คุณภาพชีวิตคนทำงาน 71% มีหนี้ เงินเดือนไม่พอจ่าย-เพียง1ใน4 ออมเป็นระบบ
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษจับมือสสส.ประกาศเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0 ตั้งเป้าลดรายจ่ายทางสุขภาพ เปิดงานวิจัย พบความสุขระดับปานกลาง ขณะที่ 50% เสี่ยงภาวะน้ำหนักเกิน จับตาภาระหนี้จากการบริโภคสินค้าเพิ่มถึง 2 เท่า เฉลี่ยเป็นหนี้สูงเกิน 1 ล้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ที่กรมควบคุมมลพิษ ในงาน“กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าสู่องค์กรสร้างสุข Thailand 4.0” โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในโครงการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของกรมควบคุมมลพิษ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2559 จำนวน 105 คน พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงบ่อยครั้งหรือเป็นประจำถึง 65% และไม่เคยออกกำลังกายหรือออกกำลังกายเป็นบางครั้งถึง 71%
"มากกว่า 1 ใน 4 มีความเครียดจาการทำงานบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ต้องทำงานเฉลี่ยเกินสัปดาห์ละ 40 ชม.หรือต้องทำงานเกินเวลาปกติบ่อยครั้ง"
นอกจากนี้ยังพบปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินถึง 71% ทำให้เงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการออมอย่างเป็นระบบ
“การสร้างความสุขของคนทำงานด้วยการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับสสส.เพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งความสุข โดยตั้งเป้าหมายการลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจะมีการปรับให้เป็นโรงอาหารกรีนเพื่อส่งเสริมการบริโภคผักและความปลอดภัยจากสารพิษ และเปลี่ยนอาหารว่างในการประชุมเป็นเมนูสุขภาพการชวนขยับกับบันไดสุขภาพและกิจกรรมออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า การเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยุค 4.0 ทรัพยากรมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐถือเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีอัตรากำลังคนในปี 2560 อยู่ถึง 2.84 ล้านคน หากคนในหน่วยงานภาครัฐมีความสุขในการทำงานก็จะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดรายจ่ายทางสุขภาพ
อย่างไรก็ตามหากดูจากผลการวิจัยคุณภาพชีวิตคนทำงานภาครัฐ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3,342 ตัวอย่าง เปรียบเทียบปี 2559 กับ 2553 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีระดับความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 มีค่าเฉลี่ยความสุข 3.8 เทียบกับ 3.3 ในปี 2553 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง
เจ้าหน้าที่รัฐมีภาวะน้ำหนักเกิน 53% ในปี 2559 เทียบกับ 50% ในปี 2553
สำหรับความเครียดจากการทำงานพบว่า ปี 2559 กับ 2553 มีความเครียดระดับมากถึงมากที่สุด 22 % เท่ากัน และเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานเกินเวลาราชการปกติ 97% ในปี 2559 เทียบกับ 83% ในปี 2553
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ความผูกพันขององค์กรในปี 2559 พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐ 45% ตัดสินใจไม่ย้ายงานหากมีองค์กรและตำแหน่งที่ดีเท่ากันมาเสนอ ขณะที่ 38% ไม่แน่ใจ และ 18% พร้อมย้ายไปอยู่ที่ใหม่
ในมุมของการทำงานพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่พึงพอใจกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เหมาะกับความรู้ความสามารถในระดับที่มาก มีความชัดเจนของเส้นทางความก้าวหน้าในงานที่มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ การมีภาระหนี้สินที่สูงถึง 91% เทียบกับ 79% ในปี 2553 โดยมีข้อสังเกตว่า ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเป็นหนี้สินที่มาจากการผ่อนชำระสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท ถึง 41%
ดังนั้นบันไดสู่องค์กรแห่งความสุขของคนทำงานจึงประกอบด้วย การมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ผ่อนคลาย บริหารการเงินเป็น ครอบครัวมีความสุข เป็นต้น สสส. จึงร่วมสนับสนุนองค์ความรู้และระบบการจัดการสู่การเป็นองค์กรแห่งความสุข โดยมีโปรแกรมวัดสุขภาพชีวิตและความสุขของคนทำงาน ซึ่งในปัจจุบันมีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์กรภาครัฐ จำนวน 66 องค์กร สิ่งสำคัญในการทำงานคือการสร้างแกนนำนักสร้างสุของค์กร เพื่อเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในองค์กรที่เกิดความยั่งยืนและตอบโจทย์ในแต่ละบริบทขององค์กร