องค์กรสตรี จี้“บิ๊กตู่” ล้างบางระบบเลี้ยงดูปูเสื่อ จัดเด็กให้นาย ชี้ประตูสู่ทุจริต-คอรัปชั่น
องค์กรสตรี เรียกร้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือคดีค้าประเวณีเด็กแม่ฮ่องสอน จี้ส่งให้“ดีเอสไอ”ดำเนินการต่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใสไม่บิดเบือน
วันที่ 26 พ.ค.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยนายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และตัวแทนองค์กรด้านเด็กและเยาวชน 13 องค์กร กว่า30คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายพีระ ทองโพธิ์ ผอ.ศูนย์บริการประชาชน ปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของกระบวนการสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีค้าประเวณีเด็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน และขอให้เดินหน้านโยบายขจัดค่านิยม “เลี้ยงดูปูเสี่อ” ให้เป็นรูปธรรม
นางทิชา กล่าวว่า จากคดีค้าประเวณีเด็กและเยาวชนหญิงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นข่าวต่อเนื่องและสังคมให้ความสนใจ เนื่องจากผู้เสียหายระบุว่ามีข้าราชการในพื้นที่ รวมถึงผู้ว่าราชการการจังหวัด เกี่ยวข้องเป็นผู้ซื้อประเวณี ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ได้แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่พบหลักฐานที่โยงไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสอบวิจัยกับผู้ว่าฯและได้สั่งยุติกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะดำเนินการให้ผู้ว่าฯ คนดังกล่าวกลับเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ตามเดิม
“ผลสอบสวนล่าสุด ทำให้เกิดความเคลือบแคลง เกิดคำถามถึงความเป็นกลาง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้นำตัวพยานผู้เสียหายเข้าเครื่องจับเท็จ ผลพิสูจน์ไม่พบว่าพยานให้การเท็จ ทั้งยังไม่มีการนำผลพิสูจน์นี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางคดี เพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งกระบวนการสอบสวนของสตช.ยังทำให้เกิดคำถามถึงความตั้งใจจริงในการคุ้มครองพยานผู้เสียหายให้ได้รับความปลอดภัย เนื่องจากชุดสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เปิดเผยใบหน้าพยาน และชื่อของหัวหน้าชุดคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ ส่งผลให้พยานและผู้คุ้มครองพยานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคาม”
นางทิชา กล่าวอีกว่า แม้ผลสอบไม่มีหลักฐานเอาผิดผู้ว่าฯในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อประเวณีเด็ก แต่ผู้ว่าฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในระดับจังหวัด ย่อมต้องมีหน้าที่สอดส่อง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการคุ้มครองเด็กและการค้ามนุษย์ในจังหวัด การปล่อยปละละเลยให้มีขบวนการค้าประเวณีเด็กซึ่งเข้าข่ายการค้ามนุษย์ในพื้นที่ปกครอง ถือเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด อาจเข้าข่ายเป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงมหาดไทยเลย
นางทิชา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้สังคมกังขา ต่อกระบวนการและผลการตรวจสอบยังจะส่งผลกระทบทางลบต่อสถานะของประเทศในเวทีนานาชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับความตั้งใจจริงและผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้กลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านเด็กเยาวชนและสตรี จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีการค้าประเวณีเด็กและการค้ามนุษย์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก และเพื่อลดความคลางแคลงใจของสังคมต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสอบสวนดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2. ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวง มหาดไทย และเร่งรัดให้มีการดำเนินการเอาผิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการสอดส่อง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการคุ้มครองเด็กและการค้ามนุษย์ในจังหวัด ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย
3.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดชอบ กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำภาพพยานผู้เสียหายเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับพยาน และเจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน และกำกับดูแลให้มาตรการคุ้มครองพยานมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตามหลักสากลอย่างแท้จริง
และ4.ให้กวดขันและติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้ข้าราชการทุกพื้นที่ร่วมกันขจัดค่านิยม “เลี้ยงดูปูเสื่อ” หรือการจัดหาหญิงและเด็กเพื่อมาบริการทางเพศให้กับข้าราชการหรือบุคคลอื่น ๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ และยังนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และขอให้พิจารณาสั่งการให้ทุกกระทรวงต้องมีนโยบายระดับกระทรวงเพื่อขจัดการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเคร่งครัดด้วย