ไขที่มา ม.มหาสารคามแพ้คดี ควักชำระหนี้กว่า 241 ล้านพร้อมดบ. ใครบ้างรับผิดชอบ
มมส.ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา รายงานฐานะทางการเงิน เพื่อให้ สกอ.นำเรื่องเสนอของบกลางของนายกรัฐมนตรีในการที่จะนำมาชำระหนี้ส่วนนี้ด้วย ส่วนข้อมูลฐานะทางการเงินที่รายงานไปนั้น มมส.ได้รายงานว่า มหาวิทยาลัยไม่มีสถานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ จึงขอให้สกอ.เสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอพิจารณาใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี และมีการเจรจาเพื่อขอหยุดการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้่ยด้วย
จากกรณีมีการเผยแพร่หนังสือกระทรวงการคลัง เรื่องแจ้งผลการพิจารณาความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.ลงนามโดยนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 กรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมรับผิดชำระเงินกว่า 241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในค่างวดงานก่อสร้างระบบสาธารณูปการ 1 รายการ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.13/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 อาคารสำนักงานอธิการบดี ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.14/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.15/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 และอาคารพลศึกษาพร้อมครุภัณฑ์และอุปกรณ์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.16/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย
ประเด็นนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และมหาวิทยาลัยมหาสารคามพิจารณาแล้วเห็นว่า รองศาสตราจารย์ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สังคม ภูมิพันธุ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสิทธิ นิ่มจินดา จงใจละเมิดต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆ ไม่ได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใดนั้น
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ในฐานะอดีตอธิการบดี มมส.ช่วงปี 2540 ล่าสุดได้เปิดใจกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงผลการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด และการถูก มมส.เรียกชดใช้คดีละเมิด 150 ล้านบาทดังกล่าว (อ่านประกอบ:เปิดใจ 'ภาวิช ทองโรจน์' โต้ถูก ม.มหาสารคามเรียกชดใช้คดีละเมิด150ล.)
ความเป็นมาเป็นไปคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา นำผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีทั้งหมด 11 หน้า มาสรุป เพื่อให้เห็นการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เป็นมูลเหตุให้มมส.ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 รวมถึงประเด็นการพิจารณาการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฎชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช และผศ.ดร.สังคม ที่ปัจจุบันเข้ามาเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนม สถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่กำลังเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในอยู่ขณะนี้
ในหนังสือกระทรวงการคลัง ที่แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่งถึงอธิการบดีมมส. ระบุ ดังนี้
ตามสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2539 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ทำสัญญาว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กำจรกิจ ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 1 รายการ
- ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.13/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 วงเงินค่าจ้างกว่า 28 ล้านบาท กำหนดจ่ายค่างวด 6 งวด อาคารสำนักงานอธิการบดี
- ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.14/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 วงเงินค่าจ้างกว่า 78 ล้านบาท กำหนดจ่ายค่างวด 15 งวด อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์
- ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.15/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 วงเงินค่าจ้างกว่า 162 ล้านบาท กำหนดจ่ายค่างวดรวม 16 งวด
และอาคารพลศึกษาพร้อมครุภัณฑ์และอุปกรณ์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ จ.16/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 วงเงินค่าจ้างกว่า 110 ล้านบาท กำหนดจ่ายค่างวดรวม 10 งวด
รวมเป็นเงินกว่า 378 ล้านบาท
ต่อมา วันที่ 30 ตุลาคม 2539 หจก.กำจรกิจได้ทำสัญญาโอนสิทธิการรับเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ โดย หจก.กำจรกิจ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันทำหนังสือแจ้งให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามทราบ และขอให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามชำระเงินตามสัญญาก่อสร้างดังกล่าว โดยชำระเป็นเช็คสั่งจ่ายเฉพาะในนามของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน)
ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชำระเงินตามสัญญาก่อสร้างระบบสาธารณูปการ งวดที่ 1-3 อาคารสำนักงานอธิการบดี งวดที่ 1-5 อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ งวดที่ 1-3 และอาคารพลศึกษาพร้อมครุภัณฑ์และอุปกรณ์ งวดที่ 1-2 ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน)
กระทั่ง 7 สิงหาคม 2540 หจก.กำจรกิจ ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคามแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) หยุดทำธุรกรรมชั่วคราว จึงไม่สามารถใช้สิทธิรับเงินค่าก่อสร้างได้ จึงขออนุมัติเป็นผู้รับเงินค่าก่อสร้างดังกล่าวแทน โดยให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกเช็คในนาม "ห้างหุ้นส่วนจำกัด กำจรกิจ" จนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามจ่ายเงินค่าก่อสร้างระบบสาธารณูปการ งวดที่ 4-5 อาคารเรียนวิทยาศาสตร์ งวดที่ 5-6 และอาคารพลศึกษาพร้อมครุภัณฑ์และอุปกรณ์งวดที่ 3-5 ให้แก่ หจก.กำจรกิจ
ถัดมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2541 ถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แจ้งขอเปลี่ยนแปลงการมอบอำนาจผู้รับเงินค่าก่อสร้าง ตามสัญญาทั้ง 4 สัญญา และมีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2541 ถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) หยุดทำธุรกรรมชั่วคราว และขอให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามจ่ายเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างจาก หจก.กำจรกิจ ตามสัญญาโอนเงินฉบับเดิม
ใจความที่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ต้องการสื่อสาร คือ แม้แบงก์ชาติห้ามทำธุรกรรมชั่วคราว ก็ไม่ได้หมายความว่า ห้ามรับเงิน หรือรับชำระหนี้แต่อย่างใด
จากนั้น หจก.กำจรกิจ ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มีนาคม 2541 จำนวน 4 ฉบับ ถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอเปลี่ยนแปลงเรื่องการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างส่วนที่เหลือตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ
เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหนังสือลงวันที่ 19 มีนาคม 2541 แจ้งหจก.กำจรกิจ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ขอให้แสดงเจตนาให้ตรงกันในการขอรับเงินค่าก่อสร้างดังกล่าว
และมีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2541 ถึงหจก.กำจรกิจ ขอให้แจ้งเจตนาในการขอรับชำระเงินค่าก่อสร้าง ซึ่งวันดังกล่าว หจก.กำจรกิจ ได้มีหนังสือยืนยันการรับเงินค่าก่อสร้าง โดยยินดีเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับจำนวนเงินที่รับทุกประการ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือยืนยันการขอรับเงินค่าก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียว
วันที่ 27 มีนาคม 2541 นายชำนาญ มีนิยม นิติกรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รายงานความเห็นว่า การโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าก่อสร้าง ระหว่างหจก.กำจรกิจ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) มีผลบังคับตามกฎหมายแล้ว หจก.กำจรกิจ จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น เห็นควรให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ่ายเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิการรับเงิน ฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539 หากไม่แน่ใจให้วางเงินที่สำนักงานวางทรัพย์
ต่อมาหจก.กำจรกิจ มีหนังสือลงวันที่ 25 มิถุนายน 2541 ถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคามแจ้งการยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงิน ตามสัญญาโอนสิทธิการรับเงิน ฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2539 และขอให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามจ่ายเงินให้แก่หจก.กำจรกิจ ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้าง สัญญาจ้างเลขที่ จ.13/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 งวดที่ 6 , สัญญาจ้างเลขที่ จ.14/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 งวดที่ 6 - 15 , สัญญาจ้างเลขที่ จ.15/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 งวด 10- 16 และสัญญาจ้างเลขที่ จ.16/2539 ลงวันที่ 26 กันยายน 2539 งวด 6- 10 ให้แก่ หจก.กำจรกิจ
ทั้งหมดนี้ ได้กลายเป็นเหตุให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ฟ้องมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นจำเลยที่ 4 ต่อศาลแพ่ง
การชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้อง คดีนี้ถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยให้มหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมรับผิดชำระเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ทั้งนี้ ตามสำนวนสอบสวนข้อเท็จจริง ได้แบ่งประเด็นการพิจารณา ออกเป็น 1.ประเด็นความเสียหาย และ2. ประเด็นการพิจารณาการกระทำความผิดและความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แยกพิจารณา 2.1.ความผิดของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอน “ก่อน” ที่หจก.กำจรกิจ แจ้งการยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้อง และ2.2. ความผิดของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอน “หลัง” จาก หจก.กำจรกิจ แจ้งการยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้อง
และนี่จึงเป็นที่มาของหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค.0410.3 /ล.1769 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 9 คนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ มมส. โดย 1 ใน 9 รายชื่อ มี ดร.ภาวิช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ มมส.เป็นเงินกว่า 150 ล้านบาท ผศ.ดร.สังคม ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ มมส. เป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท ผศ.ประสิทธิ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ มมส. เป็นเงินกว่า 1.9 ล้านบาท
มมส.ไม่มีสถานะชำระหนี้หลักร้อยล้านได้
สำหรับประเด็นความเสียหายของ มมส.ที่ต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามคำสั่งศาลฎีกานั้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ย สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน มมส.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาประนอมหนี้แล้ว โดยในวาระการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มมส.ครั้งที่ 16/2559 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 มีเรื่องการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการและแหล่งเงินที่จะนำมาชำระหนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจากกรณีศาลฎีกาพิพากษาให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชำระเงินกว่า 241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา มมส.มีการไปเจรจาเบื้องต้นและหารือกับทางกองทุนฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศแล้ว และในส่วนเงินต้นคาดว่า จะสามารถเจรจาลดลงได้ เช่น ขอลดเงินต้นเหลือครึ่งหนึ่ง และสามารถจ่ายเป็นงวดๆ ได้ โดยจะต้องทำแผนการจ่ายเข้าไปเสนอและเพื่อที่กองทุนฟื้นฟู
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มมส.มีการทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) รายงานฐานะทางการเงิน เพื่อให้ สกอ.นำเรื่องเสนอของบกลางของนายกรัฐมนตรีในการที่จะนำมาชำระหนี้ส่วนนี้ด้วย ส่วนข้อมูลฐานะทางการเงินที่รายงานไปนั้น มมส.ได้รายงานว่า มหาวิทยาลัยไม่มีสถานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ จึงขอให้สกอ.เสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอพิจารณาใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี และมีการเจรจาเพื่อขอหยุดการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้่ยด้วย
ประเด็น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีศาลฎีกาพิพากษา ปี 2555 ให้ มมส.ชำระเงินกว่า 241 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จะเห็นว่า ลากยาวมาจนถึงวันนี้ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ผลการสอบสวนความผิดทางละเมิด ก็สรุปออกมา ใครผู้ใดเกี่ยวข้องบ้าง ต้องชดใช้เท่าใด
ที่เหลือคงต้องติดตามกระบวนการฟ้องแพ่งให้ชดใช้ต่อไป ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับความเสียหาย ยืนยันว่า การกระทำที่ทำไปในช่วงนั้นได้ใคร่ครวญบนสถานการณ์อันไม่ปกติแล้ว...