คำชี้แจง ผู้ว่าฯ ททท. ‘ตู้ประชารัฐฯ’ 122 ล.อ้าง 8แสนถูกกว่าราคากลาง คุ้มค่า-ประหยัด
“ที่ต้องใช้วิธีพิเศษ ต้องเรียนอย่างนี้ก่อน งบฯ นี้ ครม. ให้ใช้วิธีพิเศษตั้งแต่อนุมัติมาเลย เพราะว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เร่งดำเนินการ ให้เร่งเบิกจ่าย ดังนั้น เราก็ดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เพราะว่าถ้าเราไปประกวดราคาโดยอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เวลา ก็จะเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามมติ ครม.”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และคณะเจ้าหน้าที่ กรณีร้องเรียนการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ในโครงการพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่น วงเงินกว่า 122 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 เวลา 14.00 น. ชั้น 18 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ถ.เพชรบุรี)
@มีการร้องเรียนว่าการจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ สุขใจ’ ในโครงการพัฒนาสถานีริมทางเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวท้องถิ่นของ ททท. วงเงินกว่า 122 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษ มีราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปมาก
ที่บอกว่าราคาสูงกว่าท้องตลาด นั้น ประเด็นแรกคือมีการเข้ามาตรวจสอบแล้ว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทางเราก็ได้ยืนยันกับทาง สตง. พร้อมเอกสารไปแล้วว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในเรื่องของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่าง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะในเรื่องของการกำหนดราคากลาง กำหนดอะไรต่าง ๆ
“คือที่ต้องใช้วิธีพิเศษ ต้องเรียนอย่างนี้ก่อน งบฯ นี้ ครม. ให้ใช้วิธีพิเศษตั้งแต่อนุมัติมาเลย เพราะว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้เร่งดำเนินการ ให้เร่งเบิกจ่าย ดังนั้น เราก็ดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เพราะว่าถ้าเราไปประกวดราคาโดยอิเล็กทรอนิกส์จะใช้เวลา ก็จะเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามมติ ครม. นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงใช้วิธีพิเศษ เพราะเขาบังคับให้เบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2558 ซึ่งมติ ครม. ตอนนั้นมีมาเมื่อเดือน ก.ย. ทำให้มีระยะเวลาเวลาดำเนินการไม่กี่เดือน โดยเมื่อใช้วิธีพิเศษ กระบวนการในการกำหนดราคา ประกาศราคากลาง ทำตามระเบียบของ ททท. ซึ่งของเรามีระเบียบต่างหาก ไม่ได้เหมือนกับที่อื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของงานก่อสร้าง จึงต้องมีราคากลาง เราก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งในการกำหนดราคากลาง คณะกรรมการฯ ใช้หลักเกณฑ์ในการดูวิธีการกำหนดตัว BOQ”
ในส่วนของราคากลางทางคณะกรรมการราคากลางได้คำนวณดูราคาจากวัสดุก่อสร้างจากหลาย ๆ ที่ และมาคำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ซึ่งตรงนี้เขาก็สืบราคาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัด นำมาเปรียบเทียบกัน ราคาของเราที่ตอนแรกของบฯ ไปประมาณ 9 แสนกว่าบาท แต่ว่าเวลากำหนดราคากลางอยู่ที่ 8 แสนกว่าบาท เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่า และประหยัดงบประมาณกว่า ไม่ได้เท่ากับราคาที่ของบฯ ไป
