กลยุทธ์เก็บรักษา"คนที่ดีและเก่ง"ไว้ในระบบด้วยความเจ็บปวดและเกลียดชัง
Baumeister RF เป็นนักจิตวิทยาสังคมที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง "ประสบการณ์อันเลวร้ายมีผลแรงกว่าประสบการณ์อันดีงาม" (Bad is stronger than good) แนวคิดดังกล่าวถือเป็นหลักคิดหนึ่งในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และศาสตร์การตลาด ที่มุ่งเน้นเรื่องประสบการณ์ลูกค้าและการจงรักภักดีต่อสินค้า/บริการ โดยเล่นกับความลำเอียงของพฤติกรรมมนุษย์จากประสบการณ์อันเลวร้าย ซึ่งเรียกว่า "Negativity bias"
ในด้านการทหาร เชื่อว่าประสบการณ์ที่เลวร้าย เจ็บปวดทรมาน จะทำให้คนหรือสัตว์ต่างๆ เกิดการรับรู้ว่าประสบการณ์นั้นๆ เป็นความเสี่ยง เป็นภัยคุกคาม และกระตุ้นให้เกิดการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน พร้อมกับกระทำการตอบสนองต่อปรากฏการณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว สม่ำเสมอ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและประโยชน์ของคนคนนั้นหรือสัตว์ตัวนั้น...หรือเรียกได้ว่า ประสบการณ์อันเลวร้ายจะกระตุ้นให้เกิดศักยภาพในการเอาชีวิตรอด สร้างความแกร่งนั่นเอง (Survival of the fittest)...
จึงไม่แปลกใจที่หน่วยรบ หรือกองทัพต่างๆ ในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงเลือกใช้ความเจ็บปวด โหดร้าย มาเป็นเครื่องมือในการสร้างกำลังพลที่จงรักภักดีต่อผู้นำ ก่อนไปถล่มข้าศึก อาทิ ฮิตเลอร์ เป็นต้น
อาจมีคนสงสัยว่าทำไมจึงเกิดความจงรักภักดี อธิบายได้ว่า เป็นเพราะถ้าไม่จงรักภักดีก็จะเจ็บปวด หรือบางส่วนจะมีอีกเหตุหนึ่งคือเจ็บมานานกว่าจะได้สถานะปัจจุบัน จึงไม่ยอมละทิ้งตำแหน่งอำนาจ และหวังจะระบายต่อรุ่นถัดไป
ในขณะที่หากวิเคราะห์ด้านพฤติกรรมการตลาด เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า เวลาเกิดประสบการณ์เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ไม่ดี ข่าวมักแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และไปอย่างกว้างขวางกว่าการมีประสบการณ์ที่ดี
นักการตลาดด้านมืดจึงมักให้กลยุทธ์โจมตีจุดอ่อนของคู่แข่ง หรือชูจุดแข็งตนเองที่เหนือกว่าจุดอ่อนของคู่แข่ง และมักได้ผลเสมอในการชิงส่วนแบ่งการตลาด...สังเกตดีๆ จะพบว่าแทบไม่ค่อยมีเจ้าใดชูข้อดีของตนโดยไม่เกี่ยวกับจุดอ่อนของเจ้าอื่น
จะการทหาร หรือการตลาด ก็ดูจะใช้กลยุทธ์ที่มีพื้นฐานแนวคิดที่คล้ายกัน เพื่อหวังผลที่ตั้งไว้คือ ดึงคนให้อยู่กับฝ่ายตนคงไม่เป็นเรื่อง หากรัฐททท. (ท่วมทุกที) ไม่ก่อเรื่อง
กลุ่มนักบริหารระบบสุขภาพและรัฐททท. ครึ้มอกครึ้มใจ จะสร้างความจงรักภักดีให้เกิดแก่น้องหมอที่ต้องทำงานใช้ทุน บรรจุในตำแหน่งที่ต้องการทั้งคนดีและคนเก่ง
เลือกกลยุทธ์ใช้ความโหดร้ายและเจ็บปวด แก่น้องหมอจบใหม่ทั้งชายและหญิง ผ่านการเข้าค่ายทหาร ตากแดดตากฝน เดินป่า เข้าฐานอันตราย พร้อมใช้ถ้อยคำดูหมิ่นดูแคลน หวังจะให้เกิดกองทัพหมอที่ปรารถนา...
หารู้ไม่ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวสร้างประสบการณ์เลวร้ายจับขั้วหัวใจแก่น้องๆ พร้อมบาดแผลตามร่างกาย
เจ็บกายยังหายง่ายกว่าเจ็บใจ
ตามตำราพฤติกรรม เค้าขีดเส้นใต้เน้นย้ำไว้ว่า หากอยากทำให้ลูกค้าจงรักภักดี ต้องสร้างแรงจูงใจผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดี และหากจะใช้กลยุทธ์ที่ใช้ประสบการณ์เลวร้ายเป็นเครื่องมือนั้น จงใช้กับเจ้าอื่นที่เป็นคู่แข่ง อย่าใช้แบบทหารในการสงคราม เพราะหากทำเช่นนั้นจะทำให้ลูกค้าเกิดอาการ "เข็ดขยาด" และจะพยายามทำทุกวิถีทางในการหลบหนี หลีกเลี่ยง เพื่อไม่มาเจอประสบการณ์เลวร้ายอีกในอนาคต ตามสัญชาตญาณมนุษย์ที่เรียกว่า "loss aversion"
หมอมาทำงานในระบบรัฐท่วมทุกที มาด้วยสัญญาใช้ทุนก็จริง แต่หากไม่มีใจ ก็ไม่เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการดูแลรักษา ครบปีที่กำหนดก็จากไปอย่างไม่มีเยื่อใย หรือแค่ครบหนึ่งปีก็ตัดสินใจลาออกดีกว่า
มีคนดีและคนเก่งใหม่ๆ เข้ามาในระบบ แทนที่จะทำให้รู้สึกดี ประทับใจ อยากอยู่กันนานๆ...แต่กลับเลือกกลยุทธ์ที่ผลักไสพวกเค้าแบบนี้
ไม่ใช่ใครๆ ก็จะเลือกกลยุทธ์นี้ได้นะ...จะเลือกทำแบบนี้ได้ ต้องมีปัญหาทั้งสมองและจิตใจเลยล่ะครับ...
เหล่านักบริหารระบบสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โปรดพิจารณาตนเอง ก่อนที่ระบบจะล่มสลาย...
สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้จัดเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? อาจต้องติดตามดู...
Bad is stronger than Good? Not at all!!!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://oknation.nationtv.tv/blog