กรมโรงงาน เดินหน้าจัดทีมส่องรถขนส่งกาก ผ่านแอพฯ “GPSHZW DIW”
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เดินหน้างัดมาตรการควบคุมเข้มปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีคอยติดตามและนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากของเสียอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น “GPSHZW DIW”
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีคอยติดตามและนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากของเสียอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น “GPSHZW DIW” ซึ่งสามารถเช็คตำแหน่งของรถขนส่งได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (Real Time) และจะป้องกันการลักลอกทิ้งกากอุตสาหกรรมรวมถึงยังมีความสามารถในการให้ข้อมูลช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการกำจัดกากอุตสาหกรรม
นายมงคล กล่าวถึงข้อมูลเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมกับจำนวนโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล ทั่วประเทศ ประมาณ 40:1 โดย ภาคตะวันออกมีสัดส่วนมากที่สุดคือ 14:1 รองลงมาคือภาคกลาง 39:1 ภาคตะวันตก 64:1 ภาคอีสาน 100:1 ภาคเหนือ 120:1 และภาคใต้ 125:1 ตามลำดับ
"กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยกระดับความเข้มข้นในการควบคุมกากอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการผ่าน 4 มาตรการผลักดันได้แก่ แผนการควบคุมกำกับดูแล โดยจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการประสานงานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงมีการออกหนังสือแจ้งเตือนถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งยังจะมีการตรวจกำกับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย (วอ.8)" อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว และว่า สำหรับรถขนส่งของเสียอันตราย หากพบว่าประกอบกิจการไม่เป็นไปตามกฎหมายจะถูกสั่งดำเนินคดี รวมถึงแผนสร้างความร่วมมือและแรงจูงใจกับผู้ประกอบการและประชาชนแนะนำให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
นายมงคล กล่าวด้วยว่า การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มักจะก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้และหรือกากอุตสาหกรรมที่แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กากอันตราย และกากไม่อันตราย โดยสาเหตุหลักที่ยังทำให้มีปัญหาคือ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่โรงงานรับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมบางรายไม่สามารถบำบัด และกำจัดกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคิดค่าบริการบำบัด กำจัดในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ไม่สามารถจัดการกากอุตสาหกรรมที่รับมาได้ตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ยังเกิดจากความไม่ตระหนักและความไม่เข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่มักนำของเสียออกนอกโรงงานไปกำจัดหรือไปใช้ประโยชน์โดยไม่ขออนุญาต ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ถูกต้อง ทั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้มาตรการเพื่อควบคุมยับยั้งไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและบริหารจัดการกากอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบแบบแผนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ จากโรงงานผู้ก่อกำเนิด (waste generator) ผู้ขนส่ง (waste transporter) ไปจนถึงโรงงานรับบำบัด/กำจัด (waste processor) โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล ภาคประชาชน และผู้ประกอบกิจการโรงงาน