“คือจริง ๆ แล้วต้องเรียนอย่างนี้ ในการกำหนดราคา บอกไม่ได้หรอกว่า 7 แสนถูก 8 แสนถูก 9 แสนถูก แต่มันมีกระบวนการในการกำหนดราคากลางขึ้นมา ซึ่ง ททท. ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามระเบียบในการกำหนดราคากลาง ถามว่าราคากลางมาจากไหน ก็มาจากการสอบถามราคาวัสดุก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ เพราะทั้งหมดจะแบ่งเป็น 5 ภาคด้วยกัน ซึ่งกระบวนการในการกำหนดราคากลางเหล่านี้ก็เป็นไปตามระเบียบของเรา ตัวราคาจะแบ่งเป็นตัวโครงสร้างอันหนึ่ง และก็จะมีตัวครุภัณฑ์ด้วย ราคาที่เป็นโครงสร้างก็ 6 แสนกว่าบาท และก็ราคาครุภัณฑ์ เพราะจะมีจอทัชสกรีน มีคอมพิวเตอร์ และก็จะมีอุปกรณ์ข้างใน ซึ่งก็เป็นคุณภาพ เราไม่ได้ใช้โฮมยูส เราใช้เป็นอินดัสเทรียลเกรด เพราะฉะนั้นราคาก็จะสูงกว่าปกติ ดังนั้นที่คนเขาไปบอกว่าราคา 2-3 หมื่นบาท อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นคงอยู่ในบ้าน ราคานี้ แต่อันนี้เราใช้งานทั้งวัน อย่างน้อย ๆ 10-16 ชม.ต่อวัน ที่จะต้องทนได้ เพราะฉะนั้น ราคาก็จะสูงกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่เราชี้แจง สตง. ไปในเรื่องราคากลางแล้ว เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ซึ่ง สตง. ก็ไม่ได้ติดใจอะไร จบประเด็นนี้ไป แต่พอดีหนังสือเป็นเรื่องลับ ราชการเราให้ไม่ได้”
@ตู้ประชารัฐ สุขใจ บางแห่งไม่เคยเปิดให้บริการ
ในเรื่องของตู้ฯ ได้รับงบประมาณมาทั้งหมดในการจัดทำตู้ประชารัฐ สุขใจ จำนวน 148 ตู้ แต่โครงการนี้คนที่รับงบประมาณคือ ททท. คนที่ร่วมกันทั้งหมดมี 5 หน่วยงาน ททท. จะทำหน้าที่ในเรื่องของการก่อสร้าง ปตท. เขาจะทำหน้าที่ในการหาพื้นที่ให้เรา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะทำหน้าที่บริหาร หาคนมา ทำสต็อก จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้า เพราะในตู้มีน้ำมีไฟฟ้าด้วย หน่วยงานที่ 4.คือ กรมพัฒนาชุมชน (พช.) ทำหน้าที่ในการหาสินค้ามา เพราะว่าทำเรื่องโอท็อป เขาก็จะเอาโอท็อปในพื้นที่มา และ 5.คือ ธนาคาร SMEbank (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว.) จะทำหน้าที่ในการที่จะหาเงินทุนหมุนเวียนมาให้
ดังนั้น จึงมีทั้งหมด 5 หน่วยงานที่เข้ามา พอเราสร้าง 148 แห่ง หมายถึงว่าการสร้างจะต้องมีการกำหนดร่วมกันระหว่างกันด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งพื้นที่ให้กับทางสำนักงบประมาณด้วยว่าจะสร้างตรงไหน พอเราสร้างเสร็จทั้งหมด 148 แห่ง ปรากฏว่ามี 5 แห่งที่สร้างเสร็จแล้วเปิดจำหน่ายสินค้าไม่ได้ ประเด็นคือ เปิดจำหน่ายสินค้าไม่ได้ เพราะ 5 แห่งนั้นอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วพออยู่ในกรุงเทพฯ ปัญหาคือว่า พช. เขาบอกว่าไม่รับผิดชอบพื้นที่ตรงนี้ เราก็เลยเข้าไปคุยกับทาง กทม. ว่าหาพื้นที่ได้ไหม แต่ในระหว่างการพูดคุยกันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ กทม. เกิดขึ้น สุดท้าย ผมก็บอกว่าอย่าไปรอเลย เพราะว่าเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาแบบนี้ เราก็จะเสียประโยชน์ เราก็เลยทำการย้ายพื้นที่ออกไปจากเดิม แต่อย่างที่บอกว่าการจะนำไปลงที่ไหนต้องได้ความตกลงจากพื้นที่ก่อน ตอนนี้เราก็เลยต้องย้ายออกเพื่อที่จะไปดำเนินการในส่วนตรงนั้น แต่เข้าใจว่าเหมือนกับได้พื้นที่แล้ว
ฉะนั้น ในข้อเท็จจริงคือว่า ไม่ใช่ว่าไม่ได้ใช้ เราก่อสร้าง ติดตามแผนทุกอย่าง แต่ถึงเวลาแล้วมันมีปัญหา หลาย ๆ หน่วยงานก็เลยแก้ปัญหา และในการดำเนินงานไม่ใช่ ททท. รับผิดชอบคนเดียว มีคณะกรรมการที่ สสว. เขาก็เรียกประขุมอยู่เรื่อย ๆ หารือกันอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้นิ่งนอนใจในส่วนตรงนี้ ผมเลยคิดว่าที่เขาบอกว่าเปิดแล้วไม่ได้ใช้ เป็นไปไม่ได้ ไม่จริง มันมีปัญหาการดำเนินงานนิดหน่อย แต่ว่าเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในส่วนตรงนี้
@เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพเท่านั้นที่ไม่ได้เปิดใช้งาน
ใช่ ถูกต้อง ใน 148 แห่ง มี 5 แห่ง เรามีคณะกรรมการติดตามตลอด และมีการรายงานอยู่ตลอดว่ามียอดจำหน่ายอยู่เท่าไหร่ โดย พช. มีรายงานมาว่าช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-ธ.ค. 2559 ยอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรกอยู่ที่สาขา จ.ศรีสะเกษ มียอดจำหน่ายเฉลี่ยกว่า 1.6 แสนบาทต่อเดือน ที่สาขาสระบุรี ยอดเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 8.95 หมื่นบาท และสาขานครสวรรค์ มียอดขายเฉลี่ยกว่า 9.1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ในข้อเท็จจริงก็ขายดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะบางทีมันอยู่ที่ทำเล อยู่ที่อะไรหลาย ๆ อย่าง แต่หลังสุด ผมได้คุยกับทีมบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ในส่วนที่เรากำลังจะจับมือกันในการที่จะหาสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม ก็เพื่อเป็นการที่จะช่วยให้พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่มีรายได้เพิ่มเติมขึ้นมา เราก็ต้องเรียนยืนยันว่า 148 แห่ง เปิดไปได้แล้ว 143 แห่ง อีก 5 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อได้เปิดต่อไป
@ตู้ประชารัฐฯ 5 แห่งในกรุงเทพจะถูกย้ายไปที่ใด
จะย้ายไปที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร ตอนนี้ พช.เขาให้พื้นที่มาแล้ว คือต้องดูหลายหน่วยงานพร้อมกัน ไม่ใช่เราคนเดียว นึกออกไหม แล้วทีนี้พอลงไปในรายละเอียดของ ปตท. เอง ที่ผ่านมาเรานึกว่า ปตท.จะเลือกเอาเลย แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ บางร้านไม่ใช่ร้านของเขา เป็นของดีลเลอร์เขาก็ให้เราไม่ได้ ทีนี้เราก็ต้องดู เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องส่งพื้นที่มา เราก็ต้องมาเลือก เลือกเสร็จ เราไม่มีปัญหาในการจะย้ายตู้ไปให้เขา แต่ ปตท.ต้องเอามาให้ที่ พช.บอกว่าโอเค เราถึงจะเอาตู้ไปส่งได้ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเลยนะ ตามอยู่ทุกวันว่าเมื่อไหร่จะได้ อย่างที่บอก 148 แห่ง เปิดไปแล้ว 143 แห่ง อีก 5 แห่งกำลังจะต้องย้ายไปที่อื่น เพราะว่าติดในเรื่องของการซัพพลายของเข้าไปเท่านั้นเอง
@มีการร้องเรียนว่าการจัดซื้อถูกแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค เพื่อให้งบประมาณดูน้อยลง
