"อภิสิทธิ์" สอนมวย คสช. ปิดจุดอ่อนพูดคุยดับไฟใต้
ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงหนาแน่นที่สุดในภาคใต้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการวิจารณ์ผลงานในภารกิจ "ดับไฟใต้" ของ คสช.
โดยเฉพาะในมิติของการพูดคุยเพื่อสันติสุขซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์เคยทำมาก่อน และก้าวหน้าไปถึงการกำหนดพื้นที่หยุดยิง 3 อำเภอมาแล้ว
แต่ความไม่ต่อเนื่องของการเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่ต่ำเตี้ยของรัฐบาลไทย ทำให้กระบวนการทุกอย่างต้องสะดุดหยุดลง
อภิสิทธิ์ บอกว่า กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และรัฐบาล คสช.ก็มองแบบนั้น ถือว่าถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ
1.กระบวนการพูดคุุยที่วางไว้ในขณะนี้ รัดกุมครอบคลุมเพียงพอหรือยัง เพราะบางกลุ่มยังไม่ยอมรับและไม่เข้ามามีส่วนร่วม แต่กลับมีอิทธิพลในพื้นที่ค่อนข้างชัด สถานการณ์แบบนี้จะเป็นอุปสรรคทำให้กระบวนการพูดคุยไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง
"ขณะนี้ไม่ต้องมาพูดเรื่องตัวจริงตัวปลอม เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่มีหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บางกลุ่มมีอิทธิพลบางช่วง บางกลุ่มก็มีอิทธิพลมากขึ้นหรือลดลงในแต่ละช่วงเวลา แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือกระบวนการพูดคุยครอบคลุมและรัดกุมแล้วหรือยัง"
2.รัฐบาลนี้พยายามพูดว่าใช้กระบวนการทางการเมืองในการแก้ปัญหา แต่หลายครั้งกลับไม่ชัดว่าเป็น "การเมืองนำการทหาร" จริงหรือไม่ เพราะบทบาทขององค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะองค์กรที่บริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี โครงสร้างตำรวจก็ดี ซึ่งมีโครงสร้างพิเศษอยู่ กลับถูกลดความสำคัญหรือเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การใช้นโยบายการเมืองนำการทหารปฏิบัติได้ยาก
3.เมื่อใช้กระบวนการพูดคุยและใช้กระบวนการการเมืองในการแก้ไขปัญหา แต่ประชาชนนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยมารับรู้รับทราบหรือสร้างแนวทางร่วมกันว่าคำตอบที่จะเกิดจากการพูดคุยทางการเมืองคืออะไร เพราะการไปพูดคุยเพื่อหวังว่าคุยกันแล้วมันจะจบ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย มันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายที่มาคุยด้วยก็มีเป้าหมายของตนเอง
"เราไม่เคยเอาปลายทางของการพูดคุยมาทำความเข้าใจทั้งหมดว่าเราอยากเห็นอะไร ตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเร่งรัดมากขึ้นในการทำให้กระบวนการนี้เป็นคำตอบอย่างแท้จริง"
การพูดคุยกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ใช้การพูดคุยในทางลับ ซึ่ง อภิสิทธิ์ บอกว่ากระบวนการทำงานง่ายกว่าแบบเปิดเผย บนโต๊ะแบบปัจจุบัน
"สมัยผม เรายึดถือว่าจำเป็นต้องให้การพูดคุยทำเป็นการภายในก่อน เนื่องจากต้องสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หมายถึงไม่เปิดเผย เพราะต้องมีการทดสอบกันก่อน แบบที่สมัยปัจจุบันใช้คำว่าเซฟตี้โซน จริงๆ ต้องทดสอบก่อนว่าสมมติผมคุยกับคุณ แล้วเราไปกำหนดว่าในอำเภอนี้ จังหวัดนี้ ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ถ้าผมปฏิบัติอย่างนี้ คุณปฏิบัติอย่างนี้มันจะสงบไหม เพื่อทดสอบว่าเราไว้ใจกันได้ไหม และคุณสามารถคุมสภาพในพืนที่ได้หรือไม่"
"พอดีรัฐบาลถัดมา (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) เลือกทำกระบวนการพูดคุยให้เปิดเผยเร็ว มันก็เลยทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่า กลุ่มต่างๆ ที่จะเข้ามาคุยมีการเรียกร้องกัน เช่น ทำไมเขาไม่ได้เข้ามา ทำไมไปเอากลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามา และเขาก็เริ่มใช้โซเชียลมีเดีย ใช้การสื่อสารไปยังโลกภายนอกเพื่อต่อรอง อย่างเช่นตอนนี้ก็เรียกร้องให้การพูดคุยควรมีตัวแทนจากประชาคมโลกเข้ามาร่วมด้วย"
"ฉะนั้นการนำกระบวนการพูดคุยมาเปิดแบบนี้ ทำเร็วเกินไป และมันถอยหลังไม่ได้ เปิดแล้วจะไปปิดก็ไม่ได้ รัฐบาลนี้จึงต้องมาคุยภายใต้กรอบที่รับมาจากรัฐบาลก่อน ฉะนั้นก็ต้องไปปิดจุดอ่อนว่าจะทำอย่างไรให้การพูดคุยมันครอบคลุมมากขึ้น ต้องมีกรอบความคิดว่าอะไรบ้างที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้"
"การพูดคุยแบบที่เป็นอยู่นี้ถือว่าโจทย์ยากขึ้น โลกภายนอกก็มีแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งความรุนแรง ความสุดโต่ง การก่อการร้าย องค์กรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกขณะนี้เราก็เห็นอยู่แล้ว พื้นที่ที่เคยสงบ ใจกลางเมืองหลายเมืองได้กลายเป็นเหยื่อความรุนแรง เราหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นในบ้านเรา ฉะนั้นงานความมั่นคงต้องรัดกุมมากขึ้น งานการเมืองเพื่อแก้ปัญหาต้องทันต่อสถานการณ์ และทันกระแสความรู้สึกของแต่ละฝ่าย"
อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงองค์กรดับไฟใต้ล่าสุดที่เป็นนวัตกรรมของ คสช.อย่าง "ครม.ส่วนหน้า" หรือผู้แทนพิเศษของรัฐบาล
"ผมอยากให้มีความหลากหลายของความเป็นตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ให้มากกว่านี้ สมัยผมการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีตัวแทนสภาที่ปรึกษาฯ (สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกฎหมาย ศอ.บต.) ที่มาจากภาคประชาชน ตรงนั้นจะสะท้อนแนวคิดการเมืองนำการทหาร แต่ใน ครม.ส่วนหน้า ไม่มีความหลากหลายแบบนี้ รู้สึกเสียดาย ถ้าเราได้สร้างกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างหลากหลายมากกว่านี้ น่าจะมองเห็นความก้าวหน้ามากกว่าปัจจุบัน"
นี่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่อดีตนายกฯจากพรรคประชาธิปัตย์ส่งถึงผู้มีอำนาจ...ในวาระ 3 ปี คสช.
-------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 มนต์ชัย วงศ์กิตติไกรวัล พิธีกรสถานีโทรทัศน์ NOW26 ผู้สัมภาษณ์
2 ภาพโดยสถานีโทรทัศน์ NOW26