เครือข่ายผู้ป่วยไต-แพทย์ ค้าน สธ.ดึงงบ สปสช.จัดซื้อยาที่จำเป็น
เครือข่ายผู้ป่วยไต-แพทย์ ค้านสธ.ดึงงบ สปสช.จัดซื้อยาที่จำเป็น ห่วงผู้ป่วยเข้าถึงยาในราคาแพง ด้านสปสช.ยันจัดซื้อเฉพาะยาที่จำเป็นเพียง 4.9% เพื่อกระจายยาให้ประชาชนเข้าถึง
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการเรื่อง “การจัดหายาที่จำเป็นโดย สปสช.”
ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาฯ กล่าวว่า เดิมสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มีข้อแนะนำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ จัดซื้อยารวม เพื่อให้ได้ยาคุณภาพมาตรฐานที่ราคาลดลง ซึ่งมีโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบางจังหวัดได้ดำเนินงาน และพบว่า ได้ผลดีเพราะยาราคาถูกลง ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้น ได้มีการดำเนินการจัดซื้อยาที่จำเป็นรวมบางรายการ ซึ่งในภายหลัง สตง. เริ่มทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดหายา โดยมีข้อแนะนำว่า ควรที่จะมีการแก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อยาที่จำเป็นได้
ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการโอนอำนาจในการจัดหาจัดซื้อยาจำเป็นให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ แต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมาย เพราะ 2 หน่วยงานนี้ไม่เข้าเกณฑ์เป็นหน่วยบริการ ซึ่งขณะนี้กำลังทำการยกร่างการแก้ไข กฎกระทรวง เรื่องเกณฑ์การพิจารณาหน่วยบริการ จึงเป็นที่มาของเวทีวิชาการเพื่อหาแนวทางพิจารณาที่รอบด้านว่าประเทศและประชาชนจะได้ผลดีผลเสียในการจัดซื้อจัดหายาที่จำเป็นมากน้อยเพียงใด
ด้านภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.จัดซื้อยาที่จำเป็นจำนวน 90 รายการ ซึ่งเน้นยาราคาแพง เช่น มะเร็ง ยาปฏิชีวนะ ยาไต ยาป้องกันภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยาที่มีปัญหาการเข้าถึง และวัคซีน คิดเป็นจำนวน4.9% เท่านั้น และการจัดซื้อเพื่อให้เข้าถึงยา ไม่กระจุกอยู่ที่โรงพยาบาลหลัก
"ทำอย่างไรถึงกระจายไปที่โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ โดยพิจารณาจากความคุ้มค้าและต่อรองราคา ซึ่งไม่ได้ต่อรองแบบเซินเจิ้น แต่ดูประสิทธิภาพการใช้ยาควบคู่กับราคาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ว่ายาแต่ละตัวมีประสิทธิภาพอย่างไรก่อนต่อรอง" ภญ.เนตรนภิส กล่าวและว่า หากตัวใดต่อรองไม่ได้ก็ใช้วิธีการทำยาCL และมีระบบเฝ้าระวังหลังการกระจายยา โดยทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ และอย. ซึ่งสปสช.ไม่ใช่บทบาทหลัก แต่เป็นผู้ประสานให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วม เช่น การเข้าถึงยาต้านพิษ จากราคาแพงถึง 100 ดอลลาร์ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ดอลลาร์
ทั้งนี้ โดยร่วมกับสภากาชาดไทยผลิตยาต้านพิษขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น รวมถึงน้ำยาล้างไตที่ราคาซื้อถูกกว่าท้องตลาด ลดเงินถึง 1,000 ล้านบาท และส่งยาตรงถึงบ้านไม่ต้องมาโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าหมายว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถได้รับสิทธิใดสิทธิหนึ่งในการรักษาสุขภาพ ส่วนการให้เข้าถึงทุกกลุ่มนั้นเรายึดตามลำดับความสำคัญ
ด้านนพ.วินัย วนานุกูล ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงยากำพร้าและยาต้านพิษเคยเป็นกลุ่มยาที่ขาดแคลน ตั้งแต่สปสช.เป็นผู้ให้งบสนับสนุนยาที่จำเป็นเพื่อให้ประเทศมียาต้านพิษใช้ และเกิดระบบการกระจายให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยการบริหารจัดการยาต้านพิษเป็นความร่วมมือทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การคัดเลือกว่ายากลุ่มไหนประเทศไทยขาดแคลน ซึ่งได้ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี จากนั้นได้สรรหายา ซึ่งยาที่หายากก็สนับสนุนให้ผลิตยาขึ้นโดยสถานเสาวภา ที่เหลืออย.เป็นผู้สรรหา และใช้ระบบข้อมูลว่าจังหวัดใดประชาชนมักเผชิญกับโรคใด จึงสนับสนุนยาต้านพิษตามความเร่งด่วน พร้อมกับมีกระบวนการให้คำปรึกษาและติดตามผล ซึ่งยาที่มีปริมาณผู้ใช้น้อย แต่มีความจำเป็นหากให้สภากาชาดผลิตไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีการสั่งซื้อที่แน่นอน แต่สปสช.ช่วยให้ความชัดเจนว่าจะสั่งซื้อปริมาณเท่าไหร่ หรือการซื้อยาจากบริษัทยาเพียงไม่กี่ขวด บริษัทก็ไม่ขายดังนั้นการซื้อยารวมทั้งประเทศจะเกิดอำนาจต่อรองให้เกิดราคาที่ถูกกว่าต่างคนต่างซื้อ หากไม่ใช่สปสช.ก็ต้องมีหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่แทนซึ่งต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนที่เข้าใจ
ด้านนายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคไตแต่ละครั้งใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท เมื่อมีหลักประกันสุขภาพทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องล้มละลายไปกับการรักษาพยาบาล โดย สปสช.จัดซื้อยาล้างไตได้ในราคาถูกทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยส่งน้ำยาให้ผู้ป่วยถึงบ้านไม่ต้องมาโรงพยาบาลจากความร่วมมือของอย.และไปรษณีย์ไทย สิ่งที่เป็นห่วงคือ คนที่คิดว่าจะเอายาให้หน่วยบริการซื้อยาเองนั้นจะได้ราคาน้ำยาในช่องท้อง 128 บาทหรือไม่ เพราะแต่ละโรงพยาบาลมีผู้ป่วยไม่เท่ากัน หากโรงพยาบาลซื้อในราคาถูกไม่ได้ ภาระจะตกอยู่กับผู้ป่วยหรือไม่ .