ทำไมต้องแบ่งเป็น 5 ภาค ก็อย่างที่บอก ขนาดวิธีจัดจ้างยังต้องใช้วิธีพิเศษเลย เขาบังคับมาก็ต้องรีบทำ คราวนี้ถ้าเกิดทำทีละอัน ๆ มันจะเสร็จทันตามที่เขาสั่งมาเหรอ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดเป็นงบฯ ขนาดเล็ก ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2558 แล้วเราไม่ได้ประกันแบ่งเลย เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าจะฟิตงบประมาณเพื่อให้ดูน้อยลง อันนั้นไม่ต้องใช้วิธีพิเศษ แต่เขาบอกให้ใช้วิธีพิเศษ
เราของบประมาณนี้ สำนักงบฯ เขาให้ต่อ 1 หน่วยนะ 1 หน่วยก็คือแห่งละกว่า 9.9 แสนบาท เพราะฉะนั้น เราสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ 148 สัญญา แต่ว่าด้วยระยะเวลาแล้วไม่ทัน ก็เลยมารวมแล้วก็แบ่งเป็นภูมิภาคตามเซ็คชั่นของ ททท. เรามี 5 ภูมิภาค เราก็เลยจัดเป็นภูมิภาคตามโครงสร้างของ ททท. เพราะฉะนั้น จริง ๆไม่ใช่แบ่งซื้อแบ่งจ้าง การแบ่งซื้อแบ่งจ้างคือการเอา 148 มาแบ่งเป็นย่อย ๆ แต่เราสามารถทำได้หนึ่ง เอามารวมซื้อรวมจ้าง ซึ่งทำให้อำนาจอนุมัติสูงกว่าเดิมอีก คือจะมีบางสัญญาที่อำนาจอนุมัติไปอยู่ที่ประธานบอร์ด
“ อำนาจผู้ว่าฯ เซ็นได้ 25 ล้านบาท แต่บางแห่ง 28 ล้าน 36 ล้าน 33 ล้านบาท ซึ่งก็ต้องไปที่ประธานบอร์ด อำนาจไม่ได้อยู่ที่ผม เพราะฉะนั้นเราไม่ได้แบ่งซื้อแบ่งจ้างแน่นอน เรารวมซื้อรวมจ้างด้วยซ้ำไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการที่ดำเนินการตามโครงการตามวัตถุประสงค์ของเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้เร่งดำเนินการ แต่ขณะเดียวกันการดำเนินงานของ ททท. ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดราคากลาง การสอบราคา เป็นต้น รวมทั้งหาวิธีการที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดงบประมาณที่สุด ก็อย่างที่บอกพอกำหนดราคากลางออกมาประหยัดลงไปอีก”
@บริษัทที่เข้ามาเป็นผู้รับจ้างมีกี่แห่ง และเหตุใดถึงเลือกบริษัทนี้
มี 5 บริษัท ปตท. เขาแนะนำ คือการก่อสร้างเราคิดว่ามันง่ายนะ จริง ๆ เขาต้องไปประกอบจากที่อื่น ห้ามไปก่อสร้างในพื้นที่ปั๊ม ห้ามทำเลยนะ และถ้าเกิดเขาต้องการคอนแทคเตอร์ที่มีความชำนาญ รู้จักการทำงานอย่างดี เหมือนเราปลูกบ้าน เราปลูกที่ดินเราเอง แต่นี่อยู่ในปั๊ม มันสร้างในปั๊มไม่ได้ ต้องทำจากที่อื่น แล้วก็ยกมาวาง อย่างที่บอก เรื่องวิธีพิเศษเขาก็ต้องมีการคุยกัน เพราะไม่ใช่แค่เราหน่วยงานเดียว ถามว่าทำไม ปตท. เพราะว่า ปตท. เขาจะแนะนำบริษัทที่เคยทำในปั๊มเขา ซึ่งเขาจะรู้หลักการว่าจะต้องทำอย่างไร ข้อห้ามกำหนดอย่างไร จะต้องใช้คนงานแบบไหน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการพิจารณาของเรา แต่ส่วนใหญ่การจะเป็นบริษัทไหน นั้น ก็มีคณะกรรมการพิจารณาอะไรอีกหลายอย่าง
@หากหลังจากนี้มีหน่วยงานตรวจสอบเจ้ามาตรวจอีก ททท. ยินดีหรือไม่
เราเป็นหน่วยงานที่พร้อมจะให้การตรวจสอบอยู่แล้ว เพราะว่าทุกอย่างเราดำเนินการตามระเบียบฯ อย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ ว่าถ้าเราแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ยอดมันก็ไม่จริง หรือบางอย่างพอเราชี้แจง สตง. ไปแล้วก็ไม่ได้มีอะไรกลับมา บอกว่าบางแห่งไม่เปิดดำเนินการ ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากเปิดดำเนินการ แต่บางทีมันมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ผู้ร้องเองอาจจะไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ จริง ๆ ที่ผ่านมาก็มีคนถามอยู่เรื่อย เราก็ตอบไป แต่ตอนนี้ผมคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า ผมไม่อยากมองว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลใด สมัยไหน แต่พอทำไปแล้ว ลองนึกดูสิ ว่ารายได้ที่เกิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ชาวบ้านมีรายได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาให้เขา ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนคือสิ่ง ททท. คิดซะมากกว่า เราเห็นหลายโครงการที่เกิดขึ้นมาในบางยุคบางสมัยถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเหลียวแล ผมถึงบอกว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ผลประโยชน์ควรจะตกกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เราเองก็เข้าไปแก้ปัญหา บางอย่างก็ขายดีบ้างไม่ดีบ้าง ขายไม่ดีก็ต้องดู ถ้าขายไม่ได้ก็ไปเปลี่ยนที่
@เฉลี่ยต่อปีทั้ง 143 แห่งมียอดจำหน่ายเท่าใดต่อสาขา
ประมาณ 3-5 หมื่นบาท คือทาง สสว.เขาได้งบฯ จากรัฐบาลมาดูแลด้านการบริหารจัดการเป็นเวลา 3 ปี นั่นหมายความว่ารัฐบาล โดย สสว.เห็นแล้วว่าการไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ไม่มีที่ไหนขายดีหรอก แต่ทำอย่างไรให้เขายืนได้อย่างน้อย 3 ปี จากนั้นก็ปล่อยให้เอกชนหรือให้ในพื้นที่เขาดำเนินการต่อไป แต่ในช่วงต้น เราก็ประเมินว่าถ้ารายได้ตู้หนึ่งเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือนก็น่าจะโอเค
@หมายถึงหมดสัญญา 3 ปี ต่อไปจะให้เอกชนเข้ามาดูแล
อันนี้ก็ไม่รู้ ต้องแล้วแต่ทาง สสว.แล้ว เพราะจริง ๆ หน้าที่เราหมดไปแล้ว คงต้องประเมินผลก่อนในอนาคต แต่จริง ๆ โครงการนี้ ททท.ก็ไม่ได้เงินนะ เพราะเราก็ให้ประชาชนอยู่แล้ว เป็นประชารัฐ ซึ่งทางโอท็อปทางท้องถิ่นที่ได้ประโยชน์ คือมีช่องทางให้เขาจัดจำหน่ายสินค้า รายได้ก็เข้าไปที่ชุมชน คือที่บอกเกี่ยวกับประชารัฐรักสามัคคีฯ เพาะว่าเดิมเราคุยกันแค่ พช. แต่ประชารัฐรักสามัคคีฯ เขาจะมีสินค้าของเขาเข้ามาช่วย ก็อาจจะทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น หลังจากทำกิจกรรมร่วมกันก็เป็นเรืองที่ดี เพราะว่าประชารัฐรักสามัคคีฯ เขาไม่มีหน้าร้าน เรามีหน้าร้าน แต่ว่ารับจาก พช.อย่างเดียว
“ผมเพิ่งกลับจากเมืองจันทน์ เขาบอกว่าเขาขายดี ยิ่งเสาร์อาทิตย์ยิ่งขายดี คืออยู่ที่พื้นที่ ซึ่งเราให้ ผอ.สำนักงาน ททท.ในแต่ละพื้นที่คอยไปดูว่าเป็นอย่างไร ให้คำแนะนำ ไปดูว่ามีคนมาไหม สินค้าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”
@ยืนยันได้หรือไม่ ว่าโครงการดังกล่าวไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น
มันจะไปทุจริตตรงไหน จะทุจริตตรงขั้นตอนไหน สตง. เขาก็เขามาตรวจสอบแล้ว ก็อาจจะเป็นประเด็นที่สักครู่พูดถึง เราก็รายงานไปบอกว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ และทางบอร์ดเอง ทางคณะกรรมการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการสอบถามอยู่เรื่อย ๆ คุณฟังดูแล้ว มีตรงไหนที่ดูทุจริตรึเปล่า เพราะจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว
อ่านประกอบ : ร้อง ททท.จัดซื้อ'ตู้ประชารัฐสุขใจ'148แห่ง-วิธีพิเศษ122ล. ผู้ว่าฯยันทำตามมติ ครม.