เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ากำลังเปลี่ยน แต่ความคิดเทคโนแครตไทยหยุดอยู่กับที่
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2016 ที่ผ่านมา BBC ได้เผยแพร่ข่าวที่สำคัญมากข่าวหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม [1] ข่าวดังกล่าวแจ้งว่า ในปีที่ผ่านมา จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างใหม่ทั่วโลกลดลงจากแผนที่วางไว้ในอัตราที่น่าตกใจ
คือลดลงไปราว 48% จากแผนการเดิมที่เคยวางไว้ และอีกราว 62% ถูกเลื่อนให้ล่าช้าออกไปจากแผนการเดิม สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศจีนและอินเดีย นับแต่ปี 2006 เป็นต้นมา จีนและอินเดียเป็นสองประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นอัตราถึง 85% ของโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างใหม่ทั่วโลก จากรายงานของ Boom and Bust 2017 พบว่ามีการเปลี่ยนแผน ยกเลิกหรือเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปอย่างมโหฬารแค่ในห้วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา
ในประเทศจีน สาเหตุหลักมาจากการยกระดับมาตรฐานเพื่อป้องกันสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นกว่าเดิมของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ราว 600 โรงในจีนต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยจนถึงปี 2020 ส่วนในอินเดียเกิดจากการที่ธนาคารในอินเดียไม่ยอมปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างใหม่ เนื่องจากเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จะสร้างความเสี่ยงด้านการเงินมากเกินไป ข่าวดังกล่าวยังรายงานอีกว่า การลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่หลายพันล้านเหรียญสหรัฐจะเป็นทรัพย์สินที่สร้างภาระ (stranded assets) ในอนาคตอันใกล้
หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดธนาคารในอินเดียจึงเห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เป็นความเสี่ยงถึงกับไม่ยอมปล่อยกู้ ทั้งที่ในประเทศไทย ภาครัฐโหมประชาสัมพันธ์ว่าค่าไฟฟ้าจากถ่านหินถูกแสนถูก ทั้งเป็นการเสริมสร้างสมดุลของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลกกลับเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากสาเหตุหลักสองประการ ประการแรก การลดลงของราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา หากมองย้อนกลับไปในปี 1977 ต้นทุนแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีราคาถึง 76 USD ต่อวัตต์ ขณะที่ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ราว 0.72 USD ต่อวัตต์ (ต้นทุนของโรงไฟฟ้าฟอสซิลทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 USD ต่อวัตต์) เพื่อให้เห็นภาพของต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนขอนำเสนอตัวเลขการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯที่หน่วยงาน Energy Information Administration (EIA) วิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ในรายงานประจำปี Annual Energy Outlook Report ซึ่งจัดทำเป็นประจำทุกปีดังนี้
ในรายงานของ EIA ฉบับปี 2014 คาดว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย (Levelized Cost of Electricity: LCOE โดยคิดจากค่าลงทุนเทคโนโลยีและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดหารด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดตลอดอายุของโครงการ) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างใหม่ในปี 2020 อยู่ที่ 95.1 USD ต่อ MWh หรือเท่ากับ 3.30 บาทต่อหน่วย (คิดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ราคาอยู่ที่ 125.3 USD ต่อ MWh หรือเท่ากับ 4.39 บาทต่อหน่วย แต่ในรายงานฉบับล่าสุดของ EIA ฉบับปี 2016[2] ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2020 คาดว่าจะเหลือเพียง 74.2 USD ต่อ MWh หรือ 2.60 บาทต่อหน่วย ขณะที่ต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินคาดว่าค่อนข้างคงที่อยู่ราว 3.30-3.50 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม ที่น่าสนใจยิ่งกว่านี้คือ EIA ยังคาดการณ์อีกว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในปี 2020 ยังจะถูกกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบก้าวหน้า(Advanced Nuclear Technology) EIA คาดว่าต้นทุนต่อหน่วยของนิวเคลียร์จะอยู่ที่ 99.6 USD ต่อ MWh หรือ 3.49 บาทต่อหน่วย
แม้ว่าการคาดการณ์ในลักษณะนี้ ตัวเลขที่ประมาณการอาจมีความคาดเคลื่อนได้ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าที่นักวางนโยบายด้านพลังงานต้องตระหนักคือ แนวโน้มของราคาที่กำลังลดต่ำลงมาจนถึงใกล้จุดเปลี่ยนแปลงของต้นทุนไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่เคยแข่งขันได้กับพลังงานฟอสซิล กำลังไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญแล้ว (breakthrough point) ล่าสุด สถาบัน McKinsey Global Institute [3] สถาบันที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนชื่อดังของโลก ได้ทำการศึกษา Disruptive Technology ที่มีความสำคัญที่จะกระทบและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมอย่างขนานใหญ่ภายในปี 2025 ว่าจะมีกลุ่มเทคโนโลยีอะไรบ้าง พบว่าหนึ่งในนั้น มีเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอยู่ด้วย
ผมเชื่อว่าทุกท่านคงจำเรื่องบริษัทผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ต้องล่มสลายลง เพียงเพราะผู้นำองค์กรไม่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลพอ เพราะติดกรอบความคิดแบบเดิมๆ โดยไม่คิดว่ากล้องถ่ายรูปดิจิทัล จะสามารถเอาชนะกล้องถ่ายรูปชนิดฟิล์มได้ ทั้งที่มีการผลิตและขายกล้องดิจิทัลมาก่อนหน้านั้นหลายสิบปี การลงทุนด้านพลังงานก็เช่นเดียวกัน การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกี่ยวกับกับเม็ดเงินลงทุนในระดับหลายหมื่นล้านบาท การลงทุนประเภทนี้กว่าจะคุ้มค่าการลงทุน จะต้องอาศัยระยะเวลาการใช้งานของโครงการที่ยาวนานในระดับ 30 ปีขึ้นไป ดังนั้น นักวางแผนนโยบายด้านพลังงานทั่วโลก จึงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของการลงทุนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก การยึดมั่นถือมั่นในกรอบความคิดแบบเดิมๆ อย่างงมงาย โดยไม่เข้าใจโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของ Disruptive Technology ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศ เพราะนอกจากเทคโนโลยีแบบเก่าที่ลงทุนไปแล้ว ยังไม่ทันจะคุ้มทุน กลับมีเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแบบใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าได้ถูกกว่า คนไทยทั้งประเทศคงต้องรับกรรมทนใช้ไฟฟ้าแพงไปอีกหลายสิบปี นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหามลภาวะต่างๆ จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความขัดแย้งกับชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้า ฯลฯ
ปัญหาที่สำคัญประเด็นหนึ่งคือเรื่องก๊าซเรือนกระจก ที่ทั่วโลกได้กำหนดกรอบไว้แล้วว่าก่อนปี 2030 คืออีกเพียงราวสิบกว่าปี โลกทั้งโลกจะต้องลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ความไม่ใส่ใจว่าข้อกำหนดระหว่างประเทศจะมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้นเมื่อถึงเวลาดังกล่าว ซึ่งคงจะต้องมีบทลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับประเทศที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ (ปัจจุบันประเทศที่กำลังพัฒนาได้สิทธิพิเศษไม่ต้องรับภาระดังกล่าว) ดังนั้น ประเทศที่เข้าใจปัญหาดังกล่าวเช่น จีน จึงปรับเปลี่ยนสัดส่วนการพึ่งพาถ่านหินลงไปใช้พลังงานหมุนเวียน (และนิวเคลียร์บางส่วน) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเข้มงวดกับปัญหาของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวในอนาคต นอกจากนี้การใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากขึ้น ยังช่วยให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศดีขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับที่หลายคนเข้าใจ ดังที่ International Energy Agency (IEA)ได้สรุปบทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศยุโรปตะวันตกไว้ในรายงาน[4] ทั้งนี้เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์(และพลังหมุนเวียนอื่นๆ) เป็นแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติภายในประเทศ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงแหล่งพลังงานเหล่านี้ได้ จึงมีความมั่นคงกว่าการใช้ถ่านหิน และฟอสซิลอื่นๆ รวมถึงนิวเคลียร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
หากผู้เขียนมีเวลา จะนำเสนอข้อมูลว่าเมื่อมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ประเทศอื่นเขามีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าเข้าสายส่งมีความเสถียร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เทคโนแครตอนุรักษ์นิยมของไทยเกรงกลัวเหลือเกินว่าจะทำให้ระบบไฟฟ้าไม่มีความมั่นคง เพราะติดกรอบคิดแบบเดิมๆ
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากเตือนสตินักเทคโนแครตพลังงานไทยว่า Disruptive Technology เป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้า การคิดนโยบายพลังงานก็เหมือนกับการวางนโยบายการลงทุนของประเทศชาติ การเชื่อมั่นในตนเองในแนวคิดแบบเดิมๆ เพราะเข้าใจว่ามั่นคงปลอดภัย แต่ความจริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม และกำลังเสี่ยงอย่างยิ่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากวิชาการ.คอม
เอกสารอ้างอิงจาก
[1] http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-39342818
[2] U.S. Energy Information Administration, Annual Energy Outlook 2016
[3] McKinsey Global Institute, Disruptive technologies: Advances that will transform life, business, and the global economy
[4] International Energy Agency, Next Generation Wind and Solar Power From cost to value, 2016.