คำถามจัดซื้อ‘ตู้ประชารัฐ’8แสน? เทียบคำแจง ททท.ก่อน‘กอบกาญจน์’สั่งสอบเชิงลึก
“…ในการว่าจ้างเอกชนด้วยวิธีพิเศษดังกล่าวของ ททท. กับเอกชน 5 ราย มีเอกชนอย่างน้อย 3 แห่ง ที่อาจดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น บางแห่งแจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า โรงสีข้าว หรือทำธุรกิจด้านยา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จึงอาจไม่มีความสามารถเพียงพอเข้ามาดำเนินการก่อสร้างตู้ประชารัฐฯได้ ?...”
ประเด็นการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ว่าจ้างเอกชนด้วยวิธีพิเศษ 5 ราย ดำเนินการใน 5 ภูมิภาค รวม 148 แห่ง วงเงินทั้งสิ้นราว 122 ล้านบาท กำลังได้รับการสนใจจากสาธารณชน และหน่วยงานการตรวจสอบอย่างมาก !
ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการร้องเรียนว่า การจัดซื้อตู้โครงการประชารัฐฯดังกล่าว อาจจัดซื้อแพงเกินจริง ด้วยราคาตกต่อตู้ 8.2 แสนบาทเศษ ขณะที่เมื่อตรวจสอบเชิงลึกพบว่า เอกชน 5 แห่งที่ได้รับการว่าจ้าง มีบางแห่งแจ้งวัตถุประสงค์ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อาจไม่ตรงกับการทำธุรกิจก่อสร้าง ?
ต่อมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราสอบถามนางกอบกาญจน์ รัตนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ถึงกรณีนี้ โดยนางกอบกาญจน์ ระบุว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอยู่ เบื้องต้นเท่าที่ทราบคือ วิสาหกิจชุมชน เป็นผู้ดำเนินการขายผ่านตู้ประชารัฐฯดังกล่าว
ร้อนถึง ททท. ต้องทำหนังสือชี้แจงนางกอบกาญจน์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างเร่งด่วน !
เบื้องต้น ททท. ระบุว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลในช่วงปลายปี 2559 โดยบริหารจัดการอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว และจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นทั่วประเทศในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ระหว่าง ททท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาการชุมชน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมสินค้า OTOP และการท่องเที่ยวในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ โดย ททท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้าง และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ศูนย์บริการข้อมูล และเป็นผู้ดำเนินการด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์
ตอนแรกเมื่อปี 2558 ใช้งบกลาง (งบฉุกเฉิน) 147,112,000 บาท จำนวน 148 รายการ ก่อสร้างรายการละ 9.94 แสนบาท แต่ระยะแรกยังไม่ได้ผู้ว่าจ้าง ต่อมาได้ให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการก่อสร้าง และออกเงินค่าก่อสร้างให้ แต่กระทรวงมหาดไทย ช่วยได้แค่ออกเงินค่าก่อสร้าง แต่จะไม่ดูแลด้านการก่อสร้างให้ ทำให้กรมพัฒนาชุมชน ต้องพับแผนไป กระทั่งได้ข้อยุติภายในเดือน พ.ย. 2558 โดย ททท. ดำเนินการเอง กำหนดราคาแห่งละ 845,937 บาท จากเดิมที่ต้องใช้งบ 9.94 แสนบาท ประหยัดได้ถึง 14.89%
ส่วนร้านค้าประชารัฐฯ ที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีอย่างน้อย 5 แห่ง ที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังเปิดใช้งานไม่ได้ เพราะติดขัดปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ เบื้องต้นกรมพัฒนาชุมชนขอความร่วมมือไปยังสำนักพัฒนาชุมชน กทม. เพื่อแก้ไข แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้ต้องย้ายร้านค้าทั้ง 5 แห่งดังกล่าว ไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ร้านค้าอื่น ๆ อีก 143 แห่ง สามารถดำเนินการได้ตามปกติแล้ว ยอดล่าสุดเมื่อ ธ.ค. 2559 มีรายได้กว่า 18.7 ล้านบาท เลยทีเดียว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นไปตามนี้หรือไม่
แต่ยังมีอีกหลายเงื่อนปมที่ ททท. ไม่ได้ชี้แจงให้นางกอบกาญจน์รับทราบ ?
หนึ่ง ในการว่าจ้างเอกชนด้วยวิธีพิเศษดังกล่าวของ ททท. กับเอกชน 5 ราย มีเอกชนอย่างน้อย 3 แห่ง ที่อาจดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น บางแห่งแจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า โรงสีข้าว หรือทำธุรกิจด้านยา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
จึงอาจไม่มีความสามารถเพียงพอเข้ามาดำเนินการก่อสร้างตู้ประชารัฐฯได้ ?
สอง การเข้ามารับงานของเอกชนบางรายที่แจ้งประกอบธุรกิจด้านก่อสร้างก่อนคว้างานเพียงเดือนเศษ โดยบริษัท ทูเวย์-คอนแท็คท จำกัด ที่ได้รับงานด้านก่อสร้างตู้ประชารัฐภาคใต้รวม 27 แห่ง วงเงิน 22,431,234 บาท เพิ่งแปรสภาพมาเป็นบริษัทจำกัด และเข้ามารับงานจ้างจัดซื้อตู้ประชารัฐฯเพียงเดือนเศษ ก่อนที่จะคว้างานเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้แจ้งประกอบธุรกิจนำเที่ยว
สาม ราคากลางที่อาจสูงเกินจริง และการไม่เปิดใช้งานตู้ดังกล่าว โดยเบื้องต้นมีการร้องเรียนผ่านสำนักข่าวอิศราว่า ตู้ดังกล่าวขนาดประมาณ 4x4 เมตร ตามท้องตลาดราคาปกติประมาณ 2 แสนบาท ต่อ 1 ตู้ แต่ตู้ดังกล่าวเมื่อจัดซื้อตามวิธีพิเศษมีราคาประมาณ 8.2 แสนบาท จึงอาจมีราคาสูงเกินไป และสถานที่ตั้งบางแห่งอาจยังไม่เหมาะสม ทำให้ยังไม่เคยเปิดขายสินค้าโอท็อปแม้แต่ครั้งเดียว
โดยเฉพาะประเด็นการเปิดขายนั้น สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตรวจสอบ 2 แห่งใน กทม. พบว่า ตู้ประชารัฐทั้ง 2 ตู้ดังกล่าวยังไม่เคยเปิดใช้งานมาก่อน แค่มาสร้างทิ้งไว้เท่านั้น และปล่อยไว้นานนับปีแล้ว ?
นับเป็นข้อสังเกต 3 สำคัญที่ ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชี้แจงให้สาธารชนทราบ นอกเหนือไปจากข้อมูล ‘ด้านบวก’ ที่เพิ่งชี้แจงให้นางกอบกาญจน์ทราบไป
ส่วนความไม่ชอบมาพากลตามที่มีการร้องเรียนมาจะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องรอให้ ป.ป.ท. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกให้ชัดเจน !
อ่านประกอบ :
ททท.แจงปมซื้อตู้ประชารัฐ 8 แสนยันคุ้มค่า ประหยัดงบ 14%-ใช้งานได้ทุกแห่ง
ข้อมูลอิศราเป็นผล! ศอตช.รับสอบงานสร้างช็อปโอท็อปประชารัฐ ททท. แห่งละ 8 แสน
รมว.ท่องเที่ยวฯยันจัดซื้อตู้ประชารัฐ 8 แสนสอบเชิงลึกอยู่-วิสาหกิจชุมชนดำเนินการ
ได้สถานะธุรกิจนำเที่ยวก่อนคว้างานเดือนเศษ!เปิดตัวบ.สร้างช็อปโอท็อปประชารัฐใต้22.4ล.
จัดซื้อ 'ตู้ประชารัฐฯ' 148 แห่ง ททท.วิธีพิเศษ 122 ล.- ผู้ว่าฯยันไม่มีทุจริต
เผยโฉม‘ตู้ประชารัฐฯ’โอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง-เท่าห้องบ้านเอื้อฯ
ประตู 6.3 หมื่น-ผนัง1.3 แสน!เปิดราคากลาง'ตู้ประชารัฐฯ' ททท.แห่งละ 8 แสน
ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา!เปิด 5 บ.รับเหมาตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน