บึ้ม รพ.พระมงกุฎฯโยง 2 เหตุป่วนกลางกรุง ชี้ระเบิดชุดเดียวกัน - ท้าทายอำนาจคสช.?
เหตุระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯในห้วงเดือนเศษที่ผ่านมา มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่มากกว่าแค่ป่วนเมือง
1.เหตุระเบิดที่หน้าอาคารกองสลากเก่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 5 เมษายน 2.เหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 พฤษภาคม และ 3.เหตุระเบิดที่ห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ช่วงกลางวันแสกๆ ของวันที่ 22 พฤษภาคม ทิ้งช่วงห่างจากเหตุการณ์ที่สองแค่ 7 วัน
ความเกี่ยวข้องกันของทั้ง 3 เหตุการณ์มีหลายมิติ เริ่มจากมิติแรก "วัตถุพยานที่พบ" โดยทั้งเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า และเหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ อุปกรณ์ประกอบระเบิดมีความคล้ายคลึงกัน คือพบแผงวงจร พบ "ไอซี ไทม์เมอร์" หรืออุปกรณ์หน่วงเวลาระเบิด และพบเศษท่อพีวีซี
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สรุปว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบ "ไปป์บอมบ์ขนาดเล็ก" แต่ละเหตุไม่ชัดว่ามีสะเก็ดระเบิดหรือไม่ ข่าวบางกระแสระบุว่าเหตุแรกใช้ "บอล แบริ่ง" หรือลูกเหล็กเป็นสะเก็ดระเบิด ส่วนเหตุที่สองหน้าโรงละครแห่งชาติ ยังไม่พบว่าใช้วัสดุใดเป็นสะเก็ดระเบิด
สำหรับเหตุระเบิดล่าสุดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจพิสูจน์ระเบิด หรือ อีโอดี พบหลักฐานดังนี้ 1.ถ่ายไฟฉายขนาด 1.5 โวลต์ 1 ชุด 2.สวิตช์ คาดว่าเป็นแบบสไลด์ 3.ไอซี ไทม์เมอร์ 4.เศษตะปูขนาด 1 นิ้ว หัวตัด และ 5.เศษท่อพีวีซี
จากหลักฐานที่พบก็ชัดว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง และน่าจะเป็น "ไปป์บอมบ์" เช่นเดียวกัน...นี่คือมิติเรื่องวัตถุพยาน
ส่วนในมิติเชิงสัญลักษณ์ จะพบว่าการเลือก วัน ว. เวลา น.ในการก่อเหตุ วิเคราะห์ได้หลายมุมทีเดียว เริ่มจาก
1.เหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า เกิดขึ้นช่วงค่ำวันที่ 5 เมษายน ก่อนวันจักรีและวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพียง 1 วัน จุดเกิดเหตุอยู่ใกล้สนามหลวง ซึ่งกำลังมีการเตรียมการสำหรับพระราชพิธีสำคัญ ส่งสัญญาณชัดทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องอ่อนไหวที่สุดในบ้านเมือง
2.เหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ เกิดขึ้นช่วงค่ำวันที่ 15 พฤษภาคม ใกล้ๆ กับวันพืชมงคล จุดเกิดเหตุอยู่ใกล้ท้องสนามหลวงเช่นกัน และเป็นจุดอับของระบบกล้องวงจรปิด
3.เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จุดเกิดเหตุอยู่ที่ "ศูนย์รับรองข้าราชการทหาร" ซึ่งห้องนี้เป็นห้องรับรองข้าราชการบำนาญชั้นนายพล มีห้องจ่ายยาอยู่ด้านใน ชื่อห้อง "วงษ์สุวรรณ" การเลือกจุดก่อเหตุเป็นห้องชื่อนี้ คงไม่ยากสำหรับการคาดเดาว่าคนร้ายต้องการส่งสัญญาณอะไร
รูปแบบการก่อเหตุทั้งหมด ไม่ได้เน้นให้มีคนตายหรือบาดเจ็บสาหัส เพราะอานุภาพของระเบิดไม่ได้รุนแรงมาก โดยเฉพาะเหตุระเบิดที่หน้ากองสลากเก่า คนร้ายนำวัตถุระเบิดไปซุกไว้ในถังขยะ เหมือนให้ตีความว่าเด็กแว้นหรือแก๊งวัยรุ่นนำมาทิ่้งไว้ก็ได้ ส่วนเหตุระเบิดที่หน้าโรงละครแห่งชาติ ก็เลือกจุดที่ห่างจากฝูงชน และใช้ดินระเบิดน้อยจนเผาไหม้ไปเกือบหมด แทบจะตรวจหาสารประกอบระเบิดไม่ได้
ส่วนเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คนร้ายเลือกศูนย์รับรองข้าราชการ ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงที่เกษียณอายุแล้ว จึงเป็นห้องที่มีคนไม่พลุกพล่านนัก ประกอบกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แทบไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยอะไรเลย เนื่องจากเป็นสถานพยาบาลที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนคิดร้ายนำระเบิดไปวาง
ทั้งหมดนี้คนร้ายน่าจะเตรียมการมาก่อน มีการสำรวจและสกรีนสถานที่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางหนีทีไล่ และจุดอับของกล้องวงจรปิด ก่อนเลือกจุดวาง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ระเบิดที่หน้ากองสลากเก่าจนถึงขณะนี้ เกิดมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังจับมือใครดมไม่ได้ ส่วนเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คนร้ายสามารถเลือกวางบริเวณอื่นที่มีคนจำนวนมากได้ แต่ก็ไม่ทำ สะท้อนว่าเป้าหมายไม่ได้ต้องการทำลายชีวิต ขณะที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เรียกได้ว่าเป็น "โรงพยาบาลทหาร" ย่อมต้องการท้าทาย คสช. เป็นเหตุผลทางการเมืองอย่างชัดเจน
ที่สำคัญ ระเบิดเหล่านี้น่าจะเป็นชุดเดียวกัน ประกอบมาคราวเดียวหลายๆ ลูก จึงมีโอกาสที่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย!
สำหรับความเชื่อมโยงกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรูปแบบการประกอบระเบิดและอุปกรณ์ที่ใช้มีความคล้ายคลึงกันนั้น แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์ระเบิดแสวงเครื่อง ยอมรับว่า มีความคล้ายคลึงกันจริง และมือประกอบระเบิดอาจเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ได้ หรืออาจเป็นกลุ่มอื่นที่ทำลอกเลียนแบบ หรือแม้แต่ศึกษาวิธีการประกอบมาเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นการหาเบาะแสของเจ้าหน้าที่ ก็ล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น
ที่สำคัญการด่วนสรุปว่าระเบิดมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวที่ปลายด้ามขวาน ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า ความเป็นไปได้มีทั้งในแง่ของการขยายพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มเคลื่อนไหวเอง ซึ่งจนถึงขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้ว่ากลุ่มดังกล่าวต้องการขยายพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อประโยชน์อะไร แต่ความเป็นไปได้ที่อาจจะมีมากกว่า และไม่สามารถตัดประเด็นทิ้งไปได้ ก็คือการ "รับจ้าง" หรือร่วมมือกันเพราะสมประโยชน์กัน
ส่วนใครจะร่วมมือกับใคร หรือใครสมประโยชน์กัน ต้องพิจารณาว่า "ใคร?" คือผู้ได้ประโยชน์ตัวจริงจากสถานการณ์ปั่นป่วน!
เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อสงครามที่ชายแดนใต้ยืดเยื้อ กลุ่มติดอาวุธที่มีความสามารถในการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ย่อมขยายเครือข่ายได้อย่างกว้างขวาง และอาจอยู่นอกเหนือสายการบังคับบัญชาที่มีอยู่เดิม จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์ดั้งเดิม คือต้องการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียวอีกต่อไป
ได้เวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยภายใต้การนำของรัฐบาล คสช. ต้องตั้งหลักให้ดี และหาคำตอบให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จุดเกิดเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
อ่านประกอบ :
เสียงดังคล้ายระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เจ็บ 2
ระเบิดจริง! บึ้มหน้าโรงละครฯ...ภัยเงียบไฟใต้ลามกรุง?