กษ.ยึดศูนย์ข้าวชุมชนแก้เมล็ดพันธุ์ขาดแคลน เล็งผลิตเพิ่มข้าวนึ่งโกยเงินนอก
กระทรวงเกษตรฯใช้ศูนย์ข้าวชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ขาดแคลน ตั้งเป้าภายใน5ปี6,800 แห่งทั่วประเทศ เล็งช่องทางประชาคมอาเซียน นำเข้าข้าวเปลือกเพื่อนบ้าน เพิ่มปริมาณการผลิตข้าวนึ่งส่งออกตีตลาดโลก
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยว่า การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวยังเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาไทยแต่ละปีชาวนามีความต้องการเมล็ดพันธุ์ประมาณ 600,000 ตัน แต่ภาครัฐ สหกรณ์ และเอกชน สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ 300,000 ตัน กระทรวงเกษตรฯจึงใช้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี รวมทั้งเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากข้าว อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ศึกษาดูงานด้านข้าวของชุมชนสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การช่วยเหลือกันระหว่างศูนย์ข้าวชุมชนใกล้เคียงในจังหวัดหรือภูมิภาค แต่ละปีจะมีการประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลการดำเนินงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศ
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ข้าวปี 2555 -2559 เน้นงานด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามกระบวนการของศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 2,015 ศูนย์ ในปีนี้มีแผนจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 128 ศูนย์ โดยมีเป้าหมายให้ครบ 6,800 ศูนย์ในปี 2560 ซึ่งในจำนวนนี้จะให้ 700 ศูนย์เป็นศูนย์หลักที่มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน
“ศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การผลิตข้าวของประเทศมีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกโดยไม่เสียเปรียบต่อประเทศคู่แข่ง ช่วยลดผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือAFTA ในอนาคต” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
ขณะที่ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยมูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งว่า ไทยมีการส่งออกข้าวสารประมาณ 8-10 ล้านตันต่อปี เป็นสัดส่วนของข้าวนึ่งในปริมาณ 0.7–1 ล้านตันต่อปี โดยมีลูกค้ากลุ่มหลักในประเทศแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านบาทต่อปี ข้าวที่นิยมมาทำข้าวนึ่งเป็นข้าวที่มีลักษณะเมล็ดแข็ง ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองมีมากในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีกระบวนการผลิตคือนำข้าวเปลือกแช่น้ำ อบด้วยความร้อน ต้มในอุณหภูมิ 100 องศา ก่อนจะนำอบอีกครั้งให้เหลือความชื้น 14–16% โดยไม่ทำให้ข้าวแตกร้าว ปล่อยให้แห้งเพื่อไม่เกิดเชื้อรา จากนั้นนำมากะเทาะเปลือกเข้าโรงสี แม้ข้าวนึ่งจะมีลักษณะแข็งกว่าข้าวสารทั่วไปแต่คุณค่าทางอาหารโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่มากกว่าข้าวที่ผ่านขบวนการสีข้าวตามปกติ จึงทำให้ได้รับความนิยมจากตลาดค่อนข้างสูง
“ปัจจุบันกระบวนการผลิตข้าวนึ่งทำเป็นระบบอุตสาหกรรม สามารถกำหนดคุณภาพได้ตามที่ตลาดต้องการ ในอีก 3 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน นอกจากผลผลิตในประเทศแล้ว ยังมีช่องทางนำเข้าข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ พม่า กัมพูชา และลาวได้มากขึ้น อีกทั้งความได้เปรียบเรื่องช่องทางการขนส่งและความพร้อมด้านการผลิตจะทำให้ไทยมีโอกาสผลิตข้าวนึ่งส่งออกเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 5 แสนตันต่อปี” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว