หนี้เน่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ตามหลอน จ่ายดบ.ทุกปี 4 หมื่นล. = รถไฟสายสีเหลือง ชมพู หายปีละเส้น
รองประธานกก.บริหารกลุ่มไทยซัมมิท ชี้โอกาสในวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ยังไม่ได้ทำ คือจัดการ หนี้เน่าจากปี 2540 ที่ยังอยู่อีก 9.5 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ตั้งต้นที่ 1.4 ล้านล้านบาท ระบุกว่าจะคืนเงินต้นหมดต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจากนี้ ยันรัฐควักเงินจ่ายดอกเบี้ย 4 หมื่นล้านบาท/ปี ประเทศสูญเสียโอกาส เท่ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง -รถไฟฟ้าสายสีชมพู หายไปปีละเส้น
เมื่อเร็วๆ นี้ มิวเซียมสยาม จัดงานเสวนา "โอกาสในวิกฤต : ทางใหม่ๆ ในต้มยำกุ้ง" โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและสังคมการเมือง ร่วมเสวนา ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน
นายธนาธร กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยและระบบทางธนาคารไทย ณ วันนี้ ถือว่าอยู่ในระบบที่มั่นคง แข็งแกร่งหากเทียบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือ ปี 2540 โดยตัวชี้วัดแรก คือ ตัวเลข ณ สิ้นปี 2559 หนี้เน่าหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2.8% ของหนี้ทั้งหมด หรือ 3.8 แสนล้านบาท ขณะที่การตั้งสำรอง สูงกว่าหนี้เน่า ฉะนั้นระบบธนาคารจึงมองว่า มีความมั่นคง อีกทั้งทุนของธนาคารก็สูงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา
“หากเกิดวิกฤตก็เชื่อว่า เป็นเฉพาะแห่งไป แต่จะล้มทั้งระบบเหมือนปี 2540 นั้น ในวันนี้มีน้อยมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย”
นายธนาธร กล่าวถึงภาคเอกชนในตอนนี้เรียกว่า เป็น “ยุคทองทุนนิยม” จากยอดขายของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2559 มียอดขายถึง 10 ล้านล้านบาท และมีกำไรถึง 9 แสนล้านบาท ถือว่า เป็นสถิติยอดผลประกอบการที่สูงที่สุด ดังนั้นฝั่งธนาคารพาณิชย์ และบริษัททั่วไป ค่อนข้างเข้มแข็ง ปัญหาที่เกิดขึ้นของธนาคารไทยวันนี้คือไม่มีที่ปล่อยกู้ เนื่องจากไม่มีการลงทุนทางเศรษฐกิจ
“มีเงินสดในระบบธนาคารเยอะมากที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้”รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท กล่าว และว่า ระบบธนาคารและบริษัทเอกชนไทยเข้มแข็ง เพราะมีการปรับตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 รวมทั้งเรายังขยาดกับการเป็นหนี้อยู่ การกู้เกินตัวจึงน้อยมาก วิวัฒนาการของบริษัทไทยมองว่า มีความหวาดกลัวหนี้อยู่ในใจลึกๆ ซึ่งต้องเปลี่ยนสัก 1-2 เจนเนอเรชั่น ให้ความทรงจำวิกฤติเศรษฐกิจจางหายไปก่อน จึงเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารจัดการใหม่ๆ
นายธนาธร กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คือสมัยนั้นระบบธนาคารมีการผูกขาด มีธนาคารใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงต้องไปง้อทุนธนาคารเพื่อขอกู้เงิน การเข้าถึงเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ยาก ทำให้ทุนอุตสาหกรรมพยายามเข้าไปเป็นผู้เล่นในทุนธนาคาร ส่งผลให้มีบริษัทหลักทรัพย์เกิดขึ้นมากมาย และก็เกิดการให้กู้เงินไขว้ไปไขว้มา เจ้าของอุตสาหกรรม เจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน เวลาพังจึงพังทั้งสองขา นี่คือหนึ่งบทเรียนที่เราได้
สำหรับโอกาสในวิกฤตปี 2540 ที่เรายังไม่ได้ทำ นายธนาธร กล่าวว่า คือ การจัดการหนี้เน่าจากปี 2540 ที่ยังอยู่ในระบบมีประมาณ 9.5 แสนล้านบาท จากยอดหนี้ตั้งต้นที่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่าจะคืนเงินต้นหมดต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจากนี้ ขณะที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ย 4 หมื่นล้านบาทต่อปี นับเป็นโอกาสที่เราสูญเสียไป เปรียบเทียบได้กับทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากลาดพร้าว-สำโรง ที่รัฐบาลพึ่งอนุมัติไปเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากแคราย-มีนบุรี 5.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับดอกเบี้ย หมายความว่า ทุกๆปี ประเทศไทยรถไฟก็จะหายไปปีละเส้น หรือสามารถนำเงินตรงนี้มาสามารถสร้างสนามบินภูเก็ตปีละอีก 3 สนามบิน
“การเกิดวิกฤติปี 2540 ต่อมาเอาหนี้เอกชนมาเป็นหนี้สาธารณะ กระบวนการแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะถือว่า เรายังไม่มีผู้รับผิดชอบ กรณีของธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นหนี้ 5 หมื่นล้านบาท การนำหนี้ก้อนนี้กลับเข้าไปเป็นของรัฐบาล ก็ยังไม่มีการหาผู้กระทำผิด ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจ และความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรม เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจหรือคดีที่เกี่ยวกับคนรวย สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกฎหมาย และถ้าไม่มีการใช้กฎหมายที่เท่าเทียมก็ยังคงมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีก”
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ฉะนั้น การสร้างบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมทางการเงิน ใครก็ตามที่นำเงินของรัฐและประชาชนไปใช้ในความมั่งคั่งของตัวเองและผลักภาระให้กลับประเทศควรจะได้รับการลงโทษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: