22 พ.ค.ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวน บ.ไทยรุ่งเรืองฯ รง.น้ำตาล ยื่นฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน
ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม.เดินทางพบปะกับสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร หลังถูกบริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล ได้ยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง 22 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 พ.ค. นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีกำหนดเดินทางมาเยี่ยมเยือนพบปะกับสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งถูกบริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสกลนคร ได้ยื่นฟ้อง และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือตามหลักการคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ กรณีกรณีการยื่นฟ้องกลุ่มรักษ์น้ำอูน 20 คนนี้ กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้ยื่นร้องให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโครงการดังกล่าวและทาง กสม. ซึ่งอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้จัดเวทีตรวจสอบไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการตรวจสอบ โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 11 พ.ค. 2560 ที่ผ่าน ผู้ถูกยื่นฟ้องก็ได้เข้ายื่นคำร้องขอความช่วยเหลือทางคดีและค่าใช้จ่ายจากกองทุนยุติธรรม ณ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสกลนคร และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 พ.ค. 2560 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่บริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสกลนคร ได้ยื่นฟ้องร้องนางสาวเดือนเพ็ญ สุดไชยา และพวกรวม 20 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กรณีลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายก อบต.อุ่มจาน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2559 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ และยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เพื่อคัดค้านโครงการฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560
สำหรับบริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด ได้มีโครงการจะสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 12,500 ตันในระยะแรก และขยายเป็นเป็น 40,000 ตันอ้อยต่อวันในระยะที่สอง นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกันยังต้องการจะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ในระยะแรก และขยายเป็น 114 เมกะวัตต์ระยะสอง โดยที่ตั้งโครงการอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอูน ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับ อ.เมือง จ.สกลนคร และอยู่คนละฝั่งน้ำอูนกับ ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม ปัจจุบันรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการทั้งสองไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในการพิจารณารอบแรก
ขอบคุณภาพจาก:http://www.citizenthaipbs.net/node/19883