ยกระดับแท็กซี่ปลอดภัย สจล.โชว์แอพ TAXI OK เผยกรมขนส่งฯเตรียมบังคับใช้ทุกคัน
สจล. เปิดตัวแอพพลิเเคชั่น TAXI OK พร้อมเครื่องมือพื้นฐานชุดใหม่ เผย กรมขนส่งทางบก เตรียมประกาศบังคับใช้ทุกคัน ยกระดับความปลอดภัยมากขึ้นด้วยระบบติดตามและปุ่มฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ สำนักหอสมุดกลาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดเสวนา "มิติใหม่ TAXI ไทย สะดวก - ปลอดภัย กว่าที่เคย"
รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์สจล. กล่าวว่า ขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ชื่อว่า “TAXI OK” เพื่อยกระดับการให้บริการแท็กซี่ให้แก่กรมการขนส่งทางบก โดยเพิ่มการติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก หรือ จีพีเอส เพื่อควบคุมกำกับความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ และเพื่อบริหารจัดการระบบเดินรถให้อันเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีขึ้น ซึ่งในภาพรวมแบ่งออกเป็น 7 ด้านที่สำคัญ คือ 1.ระบบจัดการภาพนิ่ง 2.ระบบแสดงตำแหน่งรถแท็กซี่ 3.ระบบแสดงความต้องการใช้แท็กซี่ 4.ระบบร้องเรียนและแจ้งเหตุฉุกเฉิน 5.ระบบตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ 6.ระบบจัดการและประเมินศูนย์แท็กซี่เอกชน และ 7.ระบบจัดการและประเมินพนักงานขับรถ
รศ.ดร. เอกชัย กล่าวถึงหลักการทำงานจะเชื่อมโยงข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนของผู้โดยสาร ไปยังรถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking และแอพพลิเคชั่น TAXI OK ซึ่งสามารถเรียกรถแท็กซี่ได้ทุกสหกรณ์ จากนั้นข้อมูลจากรถแท็กซี่จะถูกส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการย่อยของแต่ละสหกรณ์ที่สังกัดอยู่ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบกอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการเชื่อมต่อของระบบผ่านเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินรถ จะช่วยให้สามารถส่งค่าตำแหน่งพิกัดการเดินรถ ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ การแสดงตนของผู้ขับขี่ รายงานค่ามิเตอร์ และข้อมูลการจองรถ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับปุ่มเปิดปิดสถานะไฟว่าง กล้องบันทึกภาพ ซึ่งจะมีการบันทึกภาพทุก 1 นาที และปุ่มฉุกเฉินรายงานเหตุฉุกเฉินแบบเรียลไทม์
“ปุ่มกดฉุกเฉิน หรือ Emergency Push Button ซึ่งใช้ได้ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ในการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายเพื่อการเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แท็กซี่ไทยไม่เคยนำมาใช้ แต่เป็นรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ควบคุมและได้ผลลัพท์ที่ดี” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว และว่า การทำงานจะเป็นการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G ไปยังศูนย์ควบคุม ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้คาดว่า กรมการขนส่งทางบก กำลังทบทวนการออกประกาศ ให้แท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้งในเร็วๆ นี้ ส่วนแท็กซี่เก่าทั้งที่ไม่เคยติดตั้งหรือติดตั้งระบบคล้ายกันนี้ แต่ไม่เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจะอนุโลมให้เข้ามาติดตั้งภายใน 2-3 ปี อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ ซึ่งกฎกระทรวงในส่วนของการจัดตั้งศูนย์อยู่ในช่วงการพิจาณาขั้นกฤษฎีกา เมื่อออกมาก็จะมีเวลาในการเตรียมการใช้กฎหมายอีก 120 วัน
ด้านดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ระบบแท็กซี่ในปัจจุบันมีช่องโหว่ซึ่งเกิดจากการปล่อยเช่าเดินรถของอู่ต่างๆ ที่สังกัดสหกรณ์ ซึ่งอู่ส่วนมากไม่ได้สนใจว่า คนที่มาเช่าขับนั้นมีใบขับขี่รถสาธารณะถูกต้องหรือไม่ หรือมีประวัติอาชญกรรมอย่างไรบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงระบบการขึ้นทะเบียนคนขับแท็กซี่นั้นมีอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถคัดกรองหรือควบคุมได้อย่างเป็นรูปธรรมจากปัญหาข้างต้นแนวทางที่มีการเสนอเพื่อยกประสิทธิภาพ การตรวจคัดกรองระบบขึ้นทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะมาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งระบบที่พัฒนาใหม่ในขณะนี้ก็การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ยังต้องทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎระเบียบและกฎหมายอย่างจริงจัง