบนี้ก็จะเกิดแบบนี้อีกเรื่อยๆ สามารถนำเงินของประชาชนผู้เสียภาษีในทางมิชอบ ผลักภาระกลับสู่ประชาชน
“ ต้นตอของปัญหานี้ใหญ่กว่าระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจ และความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด เริ่มตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจหรือคดีที่เกี่ยวกับคนรวย กระบวนการยุติธรรมพิการเลย มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ อยู่เหนือกฎหมาย และถ้าไม่มีการใช้กฎหมายที่เท่าเทียมก็ยังคงมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีก” นายธนาธร กล่าว และว่า เรายังไม่ได้ทำและทำไม่เสร็จ คือการสร้างบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมทางการเงิน ใครก็ตามที่นำเงินของรัฐและประชาชนไปใช้ในความมั่งคั่งของตัวเอง และผลักภาระให้กลับประเทศ ควรจะได้รับการลงโทษ บรรทัดฐานเรื่องพวกนี้เราต้องขีดเส้นให้ชัด
นายธนาธร ยังให้ข้อมูลธนาคารในประเทศไทยที่มีอยู่ไม่เกิน 15-20 แห่ง หากเปรียบเทียบประชากรญี่ปุ่นมี 127 ล้านคน มีธนาคารทั้งหมด 198 ธนาคาร ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน มีธนาคารทั้งหมด 14 ธนาคาร ญี่ปุ่นมีธนาคาร 10 เท่าของไทย และมีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพมหานคร ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรเงินทุนสำหรับคนต่างจังหวัดเป็นไปไม่ได้ ไม่ทำให้เกิดการสร้างงานที่มีมูลค่า ในต่างจังหวัด
“ผมเข้าเรียนที่ ม.ขอนแก่น จบออกมาหางานที่ขอนแก่นน้อยมาก ต้องหางานที่กรุงเทพ เพราะทุนกระจุกตัวที่กรุงเทพมากเกินไป รวมทั้งผูกขาดอยู่กับทุนไม่กี่ทุน สิ่งที่เราต้องทำ คือการทำลายการผูกขาดระบบธนาคารในประเทศไทย สิ่งที่ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดเมื่อ 40-50 ปีทันสมัย ให้มีธนาคารท้องถิ่น”
หากถามว่า อะไรสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท ยืนยันว่า คือการเข้าถึงแหล่งทุนที่เสมอภาค
พร้อมกันนี้ เขาได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายด้วยว่า ทำอย่างไรให้เกิดวัฒนาธรรมโปร่งใส หรือพร้อมโดนตรวจสอบ หรือตรวจสอบได้ เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น ในระบบธนาคารพาณิชย์การอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร ต้องมีการบันทึกการตัดสินใจ หรือผู้อำนาจของประชาชนทุกคนต้องโปร่งใส...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: