เลิกตั้งด่านไฟไหม้ฟาง...ได้เวลารับมือก่อการร้ายภายใน!
การลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นถึงในโรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า ดังเช่นกรณีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ (22 พ.ค.60) หน้าห้างบิ๊กซี ปัตตานี (9 พ.ค.60) หรือแม้แต่ห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี (10 เม.ย.58) ล้วนเป็นการใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้าย" ในการก่อเหตุเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น
โดยเฉพาะผลทางการเมือง! (ไม่ใช่แค่การเมืองสีเสื้อ แต่ยังอาจหมายถึงการเมืองในหมู่ผู้มีอำนาจเอง รวมไปถึงการเมืองที่ชายแดนใต้ซึ่งกำลังมีการเจรจาต่อรองกันอยู่)
เหตุการณ์แบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "การก่อการร้ายภายใน" จากฝีมือคนในประเทศเอง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามประเภทหนึ่ง แตกต่างจาก "การก่อการร้ายภายนอก" หรือ "การก่อการร้ายสากล" ที่คนไทยได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ล่าสุดก็เหตุระเบิดกลางงานคอนเสิร์ตในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ขณะที่มิตรประเทศอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์สาวกไอเอสบุกเมืองทางตอนใต้ จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน!
ที่ผ่านมาสังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในฝ่ายความมั่นคง มักตีค่าเหตุระเบิดทางการเมืองว่าเป็นแค่ "ระเบิดป่วนเมือง" ส่วนการก่อการร้ายสากลที่ก่อเหตุกันถี่ยิบ ก็บอกว่าอยู่ไกลตัวคนไทยและประเทศไทย เหล่านี้ทำให้การวางมาตรการเพื่อรับมือหรือป้องกัน เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ
เรียกว่ามีระเบิดกันทีก็ตั้งด่านคุมเข้มกันที ทำกันพอเป็นพิธี พอข่าวเงียบก็เลิกรา...เป็นอย่างนี้ทุกรอบ
พลิกดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ว่าด้วยฐานความผิด "ก่อการร้าย" เขียนเงื่อนไขและพฤติการณ์เอาไว้ชัดเจน คือ กระทำการใดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ต่อระบบขนส่งสาธารณะ โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน หรือก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด ไม่เฉพาะไทย ถ้าการกระทำนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้กระทำการนั้นมีความผิดฐาน "ก่อการร้าย"
โทษที่กำหนดไว้สูงสุดคือประหารชีวิต!
กฎหมายเขียนไว้ชัด และหากย้อนดูเหตุการณ์รุนแรงหลายๆ ครั้งในบ้านเรา ทั้งในส่วนกลางและชายแดนใต้ ก็จะพบว่าเข้าข่ายความผิดฐานก่อการร้ายทั้งสิ้น แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่ทำอะไรมากไปกว่าการสั่งเพิ่มมาตรการ "ตั้งด่าน"
ขณะที่แผนหรือมาตรการ "รักษาเมือง" เช่น ระบบกล้องซีซีทีวีที่ต้องมีหน่วยมอนิเตอร์ตลอดเวลา, ระบบเฝ้าตรวจทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน, ระบบตรวจคนเข้าเมือง, ระบบการพิสูจน์และเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ฯลฯ เหล่านี้แทบไม่เคยถูกพูดถึงเลย ทั้งๆ ที่งบประมาณที่ถูกใช้กับงานด้านความมั่นคงและอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ได้เวลาของการยกเครื่องระบบเฝ้าระวังแบบนี้หรือยัง เพราะต้องไม่ลืมว่าหลายประเทศในยุโรปลงทุนกับมาตรการเหล่านี้มากมาย และใช้เทคโนโลยีสูงมาก แต่ก็ยังไม่รอดพ้นการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย แล้วประเทศไทยของเราซึ่งแทบจะไม่ลงทุนอะไรแบบนี้เลย จะรับมือทั้งก่อการร้ายภายใน และก่อการร้ายภายนอกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่่างไร
คิดแล้ววังเวง!
----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุระเบิดที่ห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.60
ขอบคุณ : ภาพจากกรุ๊ปไลน์ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม